SHIPPOP แก้ปัญหาโลจิสก์ติกเพื่อ E-COMMERCE
โจทย์ในการสร้างธุรกิจของแต่ละคนย่อมมีความแตกต่างกันตามแต่ความคิดสร้างสรรค์ และพื้นฐานที่แต่ละคนมี และประสบพบเจอ
กรณีของสุทธิเกียรติ จันทรชัยโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชิปป๊อบ จำกัด นั้น ได้รับโจทย์ยากจากภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้ก่อตั้ง บริษัท TARAD.com ในการสร้างธุรกิจ Startup ภายใต้ระบบขนส่ง หรือโลจิสก์ติก (Logistic)
แก้โจทย์ปัญหา E-Commerce
สุทธิเกียรติ บอกถึงจุดเริ่มต้นของธุรกิจว่า เดิมทีตนเป็นผู้ที่เขียนโปรแกรมให้กับเว็บไซด์ต่างๆ โดยผ่านการดูแลเว็บไซด์มามากกว่า 100 เว็บไซด์ จนกระทั่งเกิดความคิดที่จะทำเรื่องของระบบการชำระออนไลน์ (Payment) แต่ด้วยความที่ทราบว่ามีคู่แข่งที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องระดมความคิดอย่างหนักเพื่อเสาะหาว่าผู้ประกอบการที่ขายของผ่านออนไลน์ (E-Commerce) ยังประสบปัญหาในเรื่องใด และมีความต้องการลักษณะใดในการแก้ไขปัญหา
จนกระทั่งได้รับการทาบทามจากเจ้าของอาณาจักรการค้าขายบนโลกออนไลน์อย่าง ภาวุธ ที่ต้องการปลุกปั้นธุรกิจ Startup ขึ้นมา 1 โปรเจคภายใต้หัวข้อของระบบโลจิสก์ติก หลังจากนั้นจึงมาศึกษาหาข้อมูลทางด้านโลจิสก์ติกและปัญหาของกลุ่มผู้ปะกอบการ E-Commerce ตามโจทย์ที่ได้รับ เพื่อหาผลลัพธ์ที่จะเข้ามาเติมเต็มธุรกิจให้กับผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าว ทำให้พบว่าสิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญก็คือกระบวนการในการจัดส่งสินค้าตามออเดอร์ของลูกค้า ดังนั้น www.shippop.com จึงก่อตัวขึ้น
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะแก้ปัญหาของโจทย์ที่รับมาได้ แต่ก็ใช่ว่าจะตอบถูกทั้งหมดในครั้งเดียว เนื่องจากการขนส่งในประเทศไทยไม่ได้มีเพียงแค่รูปแบบเดียว โดยจะมีทั้งที่เป็นลักษณะของการขนส่งภายในวันเดียว (On Demand Service) และการขนส่งแบบวันถัดไป ซึ่งของที่ส่งอาจจะส่งถึงในวันพรุ่งนี้ หรืออีก 2 วัน (Nextday) โดยในช่วงเริ่มต้นตัดสินใจที่จะมุ่งเน้นไปที่การขนส่งภายในวันเดียว แต่ผลลัพธ์ที่ออกมากลับไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวัง เนื่องจากการขนส่งในรูปแบบดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายในการคิดค่าบริการค่อนข้างสูง ไม่เหมาะกับธุรกิจ E-Commerce อย่างที่ผู้ประกอบการต้องการ
เมื่อการแก้โจทย์เริ่มไปในทิศทางที่ไม่ถูกต้องนัก จึงทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงระบบไปสู่การขนส่งแบบวันถัดไป ซึ่งมีต้นทุนในการคิดค่าบริการที่ถูกลง โดยต้องถือว่าเป็นความโชคดีที่ไปรษณีย์ไทยและบริษัทขนส่งเอกชนที่ร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจให้โอกาสกับธุรกิจ Startup อย่าง shippop ทำให้ผู้ประกอบการ E-Commerce เริ่มหันมาให้ความสนใจและเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ปัจจุบันมีลูกค้ากว่า 500 ราย โดยมีจำนวนการจัดส่งพัสดุอยู่ที่ประมาณ 1,000-1,500 ชิ้นต่อวัน มีมูลค่าในการขนส่งอยู่ที่ประมาณ 50,000 บาทต่อวัน และมีอัตราการเติบโตของจำนวนผู้ใช้บริการเฉลี่ยประมาณ 70% ต่อเดือนตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการ
ชูระบบเพิ่มประสิทธิภาพให้ธุรกิจ
สุทธิเกียรติ กล่าวอีกว่า จากการศึกษาหาข้อมูลพบว่าปัญหาที่สำคัญของผู้ประกอบการ E-Commerce คือเรื่องของขั้นตอนในการบรรจุสินค้าลงกล่องเพื่อจัดส่ง รวมถึงการเขียนชื่อที่อยู่ในการส่งสินค้า และการส่งหมายเลขพัสดุ (Tracking) ที่จัดส่งให้กับลูกค้า โดยหากมีออเดอร์จำนวนไม่มากก็จะไม่ค่อยมีปัญหา แต่เมื่อใดก็ตามที่ออเดอร์มีจำนวน 50-100 เจ้าต่อวัน ผู้ประกอบการย่อมประสบปัญหา ทั้งเรื่องต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น และการหาขนส่งที่ดีที่สุดในการส่งสินค้าให้กับลูกค้า ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวนี้ผู้ประกอบการจะต้องเสียเวลาในการเปรียบเทียบราคาของค่าบริการขนส่งแต่ละเจ้า เพื่อให้ได้ราคาที่ถูกที่สุด
นอกจากนี้ เรื่องของประสิทธิภาพและคุณภาพในการขนส่งสินค้าก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ขาดไม่ได้ที่ผู้ประกอบการ E-Commerce จะต้องคำนึงถึง โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการ E-Commerce อยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้ปริมาณความต้องการช่องทางในการขนส่งมีมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น shippop จึงพัฒนาระบบปฏิบัติการที่เชื่อมต่อการขนส่งสินค้าในรูปแบบออนไลน์ขึ้น เพื่อผู้ประกอบการ E-Commerce
สำหรับการให้บริการของ shippop นั้น จะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ E-Commerce โดยเป็นบริษัทที่รวบรวมการขนส่งทุกประเภทเข้าไว้ด้วยกัน โดยระบบของ shippop จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และลดระยะเวลาในการจัดส่งสินค้า โดยที่ผู้ประกอบการซึ่งเป็นสมาชิกของ shippop เพียงแค่เข้าไปกรอกข้อมูลในระบบว่าจะจัดส่งของไปยังปลายทางที่ใด และชื่อที่อยู่ต้นทาง พร้อมระบุน้ำหนักของสินค้าที่จะจัดส่ง เมื่อกรอกทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยในเว็บไซด์ก็จะมีตารางเปรียบเทียบราคาให้ดูว่าขนส่งแต่ละเจ้า คิดค่าบริการในอัตราเท่าใดบ้าง หลังจากเปรียบเทียบราคาผู้ใช้บริการจะรู้ทันทีว่าขนส่งแต่ละแห่งมีเงื่อนไขอย่างไร มีบริการรับของถึงบ้านหรือไม่ หรือว่าจะต้องไปส่งด้วยตนเองที่ไปรษณีย์ เมื่อเลือกทุกอย่าตามกระบวนการเสร็จเรียบร้อยพร้อมชำระเงินค่าบริการก็สามารถสั่งปริ๊น (Print) ใบแปะหน้ากล่องพัสดุได้ทันที
ทั้งนี้ ระบบก็จะดำเนินการออกหมายเลขพัสดุให้ สำหรับแจ้งข้อมูลให้กับลูกค้าที่สั่งออเดอร์ โดยสามารถออกหมายเลขพัสดุให้ได้ทั้งของระบบไปรษณีย์ไทย และระบบขนส่งเอกชนที่ร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับบริษัท พร้อมบาร์โค้ดที่ได้มาตรฐานสำหรับใช้ในการดำเนินการจัดส่ง โดยผู้ใช้บริการที่เลือกวิธีการจัดส่งด้วยระบบของไปรษณีย์ไทยก็เพียงแค่ไปที่สำนักงานไปรษณีย์ที่บริษัทร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 47 สาขาทั่วกรุงเทพมหานครฯ และปริมณฑลได้ทันที เมื่อไปถึงก็เพียงแค่ยื่นกล่องพัสดุให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อทำการสแกนบาร์โค้ดรับพัสดุเข้าสู่ระบบก็จะสิ้นสุดกระบวนการ
เล็งเพิ่มช่องการให้บริการ
สุทธิเกียรติ กล่าวอีกว่า สำหรับเป้าหมายในอนาคตนั้น มองว่าต้องการให้ผู้ใช้บริการในการจัดส่งพัสดุให้ได้ 200,000 กล่องต่อเดือน พร้อมเตรียมที่จะขยายขอบเขตการให้บริการอย่ากว้างขวางมากขึ้น โดยปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจาร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่เป็นบริษัทขนส่งภาคเอกชนอีก 10 แห่ง รวมถึงขยายช่องทางการส่งพัสดุที่ไปรษณีย์ไทยให้เพิ่มมากขึ้นมากกว่า 47 สาขาที่เปิดให้บริการอยู่ นอกจากนี้ยังมีแผนในการพัฒนารูปแบบการให้บริการผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของการเปิดให้บริการ
“ ระบบที่เราพัฒนาขึ้นจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจให้กับผู้ประอบการ E-Commerce ทั้งในส่วนของการลดขั้นตอนในการดำเนินการ และช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย นอกจากนี้ เรายังช่วยบริการในส่วนของการติดตามพัสดุ หากเกิดกรณีที่พัสดุมีปัญหาไม่ไปถึงที่หมาย พร้อมการรับประกันพัสดุตามที่ขนส่งแต่ละเจ้าการันตี ”