FOODSTORY ย่อการจัดการร้านอาหารไว้ในมือ
การแข่งขันทางธุรกิจนับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะธุรกิจที่เป็นร้านอาหารซึ่งปัจจุบันผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดในทุกมุมเมือง โดยทุกร้านมีโจทย์สำคัญเหมือนกันคือการสร้างฐานลูกค้า ซึ่งนำไปสู่ผลกำไรในอนาคต
จุดเริ่มเล็กๆของธุรกิจ
ชวิน ศุภวงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ลีฟวิ่ง โมบาย จำกัด คือหนึ่งในผู้ที่มองเห็นความสำคัญของการบริหารจัดการระบบภายในร้านอาหาร จนนำไปสู่การพัฒนาแอพพลิเคชั่นภายใต้ชื่อ “ FoodStory ” เพื่อประสิทธิภาพในการให้บริการ และลดต้นทุนให้กับร้านอาหาร ซึ่งผลลัพธ์สุดท้ายก็คือ ผลกำไรที่จะได้กลับมา
ชวิน บอกว่า จุดเริ่มต้นของ FoodStory มีที่มาที่ไปที่แสนเรียบง่าย จากการที่ผู้ร่วมก่อตั้งทุกคนเป็นผู้ที่ชื่นชอบการรับประทาน และมักจะมีคำถามติดปากทุกครั้งว่าจะไปรับประทานที่ไหน หรือทานอะไรกันดี จนจุดประกายไอเดียในการทำแอพฯ ในการรีวิวร้านอาหารขึ้น แต่ก็ยังไม่ถือว่าตอบโจทย์ของเราได้ เพราะสิ่งที่ FoodStory ต้องการคือ คุณภาพกับข้อมูลที่เป็นแบบทันท่วงที (Realtime) ซึ่งเป็นข้อมูลจริงที่ร้านอาหารใช้งานอยู่
จากแนวคิดที่ตกผลึกดังกล่าวนำมาสู่การพัฒนาแอพฯ บริหารจัดการร้านอาหาร เพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่เราต้องการ โดยทำการศึกษาหาข้อมูล ศึกษาตลาดถึงสิ่งที่ผู้ประกอบการร้านอาหารต้องการ ซึ่งคำตอบที่ได้จากการสังเคราะห์ข้อมูลก็คือผู้ประกอบการต้องการระบบที่ครบถ้วนสมบูรณ์ บริหารจัดการง่าย เราจึงนำข้อมูลที่ได้มาพัฒนาเพื่อให้ร้านอาหารสามารถนำไปใช้งานจริงได้อย่างเหมาะสม โดยเลือกใช้อุปกรณ์ประเภทแท็ปเลต และสมาร์ทโฟนเป็นสะพานเชื่อมต่อการให้บริการผ่านแอพฯทั้งในรูปแบบของ IOS และ Android ระหว่างผู้ประกอบการกับร้านของตน และลูกค้ากับร้านอาหาร
เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ
สำหรับระบบของ FoodStory นั้น จะเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้กับพนักงานเสริฟ์ จากเดิมที่จะต้องเดินไปเดินมาระหว่างห้องครัวกับหน้าร้าน เพื่อจดออเดอร์อาหารจากลูกค้าไปส่งให้กับพ่อครัวหรือแม่ครัว หรือจดออกเดอร์จากลูกค้าแล้วนำไปคีย์ข้อมูลเข้าสู่ระบบเพื่อส่งไปยังห้องครัว โดยระบบดังกล่าวอาจจะช่วยได้แค่ครึ่งหนึ่งในขั้นตอนของการส่งข้อมูลเข้าครัว แต่สิ่งที่ FoodStory ให้บริการเราใช้เป็นโมบายเราเน้นให้มีการบริหารจัดการที่โต๊ะ พอลูกค้าสั่งอาหารก็กดคีย์และส่งตรงเข้าครัวไปเลย
ทั้งนี้ ในส่วนของตัวผู้ประกอบการเองลูกค้าสามารถเลือกใช้แทบเล็ต ซึ่งเราจะเจาะจงให้เป็นไอแพดเพราะมีหน้าจอที่สามารถทำเมนูอิเล็กทรอนิกส์ (E-MENU) ได้อย่างสวยงาม และง่ายต่อการเปลี่ยนแปลง กี่เครื่องก็ได้ภายในร้านที่จะให้บริการแล้วแต่ความต้องการ รวมถึงความเหมาะสม และความสามารถในการลงทุน โดยที่ผู้ประกอบการไม่ต้องมาทำอะไรใหม่ทั้งหมด ซึ่งหากเป็นแต่ก่อนที่ใช้งานกันอยู่ในร้านอาหาร จะเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์พีซี โดยมีจอทัซสกรีนสำหรับคีย์คำสั่ง ซึ่งจะใช้งบประมาณในการลงทุนมากกว่า และที่สำคัญไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างสะดวกสบาย
นอกจากนี้ สิ่งที่แตกต่างของ FoodStory ก็คือระบบการให้บริการจัดเก็บข้อมูล (Cloud Service) โดยเป็นระบบที่สามารถทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงร้านของตนเอง และผู้บริโภคได้ตลอดเวลา ซึ่งเราจะดำเนินการเช่าพื้นที่ในการจัดเก็บข้อมูล หรือเซิร์ฟเวอร์ หลังจากนั้นก็จะนำมาแบ่งพื้นที่ให้กับผู้ประกอบการที่ใช้ระบบ FoodStory ได้ใช้
“ ส่วนหนึ่งที่เราเริ่มทำก็คือเริ่มบริหารจัดการ สิ่งที่ลูกค้าจะได้เห็นคือร้านอาหารนี้อยู่ที่ไหน เปิดให้บริการกี่โมง ลักษณะการจัดร้านเป็นอย่างไร สามารถจองโต๊ะได้ พร้อมกันนี้ระบบของเราจะมีการสร้าง E-MENU โดยที่ลูกค้าสามารถเข้ามาดูเมนูอาหารได้ว่าอะไรให้เลือกบ้าง นี่คือสิ่งที่ FoodStory บริหารจัดการให้ และต้องกาให้ลูกค้าได้เห็น โดยจุดประสงค์หลักของเราก็คือ หากใช้ระบบ FoodStory ก็เปรียบเสมือนการเตรียมความพร้อมในการเป็นร้านอาหารออนไลน์ ”
ลดต้นทุนเพิ่มยอดขาย
ชวิน ยังได้กล่าวต่อไปอีกว่า เป้าหมายหลักของเราคือทำให้ร้านอาหารมีผลกำไรมากขึ้น เพราะฉะนั้นหากร้านอาหารจะมีผลกำไรได้จะต้องขึ้นอยู่กับ 2 ส่วน ประกอบไปด้วย 1.การลดต้นทุน โดยส่วนหนึ่งของระบบคือการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในร้านอาหาร พนักงานไม่ต้องใช้กำลัง หรือเสียเวลาเดินไปเดินมาเหมือนแต่ก่อน แต่สามารถให้บริการลูกค้าได้มากขึ้น เนื่องจากเป็นการคีย์ออเดอร์อาหารส่งตรงเข้าครัวได้เลย นี่คือส่วนของการช่วยลดต้นทุนได้
และส่วนที่ 2.การเพิ่มยอดขาย คือระบบจะช่วยเพิ่มโอกาสทางการขายให้กับร้านอาหาร โดย FoodStory จะเปลี่ยนร้านอาหารธรรมดาให้กลายเป็นร้านอาหารออนไลน์ ซึ่งจะทำให้ลูกค้าได้รับรู้ หรือได้เห็นร้านทางช่องทางออนไลน์เพิ่มเติม ได้มีการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า ยกตัวอย่างเช่น หากร้านอาหารยังใช้รูปแบบเดิมในการจองโต๊ะผ่านทางโทรศัพท์ ต่อหนึ่งหน่วยเวลาเท่ากันโทรศัพท์ธรรมดาจะรับจองโต๊ะได้แค่เพียง 1 สาย แต่หากเป็นการให้บริการผ่านแอพฯผู้ประกอบการจะสามารถรับจองโต๊ะพร้อมกันได้มากกว่า 1 ราย โดยระบบจะตอบสนองในเสี้ยววินาทีเท่านั้น หรือจะตรวจสอบว่าโต๊ะไหนว่างบ้าง ระบบก็สามารถทำได้ นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ระบบ FoodStory ทำให้ร้านอาหารธรรมดากับร้านที่อาหารที่ใช้ระบบมีความแตกต่างกัน
ปัจจุบันลูกค้าหลักของ FoodStory จะเป็นร้านอาหารที่เจ้าของกิจการเป็นรุ่นใหม่ซึ่งเปิดกิจการมาได้ไม่นาน แต่เล็งเห็นว่าวิธีการบริหารจัดการดังกล่าวมีส่วนที่จะทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จได้ในธุรกิจ โดยลักษณะร้านอาหารกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ก็จะอยู่นอกห้างสรรพสินค้าเป็นหลัก แต่ก็เป็นกิจการที่เจริญเติบโตแล้ว มีตั้งแต่ 2-5 สาขา เพราะเมื่อมีหลายสาขาจะทำการบริหารจัดการแบบเดิมคงไม่ได้ โดยต้องเรียนว่าเวลาที่เปิดร้านอาหารเจ้าของร้านก็จะเปรียบเสมือนเป็นทาสของร้านอาหาร นั่นก็คือจะไม่กล้าทิ้งร้านไปไหน หรือจะปิดร้านก็ไม่กล้า ไม่กล้าให้พนักงามาคิดเงินแทน แต่เมื่อมีระบบของ FoodStory เข้าไปช่วย ก็จะทำให้เจ้าของร้านสามารถตรวจสอบมอนิเตอร์ดูได้ว่า สถานการณ์ของเงินเข้าและออกที่ร้านเป็นอย่างไร ทำให้สามารถที่จะขยายธุรกิจได้
ชวิน กล่าวปิดท้ายอย่างน่าสนใจว่า การนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจทุกวันนี้ค่อนข้างสำคัญมาก เพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยการเคลื่อนไหวของข้อมูลเป็นไปอย่างรวดเร็วกว่าในอดีตมาก แต่ก่อนส่งจดหมายครั้งหนึ่งต้องรอเป็นวันกว่าจะถึงปลายทาง แต่ปัจจุบันใช้การส่งจดหมายเป็นอิเล็กทรอนิกส์จะมีความเร็วเป็นวินาที เพราะฉะนั้น เมื่อข้อมูลการสื่อสารเร็วขึ้น หากเรายังไม่ปรับตัวกับกระแสความเปลี่ยนแปลงก็จะทำให้สูญเสียโอกาส หากยังพึ่งพาวิธีการการทำงานแบบเดิม รอให้ผู้บริโภคเดินเข้าร้านเหมือนเดิม โดยไม่มีการโปรโมต หรือบริหารจัดการก็จะแข่งขันในตลาดค่อนข้างลำบาก