TEA GALLERY GROUP (THAILAND) เอกลักษณ์ชาไทยสู่ระดับโลก
จุดกำเนิดของธุรกิจแต่ละธุรกิจต่างก็มีที่มาที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็มาจากความบังเอิญ หรือบางธุรกิจก็เกิดมาจากการต่อยอดธุรกิจเดิมจากบรรพบุรุษที่วางรากฐานเอาไว้ “ ที แกลเลอรี่ กรุ๊ป “
คือหนึ่งในธุรกิจที่เติบโตมาจากการประยุกต์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ ผสมผสานเข้ากับศาสตร์ความรู้ที่มีมาแต่เดิมได้อย่าลงตัว
จากรุ่นสู่รุ่น
สุวรี เกียรติการัณย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที แกลเลอรี่ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด Tea Gallery Group (Thailand) บอกถึงที่มาที่ไปของธุรกิจว่า ต้นตระกูลมีความเชี่ยวชาญทางด้านของการปลูกชา และทำชาตั้งแต่สมัยรุ่นคุณพ่อ และอา ซึ่งเป็นคนจีนจากมณฑลยูนนานที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยด้วยคาราวานม้า แต่เมื่อประเทศจีนเปลี่ยนการปกครองทำให้ไม่สามารถเดินทางกลับไปได้ จึงทำให้เกิดความคิดที่จะปลูกชาซึ่งเป็นของหายาก เพื่อนำมาชงดื่มกันเองภายในกลุ่ม แต่ด้วยความที่ผลผลิตมีมากเกินความต้องการ จึงส่งชาส่วนที่เหลือไปจำหน่ายที่ย่านเยาวราช
อย่างไรก็ตาม เมื่อจีนทำการเปิดประเทศทำให้ชาจากเมืองจีนถูกส่งเข้ามาขายในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก จนส่งผลให้ราคาชาตกต่ำลง อีกทั้งผู้ที่ชื่นชอบการดื่มชาก็เริ่มลดจำนวนลงตามยุคสมัย แต่ด้วยความที่ตนรู้สึกเสียดายอาชีพที่บรรพบุรุษร่วมกันสร้างกันขึ้น บวกกับประสบการณ์การทำงานจากบริษัทเอกชนที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมค้าขาย และได้สังเกตเห็นกลุ่มของลูกค้าที่ยังนิยมดื่มชาอยู่จะเป็นกลุ่มของผู้มีอายุมากหน่อย โดยที่ส่วนใหญ่จะมีโรคประจำตัวอย่างเช่น เบาหวาน หรือความดัน เป็นต้น ทำให้จุดประกายไอเดียของการทำชาเพื่อสุขภาพขึ้น โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปมาเป็นธุรกิจ Tea Gallery Group (Thailand) จนถึงปัจจุบัน
“ ด้วยความที่คุณตาเป็นผู้ที่มีความรู้ทางการแพทย์พื้นบ้าน จึงนำสิ่งที่ได้เห็นจากการสังเกตผู้บริโภคมาผสมผสานกันจนเกิดเป็นชาซองแบบชงเพื่อสุขภาพ ซึ่งช่วยทำให้เพิ่มมูลค่าของชารูปแบบเดิมจนสามารถขยายตลาดได้กว้างขวางมากขึ้น ”
แตกไลน์ผลิตภัณฑ์ขยายกลุ่มลูกค้า
หลังจากที่ชาผสมสมุนไพรช่วยลดโรคเบาหวานภายใต้แบรนด์ “ ONE STAR ” ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภค จึงได้ศึกษาและวิจัยตลาดเพื่อหาผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมในการขยายตลาดอย่างต่อเนื่อง จนนำไปสู่ผลิตภัณฑ์ในลำดับถัดมา โดยประกอบไปด้วย ชาลดไขมันภายใต้แบรนด์ “ Get idea ” ,ชาหมักแบรนด์ “ Madi Kombucha ” และชา 8 สีอัญมณี 8 อย่างแบรนด์ “ Gemstone Tea ”
อย่างไรก็ดี เมื่อผลิตภัณฑ์มีความหลากหลายกลยุทธ์ในการทำตลาดจึงมีความแตกต่างกันออกไปตามกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย โดยในส่วนของ ONE STAR จะดำเนินการด้วยการขายผ่านบริษัทชาในตลาด และมีการจำหน่ายออกสู่ต่างประเทศ ส่วน Get idea จะเลือกทำตลาดในกลุ่มของร้านขายยาเป็นหลัก เนื่องจากมีเภสัชกรที่สามารถอธิบายสรรพคุณของชาให้กับลูกค้าได้ เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการลดไขมัน ด้าน Madi Kombucha จะเป็นการทำตลาดผ่านห้างโมเดิรนเทรดชั้นนำ โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นผู้ที่รักสุขภาพ และผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากเป็นชาที่มีสรรพคุณในการล้างพิษในตับ ขณะที่ Gemstone Tea จะเน้นไปที่การขายผ่านช่องทางออนไลน์อย่าง Lasada เป็นต้น โดยเป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะแก่การซื้อเป็นของขวัญ หรือซื้อฝากจนเป็นที่มาของคำว่า “ คนซื้อไม่ได้กิน คนกินไม่ได้ซื้อ ”
“ ผลิตภัณฑ์ของเราค่อนข้างมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ดังนั้น จึงทำให้แนวทางในการทำตลาดของแต่ละผลิตภัณฑ์มีความแตกต่างกันออกไป โดยมีจุเด่นอยู่ที่คุณค่าทางอาหารจากชา ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยา และวัตถุดิบที่เลือกใช้ที่ได้มาจากธรรมชาติ ”
ในวิกฤติยังมีโอกาส
แน่นอนว่าธุรกิจใช่ว่าจะโรยไปด้วยกลีบกุหลาบ และมีการปูพรหมแห่งความสำเร็จรอไว้ให้เดินอยู่เสมอ เพราะกว่าที่จะกลายมาเป็น Tea Gallery Group (Thailand) ได้อย่างที่เห็นในปัจจุบัน ช่วงแรกเริ่มที่ทำธุรกิจได้ สุวรี บอกว่า เคยตัดสินใจผิดพลาดในเรื่องของการลงทุน เพราะเห็นว่าผลิตภัณฑ์ชิ้นหนึ่งกำลังไปได้ดี และน่าจะมีโอกาสที่สดใสรออยู่ในอนาคต จึงเลือกที่จะลงทุนเครื่องจักรใหม่ในการผลิตเพื่อหวังเพิ่มยอดขายให้กับผลิตภัณฑ์ดังกล่าว แต่ทุกอย่างกลับไม่ได้เป็นอย่างที่หวัง เพราะผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสามารถสร้างยอดขายอยู่ได้ไม่นานเท่านั้น การลงทุนเครื่องจักรใสครั้งนั้นจึงเหมือนสูญเปล่า และทำให้เข็ดขยาดในการลงทุน
ในความมืดยังมีแสงสว่างที่ปลายทางเมื่อธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ยื่นข้อเสนอในการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 4% หรือซอฟท์โลน เพื่อลงทุนเครื่องจักรใหม่ โดยเลือกเจ้าที่ผลิตในประเทศไทย เพื่อการบริหารจัดการต้นทุน ซึ่งถือว่าเป็นการตัดสินใจในทิศทางที่ถูกต้อง เพราะทำให้สามารถรับออเดอร์จากประเทศจีนได้มากขึ้นจากการขยายกำลังการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังช่วยในเรื่องของการพาไปออกงานแสดงสินค้าต่างๆทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เช่น เมืองเฉิงตู ประเทศจีน พร้อมชี้แนะให้นำผลิตภัณฑ์เข้าไปจำหน่ายผ่านเว็บไซด์อาลีบาบา (www.alibaba.com) ซึ่งจะทำให้ขยายฐานลูกค้าได้กว้างมากยิ่งขึ้น เสมือนเป็นการช่วยหาช่องทางการขายให้กับผลิตภัณฑ์
สร้างชื่อชาไทยให้กระฉ่อนโลก
ส่วนเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจในอนาคตนั้น สุวรี บอกอย่างชัดเจนว่า ต้องการให้ชาที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคทั่วโลก โดยต้องการให้ผู้บริโภคได้รับรู้ว่าใบชาที่นำมาผลิตเป็น Madi Kombucha ซึ่งกำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในต่างประเทศคือเมี่ยง อย่างไรก็ดี ในระยะแรกยังคงต้องระบุในสลากข้างบรรจุภัณฑ์ไปก่อนว่าเป็นชา เนื่องจากเป็นชื่อที่เรียกกันในสากล หลังจากนั้น จึงค่อยๆสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้บริโภคได้รู้ว่าเมี่ยงก็คือพันธุ์ชาชนิดหนึ่ง
นอกจากนี้ ยังเตรียมขยายตลาดออกสู่ต่างประเทศให้เพิ่มมากขึ้น โดยวิธีการหาพันธมิตรทางธุรกิจที่มีแนวทางเดียวกันร่วมทำตลาด โดยยึดรูปแบบการทำตลาดผ่านคู่ค้าในประเทศจีน ซึ่งช่วยให้ผลิตภัณฑ์กระจายไปสู่ผู้บริโภคได้อย่างกว้างขวาง อีกทั้งยังมีการทำตลาดที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเราได้ดำเนินการขอตราสัญลักษณ์รับรองเป็นอาหารฮาลาล สำหรับพี่น้องชาวมุสลิม ทำให้สามารถขยายฐานลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว โดยหลังจากนี้จะดำเนินการศึกษาตลาดในประเทศอื่น เพื่อนำผลิตภัณฑ์เข้าไปทำต่อไปในอนาคต