GRABAJOB แอพฯ เลือกงานที่ใช่ใกล้บ้าน
มีคำกล่าวหนึ่งที่มักถูกพูดอยู่เสมอหากต้องมีการแนะนำแนวทางในการทำธุรกิจนั่นก็คือ “การนำสิ่งที่ตนเองเชี่ยวชาญมาแปรเปลี่ยนให้เป็นธุรกิจ” ชนิชา เสถียรปภาพร คือหนึ่งในบทพิสูจน์ได้เป็นอย่างดี
ชนิชา เสถียรปภาพร คือหนึ่งในบทพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีเมื่อเธอได้นำทั้งความรู้รวมถึงประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญจากการทำงานทางด้านฝ่ายบุคคล (HR) มาประยุกต์จนเกิดเป็นธุรกิจ Statup ภายใต้ชื่อ “Grabajob”
จากประสบการณ์สู่ธุรกิจ
ชนิชา CEO Grabajob เล่าถึงจุดเริ่มต้นว่า ด้วยความที่ชื่นชอบเทคโนโลยีทางด้านไอทีเป็นทุนเดิมตั้งแต่ตอนช่วงทำงานบริษัท แม้ว่าตนเองจะทำงานอยู่ฝ่าย HR ทำให้ได้รับการมอบหมายงานจากเจ้าของบริษัทในการทำเว็บไซด์ หรือโปรเจคต่างๆ ที่เกี่ยวกับซอฟท์แวร์เพื่อนำมาใช้ในองค์กร ดังนั้น จึงทำให้ประสบการณ์ทางด้านดังกล่าวได้ถูกปลูกฝังติดตัวอยู่ใน DNA จนแยกไม่ออกกับงานสาย HR
“ จุดเริ่มต้นที่แท้จริงมาจากการทำโปรแกรม My Profile ซึ่งเป็นเว็บไซด์สำหรับการทำประวัติโดยย่อ หรือเรซูเม่ (Rerume) ในการสมัครงานเพื่อรองรับบริษัทของเจ้านายเก่า โดยตนเองออกมาก่อตั้งบริษัทด้วยตัวคนเดียว เป็นลักษณะของไอทีเอ๊าท์ซอส (IT Outsource) ซึ่งในระยะหลังได้มีการเพิ่มเติมธุรกิจการสรรหาคนเข้ามาทำงานโดยใช้ไอทีเข้ามาเกี่ยวข้อง (Recruitment) เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการค้นหาพนักงานที่จะเข้ามาทำงาน จากเดิมที่จะต้องมีเอกสารเป็นจำนวนมาก ทำให้ยากลำบากในการค้นหาเมื่อต้องการใช้งานจริง จึงพยายามปรับเปลี่ยนให้ข้อมูลทุกอย่างถูกบันทึกลงในเซิร์ฟเวอร์เพื่อให้ง่ายต่อการค้นหา และทำให้สามรถต่อยอดมาเป็น Grabajob ได้จนถึงปัจจุบัน ”
อย่างไรก็ตาม คงต้องเรียนว่า Grabajob คงจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่ได้รับความร่วมมือจากธรภัทร วงษ์กาญจนกุล และชินนริทธ์ โชติสุริยะพงศ์ ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งที่คอยให้คำปรึกษา และแนะนำเทคนิคต่างๆ จากความคิดที่ตกผลึกว่าจะสามารถนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ได้อย่างไรบ้าง จากเดิมที่ My Profile ซึ่งเปิดให้บริการในรูปแบบของเว็บไซด์ทำให้ยากต่อการให้ผู้บริโภคเข้ามาสมัครใช้บริการ เพื่อสร้างรายได้ให้กับบริษัท ดังนั้น เราจึงนึกถึงรูปแบบการให้บริการผ่านแอพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่มีอยู่ จนสามารถเปิดให้บริการได้ทั้งระบบ Android และ IOS
ชูจุดเด่นงานตรงใจใกล้บ้าน
ชนิชา บอกอีกว่า โจทย์ที่ยากในลำดับถัดไปก็คือการมองหาว่างานอะไรที่ต้องการคนจำนวนมาก และมีอัตราการเข้า-ออกที่บ่อยครั้ง ทำให้เรามองไปถึงงานในรูปแบบของการให้บริการ ธุรกิจร้านอาหาร พนักงานในโรงแรม เพราะฉะนั้นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของเราจึงเป็นกลุ่มของเด็กที่เพิ่งจบการศึกษา หรือกำลังศึกษาอยู่แต่ต้องการทำงานนอกเวลา เพื่อสร้างรายได้ และธุรกิจที่ต้องการพนักงานเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ จุดเด่นที่สำคัญของ Grabajob ก็คือการเป็นสังคมแห่งการสมัครงาน โดยเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ของผู้ใช้แรงงานที่ไม่ต้องการเดินทางไกล เพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยผู้ใช้บริการสามารถค้นหางานที่ใกล้กับแหล่งที่พักพิง ซึ่งเจาะจงได้เลยว่าต้องการงานรูปแบบไหน ระยะทางกี่กิโลเมตร อัตราเงินเดือนที่ต้องการ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการเชื่อมต่อลูกค้าทั้ง 2 ฝั่งให้สามารถสื่อสารกันได้ผ่านการให้บริการในรูปแบบของการแชทภายในแอพฯ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการติดต่อโดยที่ HR สามารถส่งข้อความไปหาผู้สมัครงานที่สนใจ เมื่อผู้สมัครงานเห็นก็จะตอบรับและเกิดการพูดคุยกัน จากเดิมซึ่งจะต้องใช้การโทรศัพท์ในการติดต่อ ซึ่งในบางครั้งอีกฝั่งหนึ่งอาจจะยังไม่สะดวกรับสาย ให้ต้องพลาดโอกาสในการทำงานไป หรือหากจะติดต่อกันผ่านช่องทางของอีเมลล์ก็จะเป็นการยุ่งยากจนเกินไปกว่าจะได้งาน
เท่าที่เราสำรวจข้อมูลพบว่า บางร้านอาหารมีพนักงานเกิน 50% ที่เข้ามาแล้วลาออกไปภายใน 1 ปี ทำให้มีความต้องการคนที่จะเข้ามาทำงานอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นกลุ่มลูกค้าทางฝั่งของบริษัทจึงเป็นธุรกิจเกี่ยวกับโรงแรม หรือร้านอาหารที่ต้องการคนตลอดเวลา หากได้พนักงานที่อยู่ใกล้ที่ทำงานก็จะเพิ่มความสะดวกสบายในการทำงาน ขณะที่ทางฝั่งของผู้สมัครงานก็จะเป็นเด็กที่กำลังศึกษาอยู่ หรือที่จบการศึกษาใหม่ ซึ่งต้องการสร้างรายได้โดยที่เค้าสามารถเลือกสถานที่ในการทำงานได้ผ่านแอพของเรา
“ ปกติเวลาที่สมัครงานแต่ละคนก็จะสมัครไว้ทีละหลายงาน จนทำให้ลืมไปว่าได้สมัครงานอะไรที่ไหนไว้บ้าง แต่ในแอพฯ ของเราจะเก็บข้อมูลดังกล่าวนี้ไว้ให้ทั้งหมด อีกทั้งยังช่วยเพิ่มการตัดสินใจของลูกค้าให้ง่ายยิ่งขึ้น จากเดิมที่เราจะต้องมาดูว่าบริษัทที่เราจะสมัครงานมีที่ตั้งอยู่ตรงไหน แต่แอพฯ ของเราจะกลับด้านให้ดูก่อนเลยว่าบริษัทอะไรที่อยู่ใกล้กับเรา เมื่อคลิกเข้าไปก็จะเห็นชื่อและตำแหน่ง รวมถึงวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งสามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาของคำว่าที่ทำงานไกลไปได้เป็นอย่างดี เพราะนี่คืออีกหนึ่งเหตุผลสำคัญของการลาออก ไม่ใช่แค่คนสมัครหรือไม่สมัคร ถึงแม้ว่าโปรไฟล์ของบริษัทจะดี แต่บางทีเค้าก็ไม่อยากไปทำงาน หรือไม่ไปสัมภาษณ์ แต่แอพฯ ของเราจะไม่มีคำนั้น เพราะผู้ใช้งานได้ตัดสินใจตั้งแต่ขั้นตอนนี้แล้ว ”
เพิ่มช่องทางสื่อสารที่หลากหลาย
ชนิชา กล่าวต่อไปอีกว่า ขณะนี้กำลังพัฒนารูปแบบของการให้บริการเพื่อให้การใช้งานสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยเรามองไปถึงเรื่องของการทำวิดีโอแนะนำตนเองสำหรับผู้สมัครงาน เนื่องจากบางรายอาจไม่ถนัดทางด้านการเขียนประวัติตนเองให้น่าสนใจ ทำให้พลาดโอกาสในการทำงานทั้งที่ทำงานเก่ง แต่เมื่อได้นำเสนอตนเองผ่านวิดีโออาจจะตรงกับความต้องการของบริษัทและทำให้ได้งานในที่สุด นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนา Garbajob ให้เป็นรูปแบบของเว็บไซด์ เพื่อตอบสนองพฤติกรรมการทำงานของฝั่ง HR ที่ส่วนใหญ่จะทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์มากกว่าใช้สมาร์ทโฟน โดยเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการค้นหาบุคคลเช้ามาทำงานได้ง่ายขึ้น
“ เดิมทีเรามีบริการรูปแบบของการถ่ายวิดีโอนำเสนอตนเองอยู่แล้ว แต่เมนูอาจจะถูกซ่อนอยู่ในโปรแกรมหลักจนผู้ใช้งานไม่สามารถมองเห็น ดังนั้น เราจึงมองว่าควรจะนำบริการดังกล่าวออกมาให้ผู้ใช้งานเห็นได้ง่ายขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกในการใช้งาน โดยที่ฝั่งบริษัทรับสมัครงานก็สามารถโพสวิดีโอเกี่ยวกับรูปแบบการทำงานให้ผู้สมัครงานได้เห็นได้ด้วย เพื่อจะได้รู้ว่าตนเองนั้นเหมาะกับงานนั้นหรือไม่ ส่วนผู้สมัครงานก็สามารถโชว์ผลงานที่เคยทำมา และกำลังได้อยู่ได้เช่นเดียวกัน พร้อมเตรียมพัฒนารูปแบบในการให้บริการโทรศัพท์ผ่านแอพ โดยเชื่อว่าการคุยกันจะช่วยให้รู้ได้ว่างานเหมาะกับคน หรือคนเหมาะกับงานหรือไม่ และอาจจะมีรูปแบบของวิดีโอคอนเฟอเร้นท์ให้ด้วย เพื่อให้ทั้ง 2 ฝั่งได้เห็นหน้ากัน ไม่ต้องลางานเพื่อไปสัมภาษณ์งาน เพิ่มความสะดวกสบายให้กับทั้ง 2 ฝั่ง และเพิ่มช่องทางให้เยอะมากขึ้น ”
ปัจจุบัน Grabajob มีฐานผู้ใช้บริการที่เป็นบริษัทอยู่ประมาณ 600 บริษัท และมีผู้ใช้บริการที่เป็นผู้หางานอยู่ประมาณ 3,000 ราย โดยมีจำนวนประกาศรับสมัครงานประมาณ 300 งาน มีการจับคู่งานให้ประสบความสำเร็จได้ 15% จากทั้งหมด โดยเราวางเป้าหมายที่จะทำให้การสมัครงานประสบความสำเร็จได้ 45% และมีจำนนวนผู้เข้ามาลงทะเบียนใช้บริการ 40,000 ราย อีกทั้งยังมีแผนที่จะขยายการให้บริการไปสู่ประเทศในแถบเออีซี (AEC) อีกด้วย
“ เรซูเม่ธรรมดาจะไม่ได้เห็นคาแรกเตอร์ ส่วนการแชทจะเปิดโอกาสสำหรับคำถาม ไม่ใช่แค่ดูเพียงเรซูเม่แล้วตัดสินว่าใช่หรือไม่ใช่ แอพเราทำให้คนได้คุยกัน เราเชื่อว่าการตัดสินใจที่ดีน่าจะมาจากการได้พูดคุย ซึ่งบริการตรงนี้จะช่วยให้ทั้ง 2 ฝั่งได้มีเวลาร่วมกันมากขึ้นในการตัดสินใจว่าใช่หรือไม่ใช่ บางทียิ่งคุยไปยิ่งรู้เลยว่าไม่ใช่ หรือรู้เลยว่าใช่ ซึ่งประเด็นหลักๆคือไม่ต้องมาเสียเวลากันทั้ง 2 ฝ่าย แอพเราช่วยประหยัดเวลาของคนที่จะมาสัมภาษณ์และคนที่ต้องการได้งาน ”.