คณะราษฎร (ไม่) แผ่ว บิ๊กตู่ รอด?
จับสัญญาณม็อบ จับสัญญาณรัฐบาล เมื่อฝ่ายรัฐบาล ประเมินว่าม็อบแผ่ว หรือนั่นจะเป็นทางรอดของ บิ๊กตู่
การชุมนุมใหญ่ครั้งล่าสุดของกลุ่มราษฎร เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าม็อบเริ่มแผ่วลง โดยมีจุดที่สามารถประเมินอย่างชัดเจนคือจำนวนผู้เข้าร่วมการชุมนุม
ผู้เข้าร่วมการชุมนุมเมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 พ.ย. ค่อนข้างจะบางตาเมื่อเทียบกับการชุมนุมหลายครั้งที่ผ่านมา เพราะโดยปกติแล้วในการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มคณะราษฎร จะมีมวลชนมาร่วมการชุมนุมชุมจนแน่นพื้นที่ตั้งแต่ก่อนเวลานัดหมาย
แต่กับการชุมนุมเมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา พบว่า แม้เลยเวลานัดหมายมา 2 -3 ชั่วโมงแล้ว แต่คนก็ยังไม่แน่นพื้นที่
สังเกตได้จากบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันนั้น ที่มีผู้ชุมนุมหนาแน่นเพียงด้านเดียว คือด้านฝั่งท้องสนามหลวง แต่อีกด้านคือฝั่ง สะพานผ่านฟ้าลีลาศ มีคนค่อนข้างบางตา
อะไรทำให้ม็อบแผ่ว
สำหรับสาเหตุที่ม็อบแผ่วสามารถประเมินได้ 3 ข้อดังนี้
1.ความเหนื่อยจากการชุมนุมในเดือน ต.ค.
เพราะในเดือน ต.ค. ถือว่าเป็นช่วงพีคที่สุดของม็อบคณะราษฎร โดยมีการชุมนุมเกือบทุกวัน เริ่มชุมนุมใหญ่ในวันที่ 14 ต.ค. และลากยาวเรื่อยมากระทั่งถึงต้นเดือน พ.ย. และการชุมนุมแต่ละครั้ง ต้องถือว่ามีคนร่วมจำนวนมาก แม้จะมีการนัดหมายในระยะกระชั้นชิด
ดังนั้น การนัดหมายในการ พ.ย.จึงไม่แปลกที่จะมีคนมาน้อย เพราะถือว่าเลยจุดสูงสุดมาแล้ว อีกอย่างแกนนำม็อบเอง ก็ยังไม่ปรับวิธีการเคลื่อนไหวใหม่ๆ
2.ข้อเสนอไม่ได้รับการตอบสนอง
ไม่ว่าจะเป็นประเด็น ให้นายกรัฐมนตรีลาออก การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การปฏิรูปสถาบันฯ ล้วนยังไม่ได้รับการตอบสนองทั้งสิ้น
เหล่านี้บั่นทอนจิตใจผู้เข้าร่วมชุมนุมอยู่พอสมควร เหมือนกับว่าลงแรงไปแล้ว แต่ยังไม่ได้อะไรกลับมาเลย
3.แกนนำคนสำคัญหลายคนเก็บตัว
ไม่ว่าจะเป็น เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ , อานนท์ นําภา , ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง ฯลฯ ล้วนเว้นระยะในการเคลื่อนไหว เนื่องจากยังอยู่ในเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว ทำให้การปลุกระดมมวลชนดูเหมือนไม่ค่อยจะมีพลังเหมือนช่วงแรกเริ่ม
ด้วยความที่ม็อบดูแผ่ว อ่อนกำลังลง จึงดูเหมือนรัฐบาล จะคุมเกมเหนือกว่า ซ้ำยังมีม็อบเสื้อเหลืองคอยหนุนหลัง นั่นก็ยิ่งทำให้ฝั่งรัฐบาลสามารถอ้างได้ว่า มีผู้ชุมนุมอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมของกลุ่มราษฎร
ด้วยเหตุนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จึงจะไม่ลาออกอย่างแน่นอน โดยประเมินแล้วว่า ม็อบไม่มีพลังเพียงพอ ส่วนเกมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อคุมเกมเหนือกว่า ก็จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ เล่นเกมยื้อแก้ไขรัฐธรรมนูญได้โดยสะดวก เหมือนกับตอนนี้ที่มีการตี 2 หน้า คือ แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะยืนยันสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ ส.ส.พลังประชารัฐ(พปชร.)และ ส.ว.ก็แสดงออกอย่างจัดเจนว่าไม่สนับสนุนให้มีการแก้ไขในหมวดว่าด้วย ส.ว.
นายอานนท์ นำภา แกนนำคนสำคัญ โพสต์ข้อความว่า รัฐพยายามบอกว่าราษฎรอ่อนแรงลง จุดสูงสุดของการชุมนุมยังไม่เกิด เพราะเงื่อนไขและปัจจัยยังไม่สุกงอม ซึ่งเราไม่ได้รอการสุกงอม แต่เราจะขย่มไปเรื่อยๆ เมื่อยก็พัก และก็มาขย่มอีกครั้ง
สำหรับปัจจัยที่จะทำให้ม็อบไล่ “บิ๊กตู่” กลับมาขยายใหญ่อีกครั้ง สามารถวิเคราะห์ได้ดังนี้
1.เมื่อไม่ได้การตอบสนองเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะมีการประชุมร่วมของรัฐสภาจะเพื่อรับหลักการแก้ไข ในวันที่ 17-18 พ.ย. หากปรากฏว่ามีการตีตกร่างแก้ไข ก็จะเป็นการปลุกม็อบได้เป็นอย่างดี
2.แกนนำถูกทำร้าย อุ้มหาย จะเห็นว่าเรื่องนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะทราบดีว่า หากเกิดอะไรขึ้นกับแกนนำและผู้ชุมนุม นั่นจะเป็นต้นเหตุให้ม็อบบานปลาย
3.มีการสลายการชุมนุมขั้นรุนแรง การสลายการชุมนุมที่บริเวณแยกปทุมวันเมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านา ก่อให้เกิดการชุมนุมแบบดาวกระจาย 5 จุดทั่วกรุงเทพ และมีการชุมนุมในลักษณ์ดังกล่าวเรื่อยมาตลอดเดือน ต.ค.
4.ความโปร่งใสของการเลือกตั้งท้องถิ่น ต้องยอมรับว่าในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 ผลการเลือกตั้งไม่ได้สร้างความเชื่อมั่นต่อองค์กรกลางอย่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ซ้ำยังมีข้อครหาอยู่ในความสงสัยของของประชาชนหลายประเด็น ดังนั้น หากการเลือกตั้ง อบจ.ในวันที่ 20 ธ.ค.ไม่มีความไม่โปร่งใส ก็จะเพิ่มความชอบธรรมในการปลุกม็อบได้เป็นอย่างดี
ส่วนแนวทางการแก้ไขสถานการณ์ของรัฐบาลหลังจากนี้สามารถวิเคราะห์ ดังนี้
1.สร้างผลงาน การสร้างผลงานให้ปรากฏสู่สายตาประชาชน เป็นสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องเร่งทำ เมื่อประเมินว่าม็อบอ่อนกำลังอยู่ หากใช้โอกาสนี้มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ก็จะสามารถก้าวผ่านช่วงเวลาที่อยากลำบากได้ ทว่าหากอยู่โดยไม่ผลงาน มีแต่ข่าวการกู้เงิน รัฐบาลย่อมอยู่อย่างลำบากเป็นธรรมดา
2.ประชาสัมพันธ์ พล.อ.ประยุทธ์ ส่งการแล้ว ให้กระทรวงและหน่วยงานต่างๆ เร่งประชาสัมพันธ์ผลงานของรัฐบาล โดยให้มีการย่อยข้อมูลเพื่อความเข้าใจง่าย เพราะรัฐบาลใหม่นี้ ถูกโจมตีว่านอกจากการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 แล้ว ก็ไม่มีผลงานอื่นเลย
3.เกาะกระแสปรองดอง แนวทางการสร้างปรองดอง เป็นแนวทางหนึ่งทางในการยื้อเวลาของรัฐบาล โดยรัฐบาลโยนความขัดแย่งทางการเมืองไปให้สภารับผิดชอบ ซึ่งจะทำให้รัฐบาลอ้างได้ว่า มีกระบวนการหาทางออกจากปัญหา