MEEFUND บันไดสู่ความสำเร็จของผู้มีไอเดีย
จะดีแค่ไหนหากมีไอเดียแล้วมีที่ให้ได้ปล่อยของ ปล่อยความคิดสร้างสรรค์ ได้สำรวจความคิดเห็นของมวลชนว่าไอเดียเจ๋งพอสำหรับการสร้างออกมาเป็นผลิตภัณฑ์จำหน่ายในตลาดหรือไม่
ที่สำคัญได้มีเงินทุนมาประกอบธุรกิจจากผู้ที่ชื่นชอบไอเดีย และมีความต้องการสินค้าจริงโดยที่ไม่ต้องกู้เงินจากสถาบันการเงิน
www.meefund.com ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาภายใต้แนวคิดแนวดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์ในการเป็นสื่อกลางระหว่างเจ้าของไอเดียและผู้บริโภคให้ได้พบกัน โดยใช้รูปแบบของการระดมทุน (Crowdfunding) มาใช้ เพื่อมุ่งหวังให้เกิดนวัตกรรมใหม่ขึ้นในตลาด
สร้างธุรกิจเพื่อสนับสนุนผู้มีไอเดีย
ณัฐวุฒิ เผ่าปรีชา ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารเว็บไซด์เพื่อการระดมทุนภายใต้ชื่อ “MEEFUND” เล่าให้ฟังว่า MEEFUND เกิดขึ้นมาจากความคิดเห็นที่ตรงกันของกลุ่มเพื่อนร่วมงานในอดีต ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งอีก 4-5 คน ที่ตกผลึกทางความคิดในการทำอะไรเพื่อประเทศ โดยนำประสบการณ์ตรงในช่วงก่อนเริ่มต้นทำธุรกิจของตน ซึ่งต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนจำนวนมากมาใช้กว่าที่ธุรกิจจะก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างได้มาเป็นจุดตั้งต้น โดยมองไปยังกลุ่มของเด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์ หรือไอเดียในการทำธุรกิจแต่ติดปัญหาเรื่องของเงินทุน ดังนั้น แพลตฟอร์มของ MEEFUND จึงเป็นแบบง่ายๆ ไม่มีการจำกัดอุตสาหกรรม
ระบบปฏิบัติการ หรือแพลตฟอร์มของ MEEFUND คือรูปแบบของการให้ผู้ที่มีไอเดียได้นำเสนอความคิดต่อสาธารณะชน เพื่อขอแรงสนับสนุนเป็นการระดมทุนหากผู้บริโภคมีความเห็นว่าผลิตภัณฑ์ที่นำเสนอดีจริง และตรงกับความต้องการของตลาด เพื่อแลกเปลี่ยนกับสินค้าที่จะผลิตขึ้นจริงจากไอเดีย (Reward base) หลังจากการระดมทุนประสบความสำเร็จตามวงเงินที่ตั้งเอาไว้
ชูค่าบริการถูกสุดในโลก
จุดเด่นของ MEEFUND นั้น ณัฐวุฒิบอกว่า อยู่ที่การคิดค่าบริการที่ถูกที่สุดในโลก โดยจะเรียกเก็บในอัตรา 10% ของการระดมทุน โดยแบ่งเป็นค่าบริการเพียง 6% ซึ่งจะเก็บเฉพาะในกรณีที่การระดมทุนประสบความสำเร็จเท่านั้น ส่วนอีก 4% เป็นค่าระบบการชำระเงินของธนาคาร โดยหากระดมทุนไม่สำเร็จตามวงเงินที่ตั้งไว้ เราก็จะไม่ได้ค่าบริการ ผู้นำเสนอโปรเจคก็ไม่ได้เงินทุน เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้นำเสนอไอเดียได้ตระหนักว่าไม่ควรที่จะขอวงเงินมากจนเกินไป แต่ควรจะขอตามความเหมาะสมเท่าที่ต้องการใช้จริงๆ เพื่อให้โปรเจคประสบความสำเร็จ
“ที่เราไม่เรียกเก็บค่าบริการจากเจ้าของไอเดียก่อน เพราะเรามีความคิดที่ว่าเด็กที่เข้ามาขอระดมทุนยังไม่มีเงินแม้แต่จะสร้างผลิตภัณฑ์จากไอเดียออกมาสู่ตลาด หากต้องมาจ่ายค่าบริการให้กับเราก่อน ชีวิตของเค้าก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จ เราจึงเลือกใช้วิธีให้ได้ใช้ช่องทางบนเว็บไซด์ของเราอย่างเต็มที่ บริการให้โดยไม่คิดค่าบริการ สำเร็จเมื่อไหร่ค่อยเก็บเงิน”
ส่วนรูปแบบของการชำระเงินนั้น ณัฐวุฒิ ระบุว่า เป็นการตัดวงเงินจากบัตรเครดิต แต่ MEEFUND จะใช้วิธีการขอจองวงเงินไว้ก่อนโดยที่ยังไม่ตัดเงิน เช่นเดียวกับการใช้บัตรเครดิตจองโรงแรม เมื่อถึงวันที่มีผู้สนับสนุนครบเต็มจำนวนเงินที่ระดมทุนทุกคนก็จะถูกตัดเงินในบัตรเครดิตพร้อมกันในครั้งเดียว
“เราเข้าใจลักษณะนิสัยของคนไทย สมมุติหากต้องการระดมทุนจำนวน 1 ล้านบาท เงิน 100 บาทแรกจะยากที่สุด เพราะคนไทยจะมีความคิดที่ว่าหากเป็นผู้จ่าย 100 บาทแรกไปแล้วถ้าโปรเจคไม่สำเร็จจะต้องมีการคืนเงินให้วุ่นวาย ดังนั้น จะรอให้ได้ 9 แสนบาทก่อนจึงค่อยจ่าย เราจึงใช้วิธีเปิดจองวงเงินในบัตรเครดิต หากระดมทุนไม่สำเร็จก็จะไม่มีการตัดวงเงินแต่อย่างใด”
ขณะที่วิธีการมอบเงินให้กับเจ้าของโปรเจคเมื่อการระดมทุนประสบความสำเร็จ MEEFUND จะมีการทำสัญญากับเจ้าของ โดยระบุอย่างชัดเจนในสัญญาว่าเมื่อได้รับเงินแล้วจะต้องทำสินค้าตามที่ระบุเอาไว้ และจะต้องส่งมอบให้กับผู้ที่สนับสนุนทุกคนตามจำนวนวงเงินของแต่ละคน เมื่อมีการเซ็นสัญญาเรียบร้อยจึงจะมีการโอนเงินไปให้ เพื่อป้องกันการโกง
กุญแจสำคัญคือความเข้าใจ
ณัฐวุฒิ บอกว่า สิ่งสำคัญที่จะต้องดำเนินการในเวลานี้คือการสร้างความเข้าใจให้กับผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นหัวใจที่สำคัญอย่างมากในการทำให้ Crowdfunding เกิดขึ้นได้ โดยปัจจุบันพัฒนาการในเรื่องดังกล่าวเป็นไปได้ด้วยดีอย่างต่อเนื่อง แต่หากจะให้กลายเป็นกระแสหลักแบบประเทศสหรัฐฯ จะต้องใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 3 ปี เพราะคนไทยชอบนวัตกรรมที่มีชื่อเสียงแล้วมากกว่าการจะสนับสนุนก่อนที่จะเกิด
อย่างไรก็ตามหากถามว่าระบบ Crowdfunding เชื่อว่าเกิดอย่างแน่นอนแต่อาจจะต้องอาศัยกลไกลเรื่องของระยะเวลา โดยมองว่าเป็นการถูกผลักภาระหรือถูกระบบบีบให้เกิดขึ้น ซึ่งจะสังเกตได้จากในปัจจุบันหากเข้าไปดูสินค้าในเว็บออนไลน์ สิ่งที่พบก็คือสินค้าเหมือนกันหมดไม่มีอะไรแปลกใหม่ แต่ผู้บริโภคที่อยู่บนโลกออนไลน์ต้องการอะไรที่ใหม่ ดังนั้น จึงเป็นการขับเคลื่อนของผู้ที่อยากทดลอง จากเดิมที่คนไทยเหมือนถูกบีบให้บริโภคสินค้าจากต่างประเทศ จากการสื่อสารว่าของที่มาจากต่างประเทศเป็นของดี แต่ต่อไปคนไทยจะเริ่มเบื่อการบริโภคในรูปแบบเดิมๆ เพราะได้เห็นทุกอย่างมาจนหมดแล้ว
นอกจากนี้ ในปัจจุบันผู้ที่มีไอเดีย หรือนักวิจัยต่างก็เริ่มมีการทำตลาดอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ผู้บริโภคคนไทยเริ่มให้ความสนใจกับนวัตกรรม เริ่มคุ้นเคยกับการจ่ายเงินให้กับนวัตกรรมมากขึ้น เรียกว่าทุกอย่างกำลังหมุนเข้ามาหากัน
เป้าสร้างมูลค่าตลาด 2 พันล้านใน 5 ปี
ณัฐวุฒิ ทิ้งท้ายถึงเป้าหมายอันท้าทายไว้ว่า ภายใน 5 ปีจะต้องสร้างมูลค่าทางการตลาดจากการระดมทุนแบบ Crowdfunding ให้ได้ 2 พันล้านบาท ไม่เช่นนั้นจะถือว่าระบบดังกล่าวนี้ยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะโปรเจคที่ระดมทุนผ่านระบบ Crowdfunding มีการเพิ่มจำนวนเร็วมาก สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ที่มีอินเตอร์เน็ต โดยปัจจุบันมูลค่าการระดมทุนของ Crowdfunding เกินวงเงินของนักลงทุนที่มีเงินอยู่กับตัว(Angel investor) และธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) ไปเรียบร้อยแล้วในระดับโลก เพราะฉะนั้น จึงเชื่อว่าเป้าหมายที่วางเอาไว้ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้.