ดูเรียนคอร์ปปั้น SME สู่ยูนิคอร์น
หากคำว่าดรีมทีม (Dream team) หมายถึงการรวบรวมยอดฝีมือมาไว้ในทีมเดียวกัน บริษัท ดูเรียน คอร์ปปอร์เรชั่น จำกัด www.duriancorp.com ก็คงจัดว่าเป็นดรีมทีมชั้นเซียนของวงการธุรกิจ Startup
เพราะได้รวบรวมยอดขุนพลระดับมันสมอง และประสบการณ์ทางด้านต่างๆ ที่สำคัญในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จเข้าไว้ด้วยกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำพา SME ให้กลายเป็นบริษัทที่มีขนาดธุรกิจ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (3.5 หมื่นล้านบาท) หรือยูนิคอร์น (Unicorn) ลำดับถัดไปของวงการ
จุดกำเนิดดูเรียนคอร์ป
มงคล ผอบนาง ประธานบริหารฝ่ายเทคนิค (CTO) ของดูเรียน คอร์ปฯ เล่าถึงที่มาที่ไปของการรวมทีมครั้งนี้ว่า เกิดจากการที่ต่างคนต่างมีประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน แต่ทุกคนได้ตระหนักถึงปัญหาเดียวกันที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการทำธุรกิจนั่นก็คือเรื่องของเงินทุน ดังนั้นจึงตัดสินใจที่จะทำ Startup ร่วมกัน และทางออกที่ต่างคิดตรงกันซึ่งจะส่งผลกระทบต่อวงการ Startup มากที่สุดก็คือ คราวน์ฟันดิ้งแพลตฟอร์ม (Crowdfunding) หรือระบบการระดมทุนนอกตลาดหลักทรัพย์
ทั้งนี้ เมื่อความคิดเห็นตรงกัน โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างยูนิคอร์นตัวต่อไปให้กับวงการ Startup ดังนั้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ยูนิคอร์นตัวแรกที่จะต้องทำให้ได้ก็คือดูเรียน คอร์ปฯ เอง ซึ่งการก่อตั้งบริษัทเราก็เลือกใช้วิธีคราวน์ฟันดิ้ง โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือนในการระดมทุน
อย่างไรก็ดี ในช่วงเริ่มต้นของการทำธุรกิจ 1-2 ปี ดูเรียน คอร์ปฯ ได้คำนึงถึงการปูพื้นฐานความรู้ให้กับทั้งผู้ประกอบการ และนักลงทุน เพื่อให้เข้าใจถึงระบบคราวน์ฟันดิ้งว่าเป็นอย่างไร ดังนั้น ในเว็บไซด์ของดูเรียน คอร์ปฯ จึงมุ่งเน้นไปที่การให้ข้อมูลเชิงให้ความรู้ กิจกรรมอบรมสัมมนา เพราะเราเชื่อว่าเราต้องพัฒนาระบบนิเวศน์ในมุมของสตาร์ทอัพ ซึ่งก็คือทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องที่ทำให้ธุรกิจโตได้ (Ecosystem) ก่อนที่จะดำเนินการในลำดับถัดไป เนื่องจากเป้าหมายของดูเรียน คอร์ปฯ คือการระดมทุนนอกตลาดหลักทรัพย์แล้วได้หุ้นของบริษัทนั้นไป (Equity Crowdfunding) ซึ่งปัจจุบันยังไม่ผ่านขั้นตอนทางด้านกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
“เป้าหมายของเราถูกวางไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่ต้น ดังนั้นในช่วงแรกที่กฎหมายยังไม่ผ่านการรับรองจาก ก.ล.ต. เราจึงใช้วิธีการระดมทุนแบบออฟไลน์ โดยผ่านนักลงทุนที่เรามีความสัมพันธ์อยู่ในมือ ทั้งนักลงทุนรายใหญ่ รวมถึงนักลงทุนที่มีเงินอยู่กับตัว (Angel invester) และธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) ซึ่งจะดำเนินการในรูปแบบการระดมทุนที่รวมทั้งออนไลน์และออฟไลน์ (VIP Pitching) ในดีลเดียวกัน (Hybird Crowdfunding) เพราะเราเชื่อว่าคนไทยยังไม่คุ้นเคยกับการจ่ายเงินกับอะไรบางอย่างแล้วได้หุ้นหรือได้ของกลับมาเป็นผลตอบแทน”
ศูนย์รวมหัวกะทิของวงการ
มงคล กล่าวอีกว่า จากการที่ผู้ก่อตั้งทั้งหมดต่างมีความเชี่ยวชาญกันไปคนละด้าน จึงทำให้กลายมาเป็นจุดแข็งที่สำคัญของดูเรียน คอร์ปฯ โดยประกอบไปด้วย โอฬาร วีระนนท์ ผู้คร่ำหวอดในวงการของตลาดหุ้น ทำให้มีสายสัมพันธ์กับนักลงทุนมากกว่า 80% ในตลาดหุ้น ปกรณ์ บุญฤทธิ์ธงชัย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญทางด้านของการพัฒนาแบรนด์ เมื่อผู้ประกอบเข้ามาก็จะรู้ว่ายังขาดอะไร หรือจะต้องเพิ่มเติมส่วนใดที่จะทำให้แบรนด์แข็งแกร่ง อภิธาน ลี ผู้มีประสบการณ์ด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างโดดเด่นทั้งในองค์กรไทย และนานาชาติ ซึ่งคลุกคลีกับแวดวง Startup และ SME อย่างจริงจัง สามารถเชื่อมโยงทั้งภาควิชาการ งานวิจัย งานออกแบบอย่างครบเครื่อง ศรัญญา เสนสุภา ผู้มีประสบการณ์ในการนำบริษัทจำหน่ายหุ้นสามัญให้แก่ประชาชนครั้งแรก หรือไอพีโอ (IPO) ทำให้รู้ว่าหากต้องการทำไอพีโอจะต้องมีอะไรบ้าง หรืออะไรที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับ Startup ได้บ้าง และตนเอง ซึ่งมีความเชี่ยวชาญทางด้านของนวัตกรรม โดยจะคอยตรวจสอบว่าไอเดียที่นำเสนอมีความเป็นไปได้หรือไม่ ลงทุนแล้วมีความคุ้มค่าแค่ไหน เป็นต้น
เชื่อมต่อนักลงทุนกับผู้ประกอบการ
มงคล เล่าต่อไปอีกว่า กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของดูเรียน คอร์ปฯ คือกลุ่ม SME ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 2.7 ล้านราย และกลุ่ม Startup อีกประมาณ 2,000 ราย โดย SME เป็นกลุ่มที่มีความแข็งแกร่งทางความคิด แต่ยังขาดเรื่องของแผนธุรกิจว่าควรจะขายสินค้าอย่างไร และทางด้านของเงินทุน เรามีหน้าที่ในการนำแนวคิดของ Startup เข้าไปช่วยเสริมเพื่อการขยายตัวของธุรกิจที่ไม่จำกัด รวมถึงชี้แนะการประเมินมูลค่าของธุรกิจว่าควรจะอยู่ที่ระดับเท่าใด และเป็นตัวกลางคอยเชื่อมโยงไปสู่นักลงทุน เมื่อไอเดียชัด สามารถวางเป้าหมายเป็นตัวเลขได้ จับต้องได้ นักลงทุนก็จะเกิดความเข้าใจและต้องการที่จะลงทุน
ขณะที่บางธุรกิจซึ่งเป็น Startup อยู่แล้ว มีเป้าหมายและแผนธุรกิจที่ชัดเจนว่าต้องการอะไร โดยเข้ามาเพื่อต้องการระดมทุน เราก็จะช่วยประเมินมูลค่าให้ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ หากมากเกินไปก็จะปรับให้อยู่ในจุดที่สมเหตุสมผลมีแผนธุรกิจ ดังนั้น ไม่ว่า Startup ที่เข้ามาจะมีขนาดธุรกิจเป็นแบบไหน เราสามารถให้คำปรึกษา เพื่อแต่งตัวให้เหมาะสมกับการเจรจากับนักลงทุน
ด้านนักลงทุนก็เช่นเดียวกัน บางรายยังไม่รู้เลยว่า Startup คืออะไร แต่ก็อยากลงทุน เราก็ต้องไปทำความเข้าใจในกระบวนการทางความคิดว่า Startup เป็นอย่างไร ไม่ใช่รอปันผลทุกสิ้นปี แต่อาจจะต้องรอผลประมาณ 3 ปี เมื่อมูลค่าสูงขึ้นจึงจะสามารถขายออกได้ แต่หากนักลงทุนรู้จัก Startup อยู่แล้วก็จับคู่ได้เลย
สยายปีกสู่ต่างประเทศใน 3 ปี
มงคลยังวางแผนว่าในอีก 3 ปี จะต้องขยายธุรกิจออกไปยังต่างประเทศ โดยเริ่มต้นที่กลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา, ลาว, เมียนมาร์ และเวียดนาม) โดยยึดรูปแบบธุรกิจ รวมถึงระบบที่เราวางไว้อย่างเข้มแข็งในไทยเป็นหลักในการขยายงาน ซึ่งในระยะแรกอาจจะต้องเข้าไปปรับภูมิทัศน์ของแต่ละประเทศให้เข้าใจระบบ หลังจากนั้นเมื่อทุกอย่างลงตัวก็สามารถปล่อยให้ระบบเดินหน้าต่อไปได้ด้วยตัวเอง โดยที่ผู้ถือหุ้นแทบจะไม่ต้องทำอะไรเลย
“แนวโน้มคราวน์ฟันดิ้งนั้นเกิดแน่นอน โดยจะเห็นได้จากปัจจุบันมีบริษัทที่ทำเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก คนตื่นตัวว่าเราน่าจะต้องมีคราวน์ฟันดิ้ง เพราะในสภาวะเศรษฐกิจที่แบงก์ไม่กล้าปล่อยกู้ เศรษฐกิจแย่คนไม่มีเงินใช้ แต่เงินสดในแบงก์มีล้นหลาม เราจะมีวิธีการนำเงินเหล่านั้นออกมาได้อย่างไร ซึ่งแบงก์ไม่ปล่อยกู้เพราะคนไม่ค่อยมีกำลังในการส่ง แต่หากว่าเราจะดึงเงินจากนักลงทุนที่มีเงินเป็นถังอยู่แล้วออกมา ก็ต้องดึงผ่านระบบที่เป็นการระดมทุนผ่านออนไลน์”
มงคล ทิ้งทายอย่างน่าสนใจว่า ความจริงแล้วคราวน์ฟันดิ้งที่เห็นผ่านสื่อยังไม่ทั้งหมด แต่ยังมีจำนวนมากกว่านี้ แต่สิ่งที่ทำให้โปรเจคมีคนเข้ามาลงทุน หรือจะเกิดหรือไม่ อยู่ที่ความน่าเชื่อถือในอนาคตเมื่อ Ecosystem สมบูรณ์ เราจะเห็นคนเข้ามาระดมทุนผ่านช่องทางดังกล่าวนี้เหมือนการซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์จนกลายเป็นเรื่องปกติในชีวิต.