จี้รัฐบูรณาการแก้ขยะพิษ

ดูเหมือนจำเลยในประเด็นข่าว “ไทย : ปลายทางนำเข้าขยะพิษ” ที่มีการนำเสนอผ่านสื่อกระแสหลักและสื่อโซเชียลมีเดีย ก่อนหน้านี้ จะถูกโยงให้เป็นปัญหาเฉพาะของกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ในฐานะ “ประตูบานแรก” ที่หากไม่ทำหน้าที่ตรวจจับอย่างเข้มงวดแล้ว โอกาสที่ไทยจะกลายเป็นประเทศปลายทางและแหล่งนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะอุตสาหกรรมจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากจีน
กระทั่ง กลายเป็นปัญหา “ขยะพิษระดับชาติ” ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็จะมีสูงทีเดียว!
ทั้งที่ความเป็นจริง ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน เริ่มจากรัฐบาลไทย ที่หากชัดเจนต่อปัญหานำเข้าขยะพิษ ก็ควรกำหนดนโยบายให้ชัดๆ เลยว่า จากนี้ไป ไทยควรจะวางตัวอย่างไรกับปัญหาขยะพิษ และควรต้องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อย่าง พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และของเสียอันตรายตามอนุสัญญาบาเซล หรือไม่? อย่างไร?
ขณะที่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายตัวนี้ ก็จะได้มีแนวทางการปฏิบัติและจัดการกับโรงงานอุตสาหกรรม ที่นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะอุตสาหกรรม ภายใต้ “ใบอนุญาต” ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งหลายครั้งพบว่า โรงงานเหล่านี้ทำตัวเป็น “นอมินี” แอบรับจ้างนำเข้าสินค้าอันไม่พึงประสงค์ให้กับโรงงานอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ไม่มีใบอนุญาต
ก่อนหน้านี้ นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพิ่งทำหนังสือชี้แจงกรณีปัญหาการนำเข้าขยะพิษ ตอนหนึ่งระบุว่า “ ผู้นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ต้องมีใบอนุญาตนำเข้าวัตถุอันตรายที่ดำเนินการตามขั้นตอนของอนุสัญญาบาเซล โดยจะออกใบอนุญาตให้เฉพาะโรงงานที่นำเข้ามาเป็นวัตถุดิบในโรงงานของตนเองเท่านั้น ไม่สามารถนำไปขายหรือจำหน่ายต่อให้ผู้อื่นหรือโรงงานอื่นได้ ทั้งนี้ ผู้ที่ลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์อาจมีการสำแดงข้อมูลอันเป็นเท็จต่อศุลกากร ดังเช่นเมื่อปี 2559 ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมร่วมกับรัฐบาลประเทศญี่ปุ่นตรวจจับและผลักดันขยะอิเล็กทรอนิกส์กลับไปยังประเทศต้นทาง โดยตรวจพบว่ามีการสำแดงข้อมูลการนำเข้าที่เป็นเท็จต่อเจ้าหน้าที่ ”
สำหรับกรมศุลกากรที่ถูกพาดพิงกรณีปล่อยให้มีการนำเข้าขยะพิษ แม้ นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร จะทุ่มเทและตั้งใจทำงาน แต่เพราะติดที่กลไกหรือหน่วยงานภายใน ซึ่งทำหน้าที่การหาข่าวและการป้องกันเหตุ มีความเป็นเอกเทศมากเกินไป จนบางครั้งการทำงานไม่อาจจะเดินเครื่องได้เต็มประสิทธิภาพ กลายเป็นความลำบากใจ และไม่ได้เนื้องานอย่างที่คาดหวังสักเท่าใดนัก
ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่ง กับบริบทที่กรมศุลกากรต้องอำนวยความสะดวกให้กับผู้นำเข้า เพื่อไม่ให้การนำเข้าสินค้าแต่ละวันที่มากถึงกว่า 10,000 ตู้คอนเทนเนอร์ กลายเป็นปัญหา “คอขวด” คั่งค้างอยู่ในบริเวณพื้นที่ท่าเรือ และสิ่งที่พวกเขาทำได้มากที่สุด คือ การสุ่มตรวจ ซึ่งแน่นอนว่าระดับการตรวจสอบชั้นนี้ เจ้าหน้าที่ภาคสนาม ได้บูรณาการตรวจสอบ ด้วยการประเมินความเสี่ยงในระดับส่วนกลางและระดับพื้นที่เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งนอกจากขยะพิษแล้ว ยังอาจมียาเสพติด ของผิดกฎหมาย อาวุธสงคราม และอื่นๆ อีกด้วย
แม้การตรวจสอบหน้างานภายใต้เวลาอันจำกัดในบางครั้ง อาจเกิดปัญหาความผิดพลาดและบกพร่องต่อการตรวจปล่อยสินค้ากันบ้าง กระนั้น กรมศุลกากร ในภาวะที่เครื่องยนต์และกลไกตัวนี้ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ก็จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรมตามไปตรวจสอบถึงปลายทางของตัวปัญหาอีกครั้ง หากพบความผิดปกติในภายหลัง
ส่วนข้อเสนอให้กรมศุลกากรนำเครื่องมือและอุปกรณ์ทันสมัยมาใช้ ควบคู่กับการเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ตรวจจับ รวมถึงเข้มงวดต่อการตรวจสอบตู้สินค้าทุกตู้ ที่แม้จะสร้างปัญหาความล่าช้าในการตรวจปล่อยสินค้าไปบ้างนั้น ข้อเท็จจริงคือ สิ่งนี้ไม่น่าจะก่อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย เพราะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ เนื่องจากปัจจุบัน กรมศุลกากรมีเครื่องมือและอุปกรณ์เพียงพออยู่แล้ว แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากการใช้ที่ยังไม่เต็มประสิทธิภาพ อีกทั้งการเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ในภาวะที่การควบคุมและการบริหารจัดการภายในยังไม่ได้รับการปรับปรุง ก็จะไม่ส่งผลดีต่อทุกฝ่ายเช่นกัน
ดังนั้น ทางออกของเรื่องนี้ ไม่เพียงการกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกของผู้นำเข้าสินค้าในกลุ่มเสี่ยง หากแต่ภาครัฐเอง ตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงระดับปฏิบัติการ ก็ควรหันหน้ามาทบทวนและเร่งสรุปบทเรียนต่อการกำหนดนโยบายป้องกันการนำเข้าขยะพิษ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขยะอุตสาหกรรม และสินค้านำเข้าที่ไม่พึงประสงค์อื่นๆ อย่างเป็นรูปธรรมให้มากกว่านี้ และต้องเร่งดำเนินการโดยเร็วที่สุด!.