เนื้อจระเข้แปรรูปเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้
การเริ่มต้นธุรกิจว่ายากแล้ว แต่สิ่งที่ยากไปกว่านั้นคือการรักษาธุรกิจให้สามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง และมีการเติบโตอย่างยั่งยืน นี่คือโจทย์สำคัญที่ทำให้เจ้าของธุรกิจต้องไม่หยุดคิดที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์
รวมถึงบริการ และการต่อยอดธุรกิจเพื่อขยายฐานลูกค้าให้แผ่ขยายออกไปเพิ่มมากขึ้น
จากความเห็นลูกค้าสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่
วัชรินทร์ เรืองฤทธิ์กูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท วัชรินทร์ อินเตอร์ฟู๊ด จำกัด คือผู้ประกอบการหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงที่ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว จนสามารถผสมผสานความต้องการของลูกค้าที่มากขึ้นให้เข้ากับภูมิปัญญาชาวบ้านในการทำธุรกิจได้อย่างลงตัว และได้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สร้างรายได้ และเพิ่มยอดขายให้กับบริษัทได้อย่างถล่มทลาย
ผลิตภัณฑ์เนื้อจระเข้ทุบคือผลิตภัณฑ์ใหม่ที่วัชรินทร์ภูมิใจนำเสนอต่อตลาด โดยมีที่มาที่ไปจากการที่ครอบครัวเปิดร้านจำหน่ายอาหารที่เกี่ยวกับการแปรรูปเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อทุบ หมูทุบ เนื้อไก่ทุบ เนื้อปลาทุบมามากกว่า 20 ปี เรียกว่าเป็นเจ้าดังของจังหวัดสิงห์บุรี จนเมื่อปี 2553 ได้มีโอกาสเข้าไปเปิดร้านจำหน่ายที่สนามบินดอนเมือง และได้มีลูกค้าชาวจีนสนใจเข้ามาสอบถามเป็นจำนวนมากถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากเนื้อจระเข้ จนทำให้จุดฉนวนความคิดในการนำเนื้อจระเข้มาแปรรูปบ้าง เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าเมื่อมีแนวคิดแล้วจะสามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์ได้เลยทันที เพราะการแปรรูปเนื้อจระเข้นั้นเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างหิน ด้วยความที่ไม่มีประสบการณ์ และไม่เคยนำเนื้อจระเข้มาทำเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายเลย ทำให้ต้องลองผิดลองถูกกันอยู่ 2 ปีกว่าจะประสบความสำเร็จจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ออกมาจำหน่ายได้ เนื่องจากเนื้อจระเข้มีคุณสมบัติที่แตกต่างจากเนื้อหมู เนื้อวัว โดยมีกลิ่นคาวที่ค่อนข้างมาก อีกทั้งเนื้อยังมีคามชื้นที่สูงและค่อนข้างนุ่ม ทำให้ยากต่อการแปรรูปแบบทุบ
เพราะฉะนั้น กระบวนการแปรรูปจึงต้องหันกลับมาใช้ภูมิปัญญาแบบดั้งเดิมของชาวบ้าน ด้วยการนำเนื้อจระเข้ไปตากแดดจัดนานประมาณ 3 วัน เพื่อดับกลิ่นคาวและไล่ความชื้น ขณะที่ขั้นตอนสำคัญอย่างกระบวนการทุบ ก็จะต้องใช้แรงงานคนจากคน โดยทุบด้วยค้อนแบบโบราณ เนื่องจากสามารถควบคุมน้ำหนักในการทุบได้ดีกว่าใช้เครื่องจักร แม้ว่าเครื่องจักรจะสะดวกและรวดเร็วกว่ามากก็ตาม
“ เราลองผิดลองถูกกันมาตั้งแต่ปี 2553 จนสามารถทำเนื้อจระเข้ทุบออกมาจำหน่ายได้ในปี 2555 โดยเริ่มจำหน่ายที่สนามบินดอนเมือง ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภค หลังจากนั้นจึงขยายไปสู่ห้างสรรพสินค้าอย่าง สยามพารากอน และเดอะมอลล์ เป็นต้น ”
คัดสรรเนื้อส่วนคุณภาพ
วัชรินทร์ บอกว่า ความโดดเด่นของผลิตภัณฑ์เนื้อจระเข้ทุบของบริษัทอยู่ที่การคัดสรรเลือกเนื้อเฉพาะส่วนหางเท่านั้น เนื่องจากเป็นเนื้อส่วนที่มีคุณภาพดีที่สุดของจระเข้ เพราะหากเราสังเกตพฤติกรรมของจระเข้จะพบว่าอวัยวะส่วนหางเป็นส่วนที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ทำให้เนื้อส่วนดังกล่าวนี้แน่นและมีรสชาติที่อร่อยกว่าส่วนอื่น เมื่อนำมาใช้กับวิธีการถนอมอาหารแบบภูมิปัญญาชาวบ้านในการแปรรูป ผลิตภัณฑ์เนื้อจระเข้ทุบของบริษัทจึงสามารถเก็บไว้รับประทานได้นานประมาณ 1-2 ปี โดยที่ไม่ต้องใส่สารกันเสีย
สำหรับผลิตภัณฑ์เนื้อจระเข้ของบริษัทในปัจจุบันที่วางจำหน่ายอยู่ ประกอบด้วย เนื้อจระเข้แปรรูปแบบอบแห้ง เพื่อนำไปตุ๋นเป็นอาหาร ส่วนแบบที่พร้อมรับประทานก็จะมีตั้งแต่ เนื้อจระเข้ทุบรสชาติดั้งเดิม, เนื้อจระเข้ผัดพริกสมุนไพร, เนื้อจระเข้ผัดกะเพรา, เนื้อจระเข้ผัดซอสพริกไทดำ และเนื้อจระเข้ผัดพริกเสฉวน โดยสรรพคุณที่สำคัญของเนื้อจระเข้ก็คือ ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน และสร้างความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย
ด้านกลยุทธ์ในการทำตลาดนั้น วัชรินทร์เลือกใช้กลยุทธ์พื้นฐาน แต่ก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดต่อการดำเนินธุรกิจนั่นก็คือ การรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ด้วยการใช้เนื้อจากส่วนหางโดยตลอด หากไม่มีเนื้อส่วนดังกล่าวก็จะไม่ผลิต นอกจากนี้ยังต้องรักษามาตรฐานของรสชาติให้คงที่ เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิม และขยายฐานลูกค้าใหม่ เพราะจากการสำรวจตลาดพบว่าลูกค้าที่มาซื้อจะเป็นลูกค้าประจำ ส่วนลูกค้าใหม่ก็จะมาจากการบอกต่อแบบปากต่อปาก เพราะฉะนั้นกลยุทธ์ดังกล่าวจึงมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยปัจจุบันฐานลูกค้าหลักของบริษัทคือชาวจีนถึง 95%
“ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ มีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากในการช่วยขยายธุรกิจให้กับบริษัท ด้วยการสนับสนุนเงินทุนเพื่อใช้หมุนเวียนในธุรกิจผ่านการให้สินเชื่อ เนื่องจากเนื้อจระเข้ที่เป็นวัตถุดิบหลักมีราคาค่อนข้างสูง ดังนั้น จึงต้องใช้เงินทุนเป็นจำนวนมาก ”
เล็งขยายต่างประเทศเพิ่มเติม
วัชรินทร์ กล่าวต่อไปอีกว่า นอกจากผลิตภัณฑ์เนื้อจระเข้ของบริษัทจะมีวางจำหน่ายที่ประเทศไทยแล้ว ยังมีส่วนที่ส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศด้วยที่เมืองหูโจว ประเทศจีนภายในสนามบิน ผ่านทางตัวแทนจำหน่าย ซึ่งสนใจผลิตภัณฑ์ของบริษัทตั้งแต่ตอนไปออกบูธแนะนำสินค้า อย่างไรก็ตาม ตลาดในประเทศจีนยังเป็นตลาดที่เปิดกว้าง เนื่องจากมีประชากรมากกว่า 2 พันล้านคน ขอเพียงให้ได้ลูกค้าแค่ 1% ก็ถือว่าเป็นการสร้างรายได้ให้กับบริษัทได้เป็นจำนวนมากแล้ว
ปัจจุบันบริษัทกำลังทำการสำรวจ และศึกษาตลาดว่าลูกค้าชื่นชอบรับประทานเนื้อจระเข้ทุบรสชาติใดมากที่สุด เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ไปสู่รูปแบบของสแนค เพื่อให้ง่ายต่อการรับประทาน โดยอาจจะมีลักษณะเช่นเดียวกับปลาเส้น พร้อมทั้งศึกษาแนวทางในการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายที่ประเทศอื่นนอกจากจีน ซึ่งขณะนี้มีประเทศไต้หวัน และฮ่องกงที่ติดต่อเข้ามา แต่เราต้องไตร่ตรองอย่างรอบครอบ เนื้อจากแต่ละประเทศก็จะมีข้อกฎหมายที่แตกต่างกัน โดยเนื้อจระเข้ถือว่าเป็นเนื้อสัตว์ป่าจึงอาจจะมีติดปัญหาทางด้านข้อกฎหมายได้
“ การทำตลาดต่างประเทศเราอาจจะเลือกใช้กลยุทธ์ในการหาพันธมิตรทางธุรกิจ เพราะจะมีความเชี่ยวชาญในการทำตลาดมากกว่า โดยเชื่อว่าจะช่วยส่งเสริมศักยภาพในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของบริษัทในประเทศนั้นๆ ได้ ”
วัชรินทร์ ยังฝากถึงผู้ประกอบการในประเทศไทยด้วยว่า ผู้บริโภคชาวจีนยังมีอีกมาก หากเราสามารถศึกษาหาความต้องการของตลาดให้ได้ว่าผู้บริโภคชาวจีนต้องการสินค้าประเภทใด เชื่อว่าจะเป็นช่องทางในการสร้างรายได้ให้อย่างมหาศาล.