“Mr.Banker” แนะบริหารจัดการภายในแข็งแรงปูทางสู่ธุรกิจยั่งยืน
“อายุน้อยร้อยล้าน” คำจำกัดความที่ใครหลายคนถวิลหา เพราะนั่นหมายถึงการประสบความสำเร็จบนเส้นทางธุรกิจที่ตนเองทำอยู่ตามคำนิยามของโลกธุรกิจ ซึ่งมองเรื่องของรายได้ และผลกำไรเป็นองค์ประกอบสำคัญในการวัดผลของการดำเนินกิจการ
อย่างไรก็ดี บนความหอมหวานของคำจำกัดความที่ได้รับ อาจแฝงไว้ด้วยระเบิดระเบิดเวลาที่รอวันปะทุ หากผู้ประกอบการไม่ทันได้เตรียมการ หรือระมัดระวัง มัวแต่ชื่นชมกับความสำเร็จที่ได้รับมา แล้วเดินย่ำอยู่กับที่ไม่ได้มีการพัฒนาต่อยอด หรือหาแนวทางในการสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ
“สุรชัย กำพลานนท์วัฒน์” ผู้ชายที่คร่ำหวอดอยู่วงการทางด้านการเงิน และมีความคุ้นเคยกับผู้ประกอบการ “เอสเอ็มอี” (SMEs) เป็นอย่างดี จากประสบการณ์การทำงานที่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ (SME D Bank) และบริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด หรือเซ็นทรัลแล็บไทย เป็นต้น
ทั้งนี้ สุรชัย ยังได้เป็นผู้ให้กำเนิดเพจ Mr.Banker พื้นที่บนสังคมโซเชี่ยลเน็ตเวิร์กสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการคำปรึกษา รวมถึงข้อแนะนำที่ดีสำหรับการทำธุรกิจ และยังเป็นพื้นที่ให้เอสเอ็มอีได้เข้ามาสร้างเครือข่ายร่วมกัน เพื่อต่อยอดการทำธุรกิจ
ระบบบริหารจัดการภายในต้องแข็งแรง
สุรชัย ในฐานะ “Mr.Banker” บอกกับคอลัมภ์ “Startup” ว่า การที่สามารถประสบความสำเร็จจนถูกขนานนามว่าอายุน้อยล้านนั้น ต้องชื่นชมก่อนเลยว่าเป็นคนเก่ง แต่ประเด็นที่สำคัญมากกว่าก็คือการยืนระยะให้ได้ในระยะยาว จะต้องมีการบริหารจัดการภายในที่ดี เพราะการเติบโตอย่างรวดเร็ว ย่อมทำให้อาจจะหลงลืมวิธี หรือขั้นตอนการทำธุรกิจที่ถูกต้องตามแนวทางไปได้
สิ่งที่ตนเป็นห่วงสำหรับเอสเอ็มอีก็คือการบริหารจัดการภายใน (Black office) การทำระบบบัญชีหากไม่ได้ถูกวางให้เป็นระบบ หรือเป็นไปตามมาตรฐานตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะสามารถสร้างรายได้จนแตะถึงหลักร้อยล้าน หรือหลักพันล้านบาทก็มีโอกาสที่จะเจ๊งเหมือนกัน
“Mr.Banker จะสอน หรือแนะนำเรื่องดังกล่าวนี้มาโดยตลอด จะไม่เน้นว่าต้องทำธุรกิจให้มีรายได้หลักร้อยล้าน หรือพันล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นการซื้อแฟรนไชส์เข้ามาต่อยอด หรือสร้างธุรกิจด้วยตนเองจะต้องเริ่มจากการทำระบบภายในให้แข็งแรงก่อน การทำระบบบัญชี การทำเรื่องภาษีจะต้องครบ ซึ่งหมายความว่าจะต้องคิด หรือรู้ต้นทุนที่แท้จริงของธุรกิจ การวางราคา และรู้ค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม เราจะสอนมาตลอด”
แรงบันดาลใจอาจแฝงไว้ด้วยโทษ
Mr.Banker กล่าวต่อไปอีกว่า การสร้างแรงบันดาลใจถือว่าเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ แต่หากมองในอีกมุมหนึ่งที่กลับกันก็อาจจะมีโทษในตัวเองได้ โดยอาจจะเป็นการทำให้หลายคนหลงเชื่อ และพยายามผลักดันตนเองไปให้ถึงจุดดังกล่าวนั้น แต่อาจจะไม่รู้เลยว่ามีการซ่อนบางอย่าง ที่จะนำพาไปสู่ความล้มเหลวในระยะสั้นได้
“คนรุ่นใหม่หันหน้ามาทำธุรกิจเป็นของตนเองผ่านช่องทางออนไลน์กันมากมายในปัจจุบัน และสามารถสร้างรายได้หลักล้านได้แบบไม่ยากเย็นเท่าใดนัก แต่เท่าที่ทราบข้อมูลส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องของระบบการทำบัญชี หรือมีปัญหาเรื่องงบการเงิน”
อย่างไรก็ดี ต้องเรียนว่าที่เข้ามาปรึกษา Mr.Banker ซึ่งเป็นนิติบุคคล ส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องบการเงินแทบทุกราย เพราะเจ้าของกิจการไม่ได้มีการจดบันทึก เพราะฉะนั้น เรื่องนี้จะเป็นประเด็นที่สำคัญมากที่ต้องการจะแนะนำผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่กำลังจะก้าวเข้ามาให้วางระบบการบริหารจัดการภายในให้ดี เพื่อความยังยืนของธุรกิจ
เจาะตลาดธุรกิจที่เกี่ยวกับความจำเป็น
ส่วนประเด็นคำถามที่ว่าแนวโน้มการทำตลาดในปี 2564 จะเป็นอย่างไร หรือควรจะต้องทำอย่างนั้น ในความคิดเห็นของ Mr.Banker ยังคงมีความเกี่ยวกับปัจจัยเชิงลบที่จะเข้ามากระทบ ซึ่งมีหลากหลายปัจจัยมากต่อตลาดการค้าขาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับเอสเอ็มอีด้วยว่าจะมองจุดเสี่ยงของธุรกิจตนเองออกหรือไม่ หากเห็นแล้วสามารถหลบเลี่ยงได้ ก็มีโอกาสที่จะพบกับช่องทางการทำตลาด แม้ว่าอาจจะไม่ใช่ช่องที่ใหญ่มากนัก แต่ก็สามารถช่วยทำให้ธุรกิจอยู่รอด และไปต่อข้างหน้าได้
สิ่งที่ต้องการจะแนะนำก็คือ การอาศัยความเป็นผู้ประกอบการรายเล็ก มองเห็นช่องทางเล็กๆ และแทรกตนเองเข้าไปช่องเล็กของการทำตลาด โดยต้องอยู่ให้ได้ และไปต่อข้างหน้า ซึ่งต้องการให้วางเป็นเป้าหมายระยะสั้น เพราะปัจจัย หรือผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภายนอก อาจจะไม่ได้อยู่ไปตลอด หรือเป็นระยะเวลานาน โดยช่วงนี้ผู้ประกอบการจะต้องวางแผนระยะสั้นไม่เกิน 2 ปี ซึ่งจะต้องอยู่ให้ได้ เพื่อไปต่อในอนาคตข้างหน้า
ขณะที่ธุรกิจที่จะมีแนวโน้มที่ดี และมีโอกาสในปี 64 ในภาพรวมนั้น ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ธุรกิจที่น่าสนใจก็คือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความจำเป็นต้องใช้งานของผู้บริโภคทั้งหมด ส่วนธุรกิจที่อาจจะแย่ หรือซึมไปในระยะยาวคือ ธุรกิจที่เกี่ยวกับความต้องการของผู้บริโภค
“ต้องแยกให้ออกว่าธุรกิจนั้นมี 2 อย่าง คือ กลุ่มที่จำเป็นกับชีวิตประจำวัน กับชีวิตครอบครัว หรือกับความเป็นอยู่ และกลุ่มที่ตอบสนองความต้องการ หรือความอยาก หรือจะกล่าวก็คือ ธุรกิจที่เกี่ยวกับ Need กับ Want โดยหากเป็น Need ซึ่งหมายถึงความจำเป็น อย่างไรผู้บริโภคก็ต้องใช้จ่าย หากสามารถอยู่ในหมวดดังกล่าวนี้ได้ธุรกิจก็น่าจะไปได้ แต่หากเป็น Want ซึ่งหมายถึงความต้องการ ปัจจุบันผู้บริโภคก็จะลดกำลังซื้อลง”
ในสถานการณ์ที่เป็นแบบนี้ ของที่ไม่จำเป็นผู้บริโภคจะเลือกตัด หรือลด หรือยืดระยะเวลาการใช้จ่ายออกไปให้นานขึ้น เช่น เคยล้างรถทุกอาทิตย์ ก็อาจจะปรับเปลี่ยนเป็น 2-3 อาทิตย์ต่อครั้ง หรืออะไรที่สามารถตัดได้ก็จะถูกตัดออกไปเลยจากการใช้จ่าย เช่น หากจะซื้อของใหม่ ก็อาจจะเลือกใช้วิธีซ่อมของเดิมใช้ไปก่อน ภายใต้ความกดดันของเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว