เจาะแนวคิด “วันธกุล” ต่อยอดธุรกิจครอบครัวสู่หลักร้อยล้าน
การประสบความสำเร็จบนเส้นทางของธุรกิจนั้น มีองค์ประกอบมากมายที่มาหล่อหลวมกัน ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง เรียกว่าส่วนผสมทั้งหมดจะต้องลงตัว เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ตามปกติเราจะเห็นกันแต่เบื้องหน้าแห่งความสำเร็จไม่ว่าจะเป็นตัวผลิตภัณฑ์ หรือกลยุทธ์ทางการตลาดที่ผู้ประกอบการเลือกใช้ เพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภค
ครั้งนี้คอลัมภ์ “Startup” จะพาไปสู่เบื้องหลังแห่งความสำเร็จกันบ้าง ๆ กับ วัธนกุล มังคลรังษี หรืออ๊อฟ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟูดส์ อินโน สตาร์ท อัพ จำกัด ผู้ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญอีกชิ้นหนึ่งขององค์รวมทั้งหมดที่เรียกว่าธุรกิจ
ต่อยอดธุรกิจครอบครัว
วัธนกุล บอกถึงที่มาที่ไปของไอเดียในการทำธุรกิจว่า ตนเติบโตมากับเส้นทางธุรกิจของครอบครัว ซึ่งเกี่ยวกับแวดวงอาหารมาตั้งแต่เริ่มจำความได้ โดยมีความคุ้นเคยกับโรงงานผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวมาตั้งแต่รุ่นปู่จนถึงรุ่นคุณพ่อ และสิบทอดมาจนถึงรุ่นของตน ซึ่งถือว่าเป็นรุ่นที่ 3 แล้ว
ทั้งนี้ ตนเลือกเรียนสาขาเทคโนโลยีการอาหาร ที่มหาวิทยาลัยมหิดล และไปเรียนต่อระดับปริญญาโทคณะอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งจะต้องเรียนด้านการบริหารธุรกิจและการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มเข้ามาด้วย ทำให้ตนเองกลายเป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์ด้านอาหาร และผู้ประกอบการไปควบคู่กันไป
“เดิมทีตนได้นำความรู้ที่ได้เรียนมาปรับใช้กับธุรกิจของครอบครัว โดยมองว่าหากจะผลิตแต่เส้นก๋วยเตี๋ยวอย่างเดียวจะไม่มีทางเพิ่มมูลค่าจากสินค้านี้ได้เลย ดังนั้น จึงคิดค้นการทำเครื่องปรุงอาหารที่ง่ายต่อการประกอบอาหาร อย่าง เครื่องปรุงผัดไทย ที่ในช่วงแรกทำเป็นผง ก่อนนำมาใช้ต้องนำไปละลายน้ำแล้วนำมาผัดกับเส้น ซึ่งไม่ค่อยสะดวกสบายเท่าใดนักสำหรับผู้บริโภค”
อย่างไรก็ดี ต่อมาตนจึงพัฒนาเป็นซอสสำเร็จรูปเพื่อให้สะดวกในการใช้งานได้ง่ายขึ้น สอดรับกับวิถีการใช้ชีวิตของคนในเมืองที่ต้องการความเร่งรีบ ภายใต้แบรนด์ ‘Thai Smile’ โดยที่ปัจจุบันมีสินค้ามากกว่า 10 รายการ และเป็นการส่งออกไปต่างประเทศทั่วโลก 99% ซึ่งกลายเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงการเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์อาหารได้เป็นอย่างดี
เมื่อการนำความรู้มาผสมผสานกับประสบการณ์ด้านธุรกิจมาผนวกเข้าด้วยกันทำให้บังเกิดผลตามที่คาดหมายไว้ นั่นคือการเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์จนเป็นผลสำเร็จ ดังนั้น ตนจึงมีแนวคิดที่จะคืนสิ่งที่ดีดังกล่าวเหล่านี้สู่ประเทศชาติบ้าง เพราะกว่าจะมีวันนี้ได้ ส่วนหนึ่งมาจากความช่วยเหลือตามนโยบายของภาครัฐที่ให้การสนับสนุนเอสเอ็มอี (SMEs) อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรม การให้ทุนสนับสนุน และความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ
“เมื่อโอกาสมาถึงตนจึงไม่รีรอที่จะนำความรู้ที่มีส่งต่อให้ผู้ประกอบการที่เข้ามาขอคำปรึกษาในเรื่องการเพิ่มมูลค่าแก่ผลิตภัณฑ์อาหารจนประสบความสำเร็จ”
วัธนกุล คือ ผู้ที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาแปรรูปอาหารเพื่อแจ้งเกิด เพราะมีความเชื่อว่าหากผลิตภัณฑ์อาหารยิ่งเก็บได้นานขึ้นโดยปราศจากสารที่เป็นอันตรายต่อร่างกายมากเท่าใด ก็ยิ่งทำให้ธุรกิจเติบโตและไปได้ไกลเท่านั้น ส่งผลให้ปัจจุบัน วัธนกุล กลายเป็นผู้ประกอบการธุรกิจรับจ้างผลิตสินค้าประเภทอาหาร (OEM) และเป็นODM (Original Design Manufacturer) ผู้ช่วยพัฒนา ปรับปรุงสูตรเดิม หรือสูตรใหม่ ตามหลักวิชาการอาหารเพื่อขยายตลาดให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ
รวมถึงยังเป็นอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของผู้ประกอบการที่เข้ามาใช้บริการจนสร้างรายได้จากการเพิ่มมูลค่าอาหารแตะหลักล้านบาทแทบทุกราย ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่จะกลายเป็นคนหนุ่มไฟแรง ขึ้นไปสู่ตำแหน่ง “อายุน้อยร้อยล้าน” ด้วยวัยที่ยังไม่ถึง 40 ปี
ทั้งนี้ จากความสำเร็จของผู้ประกอบการด้านการแปรรูปอาหารหลายรายกลายเป็นเครื่องการันตีถึงประสบการณ์ด้านการผลิตอาหาร และความรู้ด้านการตลาดที่สามารถวางแผนธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการที่มาว่าจ้าง โดยผู้ที่มีฝีมือทำอาหารรสเด็ด มั่นใจในรสชาติ
และต้องการจะไปได้ไกลกว่าการขายเป็นข้าวแกงหน้าร้าน หรือเปิดร้านอาหาร ด้วยการติดปีกขยับขยายธุรกิจไปสู่ต่างประเทศ วันนี้มีทางออกกับธุรกิจที่พร้อมปลุกปั้นผู้ประกอบการ SMEs ทางด้านอาหาร ที่เป็นมากกว่าโรงงานผลิต แต่พร้อมเติบโตไปพร้อมกับผู้ประกอบการ อาศัยประสบการณ์ตรงจากธุรกิจครอบครัวนานกว่า 60 ปี
โตไปพร้อมผู้ประกอบการ
วัธนกุล กล่าวอีกว่า จุดพลิกผันที่ทำให้ก้าวเข้ามาเป็นผู้รับจ้างผลิต (OEM) คือ มีผู้ประกอบการรายหนึ่งต้องการที่จะรักษาสูตรอาหารของคุณแม่ให้คงอยู่ด้วยเทคโนโลยีที่บริษัทมี ทำให้ตนคิดว่าหากไม่ช่วยเหลือก็อาจจะทำให้สูตรอาหารดั้งเดิมเหล่านี้สูญหายไปจากคนไทยได้ ดังนั้นจึงนำความสามารถที่มีคือเป็นทั้งนักวิจัย ผู้ผลิต และผู้ประกอบการ ช่วยต่อยอดความฝันให้แก่ผู้ประกอบการ
สำหรับการต่อยอดธุรกิจอาหารให้โกอินเตอร์นั้น ขอเพียงผู้ประกอบการมีความตั้งใจจริงที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ไปได้ไกลด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ส่วนตนจะบริหารจัดการธุรกิจของผู้ประกอบการตามงบประมาณที่ตั้งไว้ พร้อมช่วยวางแผนธุรกิจ (Business Plan) เพื่อทำตลาดเจาะกลุ่มเป้าหมายที่ตรงจุดได้ เพราะเชื่อว่าหากธุรกิจของผู้ประกอบการโต ตนเองก็จะโตไปด้วยกัน
“ตัวอย่างผู้ประกอบการที่ให้ผลิตสินค้าประเภทอาหาร ได้แก่ ไข่ขาวเปี่ยมคุณค่าทางโภชนาการพร้อมทาน FiNe (ฟินอี)แกงปูใบยี่หร่าคุณยายแมว น้ำต้มยำไม่ต้องปรุงเพิ่มแบรนด์เรือนงาม เป็นต้น”
ใส่นวัตกรรมเพิ่มมูลค่า
วัธนกุล กล่าวต่อไปอีกว่า เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตมากขึ้นไม่เว้นแม้แต่เรื่องอาหารการกินก็ต้องปรับตัว หากจะให้ถนอมอาหารด้วยการใส่สารกันบูดกันเสีย เพื่อให้เก็บได้นานขึ้นคงจะเริ่มล้าสมัยลงไปเรื่อยๆ แม้กระทั่งการแช่แข็งอาหาร ซึ่งเมื่อจะรับประทานก็ต้องนำเข้าไมโครเวฟ ก็เป็นทางเลือกลำดับท้ายๆ ของผู้บริโภค เพราะยุคนี้ต้องใช้ระบบสเตอริไลซ์ ทำการฆ่าเชื้อในอาหารทำให้มีความปลอดภัยต่อการบริโภคสูงสุด เพราะจุลินทรีย์ถูกทำลาย ไม่ก่อให้เกิดเชื้อโรค ทำให้เก็บได้นานขึ้นโดยไม่ต้องแช่เย็น โดยกรรมวิธีนี้ทำให้ผลิตภัณฑ์สามารถหลีกหนีคู่แข่งได้ด้วยนวัตกรรมที่ทันสมัยในราคาที่บริหารจัดการได้สำหรับการผลิตในปริมาณที่เรียกว่า SMEs
“คำว่าสะอาด ปลอดภัย สุขภาพ สวยงาม ป้องกันโรค ผู้บริโภคจะให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นการฉายภาพให้เห็นชัดเจนขึ้น โดยเชื่อมั่นว่าจะกลายเป็นเทรนด์ของธุรกิจอาหารในอนาคตอันใกล้ ผู้บริโภคจะคำนึงถึงอาหารแต่ละคำที่รับประทานเข้าไปต้องมีองค์ประกอบเหล่านี้อย่างครบถ้วน ซึ่งแนวทางที่จะทำให้ธุรกิจอาหารไปต่อได้นั้น ก็คงหนีไม่พ้นการใส่นวัตกรรม”