“นุชบา” งานทำมือเพิ่มมูลค่าสู่ผลิตภัณฑ์ระดับประเทศ
ภูมิปัญญาและความคิดสร้างสรรค์จากชุมชนถือเป็นสมบัติที่ล้ำค่าของประเทศ ขึ้นอยู่กับว่าผู้ใดจะเห็นคุณค่าและสามารถนำไปต่อยอดจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า
ธนิดา คุณณัฐณิชา นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ คือผู้หนึ่งที่เห็นความสำคัญ จนนำไปสู่ธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับตนเอง และชาวบ้านในชุมชนได้อย่างภาคภูมิภายใต้แบรนด์ “ นุชบา ”
จากสินค้าชุมชนสู่งานแปรรูปเพิ่มมูลค่า
ธนิดา บอกถึงที่มาที่ไปของ “ นุชบา ” ว่า เริ่มต้นจากการที่ตนเองทำงานรับราชการทางด้านพัฒนาชุมชนระดับจังหวัด โดยมีหน้าที่รับผิดชอบงานโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือโอทอป (OTOP) จนสุดท้ายได้ย้ายมาประจำที่บ้านเกิดจังหวัดอำนาจเจริญ และมีโอกาสได้พบกับผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ชาวบ้านทำขึ้นมาอย่างผ้าขาวม้าทอมือจากผ้าฝ้าย โดยมีจุดเด่นจากสีที่เป็นธรรมชาติ และลวดลายตามความคิดสร้างสรรค์ของผู้ทอ จนถูกยกให้เป็นของดีประจำจังหวัดอำนาจเจริญ
นอกจากนี้ในทุกวันศุกร์ของสัปดาห์ทางจังหวัดอำนาจเจริญยังได้มีการรณรงค์ให้สวมเครื่องแต่งกายที่ทำจากผ้าขาวม้าดังกล่าว ด้วยความที่เป็นผู้หญิงซึ่งมีความชื่นชอบการแต่งตัวเป็นทุนเดิม ทำให้เริ่มมองเห็นโอกาสในการพัฒนา และเพิ่มมูลค่าให้กับผ้าขาวม้าในรูปแบบที่ตนเองชอบตามความคิดสร้างสรรค์ ทั้งในรูปแบบของกระเป๋า และเครื่องแต่งกาย โดยคัดเลือกช่างที่มีความชำนาญในแต่ละด้านของชุมชนที่มีฝีมือมาเป็นผู้ผลิตให้ตามแบบที่ต้องการ ซึ่งในช่วงเริ่มต้นจะมีประมาณ 5-10 แบบ แบบละ 20-30 ชิ้นเท่านั้น โดยใช้งบประมาณในการลงทุนไปประมาณ 20,000-30,000 บาท
หลังจากที่ได้ผลิตภัณฑ์ตามที่ต้องการแล้ว จึงทดลองทำตลาดด้วยการขายผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก เนื่องจากทำงานรับราชการทำให้ไม่ค่อยมีเวลาในการนำสินค้าไปขายตามตลาด ปรากฏว่าได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี ทำให้เกิดความคิดที่จะทำตลาดแบบจริงจัง โดยเริ่มต้นจากการออกแบบและจัดระบบการทำงาน พร้อมทั้งให้คำแนะนำชาวบ้านจากพื้นฐานความรู้ที่มีจากประสบการณ์ในการทำงานในการดูแลรับผิดชอบสินค้าโอทอป ทำให้มีสินค้าที่ผลิตออกมาภายใต้แบรนด์นุชบามีความหลากหลายมากขึ้น
เน้นขายออนไลน์เป็นหลัก
สำหรับช่องทางในการทำตลาดส่วนใหญ่ยังคงมุ่งเน้นไปที่การขายออนไลน์เป็นหลักกว่า 80% จากความรู้ที่มีอยู่ทางด้านไอทีตามประสาของคนที่เล่นโซเชี่ยลเนตเวิร์ก หลังจากนั้นเมื่อทางภาคส่วนราชการรู้ว่าเราทำผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากผ้าขาวม้าทอมือ ก็เกิดความสนใจและยกให้เป็นสินค้าโอทอป 4 ดาว จนได้รับโอกาสจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ในการนำผลิตภัณฑ์มาจำหน่ายที่ตลาดนัดคลองผดุงกรุงเกษม โดยถือว่าเป็นย่างก้าวสำคัญที่ทำให้ผลิตภัณฑ์แบรนด์นุชบาเป็นที่รู้จัก และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง
“ จุดเริ่มต้นที่สำคัญมาจากการที่เอสเอ็มอีแบงก์เล็งเห็นความสำคัญของผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากวัตถุดิบภายในชุมชนของแบรนด์นุชบา และให้โอกาสในการนำผลิตภัณฑ์มาจำหน่ายที่ตลาดนัดคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งถือเป็นการวางรากฐานทางธุรกิจให้ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน นอกจากนี้เอสเอ็มอีแบงก์ยังช่วยสนับสนุนทางด้านเงินทุนผ่านการให้สินเชื่อ และช่วยออกแบบแพคเก็จ (package) ใส่สินค้า เรียกว่าช่วยสนับสนุนในทุกขั้นตอนของการทำธุรกิจ ”
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของนุชบายังมีจำหน่ายอยู่ที่สถานีบริการน้ำมัน รวมถึงร้านประชารัฐที่รัฐบาลให้การสนับสนุนบางสาขา และเปิดร้านขายผลิตภัณฑ์ของนุชบาโดยเฉพาะที่จังหวัดอำนาจเจริญ นอกจากนี้ยังรับผลิตสินค้าตามออเดอร์ที่ลูกค้าต้องการ และการรับจ้างผลิตให้กับแบรนด์อื่น (OEM) 3-4 แบรนด์ โดยอาจจะมีการนำผ้าไหมมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับผลิตภัณฑ์ด้วย
ชูจุดเด่นงาน Handmade
จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของนุชบานั้น ธนิดาบอกว่า อยู่ที่เนื้อผ้าฝ้ายที่ผ่านการทอด้วยฝีมือของชาวบ้านในชุมชน และโทนของการใช้สีตามธรรมชาติ โดยมีกรรมวิธีการเย็บจากช่างผู้เชี่ยวชาญในชุมชน ไม่ได้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโรงงาน เพราะฉะนั้น ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาจึงมีความประณีตในทุกรายละเอียด พร้อมกันนี้ยังมีการออกแบบ และรูปทรงให้มีความทันสมัยอยู่ตลอดเวลา ด้วยน้ำหนักที่เบาในราคาที่สามารถเข้าถึงได้
“ ผ้าขาวม้าถือว่าเป็นอาภรณ์สารพัดประโยชน์ โดยเป็นสิ่งมหัศจรรย์แห่งสายใยถักทอไว้อย่างประณีต เป็นอาภรณ์ที่อยู่คู่กับคนไทยทุกยุค ทุกสมัย โดยผลิตภัณฑ์ของ นุชบา จะมีการพัฒนารูปลักษณ์ ลวดลาย ซึ่งได้รวมไว้ทั้งศาสตร์แห่งสีสัน และศิลป์แห่งลายผ้าไทยผสมผสานกันอย่างกลมกลืน ”
ด้วยความที่มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ทำให้กลุ่มลูกค้าของ นุชบา มีอยู่ทุกช่วงอายุ โดยหากเป็นสินค้าประเภทกระเป๋าสะพาย หรือเป้ก็จะเป็นที่ถูกใจลูกค้าในกลุ่มวัยรุ่น หรือหากเป็นในส่วนของกลุ่มวัยทำงานก็ชื่นชอบกระเป๋าถือเป็นหลัก ขณะที่หน่วยงานราชการก็จะจะนิยมสั่งทำเป็นของที่ระลึกเพื่อแจกในงานสำคัญต่างๆ
เล็งเพิ่มทักษะช่างมีฝีมือเพิ่มกำลังการผลิต
ธนิดา ยังได้กล่าวต่อไปถึงเป้าหมายในอนาคตด้วยว่า ต้องการเพิ่มกำลังการผลิตให้มากขึ้น จากปัจจุบันที่มักจะมีปัญหาเรื่องของการขาดแคลนบุคลากรที่มีฝีมือ แม้ว่าในปี 59 นี้จะมีการเพิ่มช่างตัดเย็บเป็น 12 คนจากปีที่ผ่านมาซึ่งมีเพียง 6 คนแล้วก็ตาม แต่ก็ยังผลิตสินค้าได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด โดยจะดำเนินการเรื่องการสร้างทักษะให้ช่างฝีมือที่มีอยู่ในชุมชนให้เกิดการพัฒนามากยิ่งขึ้น ขณะที่ส่วนของเป้ารายได้นั้น ต้องการเพิ่มยอดขายให้ได้ในระดับ 1 ล้านบาทต่อเดือน จากเดิมที่มีรายได้อยู่ประมาณ 300,000-500,000 บาทต่อเดือน
“ ด้วยศักยภาพ และคุณค่าของผลิตภัณฑ์ที่เราผลิตออกมาจำหน่าย เชื่อว่าจะสามารถทำให้มีรายได้ไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้ในอนาคต ซึ่งผลิตภัณฑ์ของ นุชบา สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนทำให้ไม่เกิดการทิ้งฐานบ้านเกิดไปอยู่ที่อื่น โดยเราอยู่กันแบบครอบครัว ”