SHOP SPOT ช็อปออนไลน์
ปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งของประกอบการรายใหม่ที่มีไอเดีย และความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบผลงานเพื่อนำสู่ตลาดก็คือพื้นที่ในการแสดงสินค้า
รวมถึงได้อธิบายถึงที่มาที่ไปของสินค้าเพื่อสร้างความน่าสนใจ และความแตกต่างให้กับผู้บริโภคได้รับรู้
–จากความชอบสู่ก้าวที่ยิ่งใหญ่
นัฏฐ์สกล เกียรติสุรนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท ชอปสปอต โมบิลิตี้ พีทีอี จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มโซเชียลคอมเมิร์ซ “Shop Spot” ได้เล็งเห็นความสำคัญ และสามารถตีโจทย์ความต้องการดังกล่าวนี้ออกจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของความชื่นชอบในการขายสินค้ามือสอง และได้พบเจอกับอุปสรรคในเรื่องของวิธีการขายที่ค่อนข้างยุ่งยาก จนเกิดประกายไอเดียและ รวบรวมทีมงานส่งแนวคิดเข้าประกวดภายใต้ โครงการ AIS Startup Weekend เมื่อปลายปี 2011 และได้รับรางวัลรองชนะเลิศ เพียงเพราะต้องการขจัดอุปสรรคปัญหาในการโพสขายสินค้าบนโลกออนไลน์ให้ง่ายขึ้นด้วยเทคโนโลยีกล้องถ่ายรูปที่มีอยู่บนโทรศัพท์มือถือ
“จุดเปลี่ยนสำคัญมาจากการที่นักลงทุนสิงคโปร์มี โครงการชื่อ JFDI-Innov8 Bootcamp เพื่อเสาะหากลุ่ม Startup ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ไปบ่มเพาะความรู้ทางด้านธุรกิจว่า Startup จะต้องทำอะไรบ้าง ต้องมีทีมประเภทไหน และต้องเพิ่มทักษะการเรียนรู้อย่างไรเป็นต้น หลังจากนั้นแอพพิเคชั่นภายใต้ชื่อ Shop Spot ก็พร้อมให้ผู้ใช้งานได้ดาวน์โหลด โดยเริ่มต้นบนระบบ IOS เป็นลำดับแรก ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในต่างประเทศ”
อย่างไรก็ดี ด้วยความที่ต้องการมุ่งเน้นการทำตลาดในประเทศไทยมากกว่า นัฏฐ์สกล จึงนำองค์ความรู้ และประสบการณ์ที่ได้รับมาทั้งจากการบ่มเพาะในโครงการและ การลงสู่สนามจริงมาประยุกต์ต่อยอดและ เปิดให้บริการในไทยจนปัจจุบันสามารถเปิดให้ดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ IOS และ Android โดยมียอดดาวน์โหลดไปแล้วกว่า 5 แสนราย
–ปรับโฟกัสสู่ผู้ประกอบการร้านค้า
ทั้งนี้ เมื่อเปิดให้บริการไปได้ระยะหนึ่ง Shop Spot ก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งจนนำไปสู่แนวทางของการทำธุรกิจที่ชัดเจนมากขึ้น จากเดิมที่ผู้ใช้งานส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่เข้ามาโพสขายสินค้ามือ 2 แต่ในระยะหลังเริ่มมีผู้ประกอบที่เป็นร้านค้า หรือห้างขนาดเล็กเข้ามาขายของออนไลน์บนแอพฯ มากขึ้นจึงเล็งเห็นว่าหากมุ่งเน้นเจาะตลาดไปที่ผู้ประกอบการร้านค้าเป็นหลักน่าจะเป็นแนวทางของธุรกิจที่แข็งแรงได้สามารถสร้างรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียม และค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ได้ง่ายกว่า
“ปัจจุบันเรายังไม่ได้เริ่มเก็บค่าบริการจากร้านค้าที่เข้ามาขายสินค้าภายในแอพฯ ของเรา อีกทั้งขณะนี้ก็ยังเปิดโอกาสผู้ที่จะเข้ามาขายสินค้ามือ 2 และผู้ประกอบการร้านค้าได้เข้ามาขายของได้ภายในแอพฯเดียวกัน แต่ในอนาคตที่เรามองไว้อาจจะมีการแบ่งแยกจากกัน เพื่อให้เกิดความชัดเจน”
–สร้างสังคมแห่งการค้าขาย
สำหรับจุดเด่นของ Shop Spot ที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ การสร้างเป็นสังคมของการค้าขาย ที่ไม่ได้มุ่งเน้นแต่เฉพาะทางการค้าเพียงอย่างเดียว แต่เราจะมีข้อมูลทางด้านต่างๆที่เป็นความรู้ให้ผู้ประกอบการสอดแทรกอยู่ในแอพไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสร้างแบรนด์สินค้าให้ยั่งยืนเรื่องของการทำตลาด โดยจะแบนรด์ต่างๆเข้ามาเล่าเรื่องราวของจุดกำเนิดสินค้าว่ามีแนวความคิดอ่างไรถึงออกมาเป็นสินค้าแบบนี้ หรือการบอกถึงคอลเล็กชั่นของสินค้าต่างๆ เหมือนเป็นต้นแบบให้ผู้ประกอบการรายอื่นได้จุดประกายไอเดียไปด้วย
“Shop Spot จะไม่เหมือนกับเพจอีคอมเมิร์ท หรือ มาร์เก็ตเพลสทั่วไป แต่เราจะมีเรื่องของคอนเท้นท์ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการแนะนำ มีการเล่าเรื่องของแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จ หรือการรีวิวสินค้าที่จะบอกถึงคอลเล็กชั่นต่างๆ ซึ่งแอพฯ ของเราจะเสมือนเป็นแม็กกาซีนออนไลน์ในตัวเอง โดยที่ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ก็จะเข้ามาในลักษณะดังกล่าวนี้เยอะมาก”
อย่างไรก็ดี เป้าหมายภายในแอพฯ Shop Spot ในระยะต่อไปคือเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้งาน โดยการพัฒนาระบบให้ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถชำระเงินผ่านแอพฯ ได้เลย จากเดิมที่หากมีการซื้อขายกัน ลูกค้าจะต้องไปดำเนินการโอนเงินกันเพื่อชำระสินค้า นอกจากนี้ก็จะมุ่งเน้นการพัฒนาแอพฯให้มีภาพลักษณ์ที่ชัดเจน คือเป็นช็อปสำหรับสินค้าดีไซน์ที่มีคุณภาพ สำหรับเป็นทางเลือกของผู้บริโภคที่ชื่นชอบสินค้าสไตล์นี้ และสร้างให้ผู้ประกอบการสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน
“ตัวเลขเอสเอ็มอีในไทยมีอยู่ประมาณ 5 แสนราย ซึ่งจะมีกลุ่มที่เป็นสินค้าดีไซน์ประมาณ 3-4 หมื่นราย เราต้องการให้คนกลุ่มนี้ประสบความสำเร็จเกิดความล้มเหลวในธุรกิจน้อยลง เราจะช่วยยกระดับในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำตลาด การบริหารต้นทุน และการบริหารจัดการด้านการเงิน เป็นต้น เพราะเอสเอ็มอีส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีความรู้เรื่องดังกล่าวเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ก็จะมีการจัดกิจกรรมเชิงปฎิบัติงานจริงสำหรับผู้ประกอบการอย่างสม่ำเสมอ”
–เล็งเข้าตลาดหลักทรัพย์ใน 3 ปี
ปัจจุบันเรามียอดการเติบโตเป็น 2 เท่าในทุกไตรมาส ส่วนรายได้หลักตอนนี้มาจากการคิดโฆษณาบนแอพฯ และการหักเปอร์เซ็นต์จากการขายสินค้า ซึ่งเราจะไม่ได้เก็บเยอะมาก เรียกว่าเก็บน้อยกว่าที่ผู้ประกอบการเคยจ่ายให้กับร้านค้าออนไลน์ทั่วไป หรืออาจจะมีโปรโมชั่นก็แล้วแต่จะพิจารณาและตกลงกันส่วนเป้าหมายในอนาคตภายในระยะ 3 ปีข้างหน้านี้ เราจะนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยจะต้องรายได้หลักร้อยล้านภายในระยะเวลาดังกล่าว ซึ่งเวลานี้บริษัทได้เตรียมความพร้อมไปแล้วในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการมีหรือผู้ตรวจสอบบัญชี เป็นต้น
นัฏฐ์สกล กล่าวปิดท้ายอย่างน่าสนใจถึงความหมายของการเป็น “Startup” ว่าจะต้องเป็นบริษัทหรือธุรกิจที่เกิดขึ้นมาอย่างมีเป้าหมายเป็นอันดับแรก โดยจะต้องเป็นธุรกิจที่สามารถแก้ปัญหาให้กับผู้ใช้งานได้จริงในเรื่องนั้นๆ และที่สำคัญจะต้องมีอัตราการเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดในอนาคต