ม.44 เปิดตำแหน่งพิเศษ รอใครมานั่ง !!

ม.44 หรือ “มาตรา 44” อำนาจของหัวหน้า คสช. ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับปี 2557 ถูกกล่าวขวัญถึงตั้งแต่ ยังเป็นร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว จนมาถึงวันนี้ที่ คสช. เข้ามาบริหารกว่า 2 ปี
มาตรานี้ ระบุว่า “ ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจําเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอํานาจสั่งการ ระงับยับยั้ง หรือกระทําการใด ๆ ได้ ไม่ว่าการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคําสั่งหรือการกระทํา รวมทั้งการปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าว เป็นคําสั่ง หรือการกระทํา หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด ทั้งนี้ เมื่อได้ดําเนินการดังกล่าวแล้ว ให้รายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว ”
ฤทธิ์เดชของ ม. 44 สำแดงพลังออกมาเป็นระยะในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งใช้เป็นกฎหมาย แก้กฎหมาย ใช้บริหารจัดการ และแต่งตั้งโยกย้ายที่ส่วนใหญ่จะเป็น ข้าราชการประจำ ข้าราชการการเมือง นักการเมือง ไม่ว่าจะตำแหน่ง บิ๊กใหญ่ บิ๊กน้อย หรือไม่บิ๊ก
ถ้าเป็นเคสใหญ่ๆ เห็นจะเป็นการ ถอดยศ “ ทักษิณ ชินวัตร ” จาก เหลือเพียง “ นายทักษิณ ” เด้ง “ ชนสวัสดิ์ อัศวะเหม ” พ้นเก้าอี้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ และ เด้ง “ ชายหมู ” ” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ” พ้นจากเก้าอี้ผู้ว่า กทม. แต่ละชื่อล้วนแล้วก็ซี๊ดซ๊าดกันทั้งนั้น
ซึ่งหลายคนคงมีคำถามในใจว่า บิ๊กตู่ ใช้อำนาจ ม.44 ด้วยตัวเองคนเดียวหรือไม่ คำตอบที่ได้คือ ไม่ใช่
เพราะที่มาของการใช้อำนาจ ม.44 ต้องย้อนไปยุคแรกๆ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หลังรัฐประหารใหม่ๆ มีการแต่งตั้ง รองหัวหน้าคสช. แต่ละฝ่ายขึ้นมากำกับงานแต่ละด้านจำนวน 6 ฝ่าย
1.ฝ่ายความมั่นคง 2.ฝ่ายเศรษฐกิจ 3.ฝ่ายสังคมจิตวิทยา 4.ฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 5.ฝ่ายกิจการพิเศษ และ 6.ส่วนงานขึ้นตรง หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ซึ่งแต่ละฝ่ายจะดูแลกระทรวงและหน่วยงานในขอบข่ายงานของตัวเอง ที่นอกจากดูแลแล้วยังมีหน้าที่ “ เอ็กซเรย์ ” สิ่งผิดปกติในหน่วยงาน ทั้งระบบงานและบุคคล ก็จะรายงานกลับมาที่ประชุม คสช. และหัวหน้า คสช. ให้ดำเนินการ
การดำเนินการในทีนี้ก็จะเป็นการใช้อำนาจในมาตรา 44 เป็นทางเลือกอย่างที่เห็น
และเมื่อ คสช.ตั้งไข่ได้ กลายสภาพเป็นรัฐบาล ที่ทำงานบริหารประเทศผ่านคณะรัฐมนตรี ก็ปรับโฉมแบ่งงานใหม่ จากหัวหน้าฝ่ายทั้ง 6 ฝ่าย ของ คสช. เป็นรองนายกรัฐมนตรี 6 คน ในแต่ละด้าน โดยมีรัฐมนตรีแต่ละกระทรวง มีหน้าที่ช่วย “เอ็กซเรย์ ” กระทรวงของตัวเอง กลับมายังรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแล
เพื่อเสนอเรื่องหรือรายงานให้ “ พลเอกประยุทธ์ ” ทราบ และใช้อำนาจตาม ม.44 ดำเนินการ
ดังนั้นการใช้อำนาจ ม.44 ในรอบสองปีที่ผ่านมาของหัวน้าคสช. ก็ใช้รูปแบบเดียวกันไม่ว่าจะช่วงเป็นคสช. หรือ คสช. ที่สุดท้ายผลลัพธ์ก็ไม่ต่างกัน
อย่างล่าสุด “ บิ๊กตู่ ” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ใช้ ม.44 เด้งสายฟ้าแล่บ “ 3 บิ๊ก ” ในสํานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. ประกอบด้วย 1.น.ส.ปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการ สสว. 2. นายชาวันย์ สวัสดิ์-ชูโต รองผู้อำนวยการ สสว. และ 3. นางสาวอิสรา ภูมาศ ที่ปรึกษา สสว.
จะบังเอิญหรือไม่ทราบ ที่การเด้งรอบนี้มีคนตระกูล “ ชินวัตร ” ซึ่งเป็นหลานสาวของอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร รวมอยู่ด้วย จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการกลั่นแกล้งตระกูลนี้อีกแล้วอย่างนั้นหรือ
“ เหตุผลในการโยกย้ายเพื่อประสิทธิภาพในการทำงาน ไม่อยากให้มีการแบ่งพวกแบ่งฝ่ายในองค์กร ได้ให้เวลามาแล้วถึง 2 ปี และใน สสว. มีอีกหลายอย่างที่ต้องพัฒนาให้เร็ว ” นี่คือคำตอบของบิ๊กตู่
ก่อนที่จะปรี๊ดแตกอีกรอบ เมื่อถูกผู้สื่อข่าวรุมถามว่าการโยกย้ายครั้งนี้เกี่ยวกับการเมืองหรือไม่
“ นามสกุลอะไรแล้วเป็นอย่างไร นามสกุลนี้ทำถูกได้ ทำผิดไม่ได้หรือ ผมก็เซ็นออกคำสั่งไป ไม่ได้สนใจว่านามสกุลอะไร ”
กลายเป็นวาทกรรมนำไปสู่การพาดหัวข่าว “ นามสกุลนี้ทำผิดไม่ได้หรือ ” ก็คงไม่มีใครตอบได้ว่า บังเอิญหรือไม่ที่เด้งนามสกุลชินวัตร
เพราะเบื้องหลังของการเด้ง 3 บิ๊ก สสว. ที่มี “ น.ส.ปณิตา ชินวัตร ” หลานสาวของทักษิณรวมอยู่ด้วยนั้น มาจาก คสช.พบข้อมูลว่า มีการเดินทางไปไปพบกับ “ ทักษิณ ” ในการนำคณะผู้ประการเอสเอ็มอีไทย จำนวน 40 คน ไปร่วมกิจกรรมการเจรจาการค้าและงานแสดงสินค้าและบริการที่ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และกรุงมัสกัต รัฐสุลต่านโอมาน
เพราะต้องไม่ลืมว่า รัฐบาลและคสช. มีโปรเจคใหญ่ในการสนับสนุนเอสเอ็มอีให้มีความยั่งยืน มีการคิดโครงการและเทงบประมาณลงไปจำนวนไม่น้อย พอหน่วยงานที่เป็นกลไกหลัก แต่กลับแอบไปเจอะเจอกับคนที่ไม่อยากให้เจอจึงเป็นเรื่องขึ้นมา
แต่เรื่องที่เหนือกว่านามสกุลของคนที่โดนเด้งในรอบนี้ ถ้าจะให้เห็นภาพในอนาคตมากขึ้น อยากย้อนกลับไปอ่านคำสั่งคสช.ที่ 68/2559 ให้ชัดๆสักรอบ ก็อาจจะเห็นอะไรที่มากกว่านามสกุล
เพราะคำสั่งนี้เป็นเรื่อง “ มาตรการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานอื่นของรัฐ และการกําหนดกรอบอัตรากําลังชั่วคราว ”
ที่เนื้อหาระบุในข้อ 1 ของคำสั่งว่า
“ ให้มีกรอบอัตรากําลังชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษในสํานักนายกรัฐมนตรี จํานวนห้าสิบอัตรา เพื่อรองรับการบรรจุและแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งไม่เป็นข้าราชการ ทั้งนี้ ไม่ว่ามีตําแหน่งหน้าที่ใดในรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐซึ่งเป็นนิติบุคคลและไม่เป็นส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ โดยไม่ขาดจากอัตราเงินเดือน ค่าจ้าง เงินอื่น และสิทธิประโยชน์เดิมที่ได้รับอยู่ โดยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวไปปฏิบัติหน้าที่อื่นในสํานักนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะหมดระยะเวลาตามสัญญาจ้าง หรือพ้นจากตําแหน่งโดยเหตุอื่น หรือนายกรัฐมนตรีจะมีคําสั่งเป็นประการอื่น “
ส่วนที่อยากไฮไลท์ให้เห็นคือ ข้อความที่ว่า “ ให้มีกรอบอัตรากําลังชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษในสํานักนายกรัฐมนตรี จํานวนห้าสิบอัตรา ”
แล้วขยับสายตามาอ่านต่อในข้อ 2 ที่เขียนขยาย 50 อัตรานั้นมีชื่อตำแหน่งว่า “ เจ้าหน้าที่ของรัฐประจําสํานักนายกรัฐมนตรี ” !!!
เรียกว่า “ 3 บิ๊ก สสว.” เป็น 3 คนแรก ที่ได้รับตำแหน่งที่เปิดใหม่ “ เจ้าหน้าที่ของรัฐประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ” ที่เปิดตำแหน่งไว้ 50 เก้าอี้
จึงเหลืออีก 47 เก้าอี้ ที่ว่างพอที่จะรับการโยกย้ายในอนาคตที่อาจจะไม่นานเกินรอ 47 คนนี้มาจากไหน?? นั่นคือคำถามต่อไป
คนที่จะตอบได้คงหนีไม่พ้น “ ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ” หรือ ศอตช. ที่มี พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา เป็นผู้อำนวยการศูนย์
เพราะต้องไม่ลืมว่าภารกิจหลักของ ศอตช. คือการ “ เอ็กซเรย์ ” การทุจริตและประพฤติมิชอบใน หน่วยงานทุกหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ส่วนท้องถิ่น แล้วเสนอมายัง พลเอกประยุทธ์ให้ดำเนินการ
สิ่งที่น่าสนใจที่ พลเอกไพบูลย์ ให้สัมภาษณ์เมื่อไม่นานมานี้ เห็นจะเป็นกรณีการตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าว
“ ความคืบหน้าการตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐทั้งระดับนโยบาย ระดับปฏิบัติการและเอกชนที่เกี่ยวข้องในโครงการรับจำนำข้าวในส่วนความเสียหายอีกร้อยละ 80 หรือวงเงิน 1.42 แสนล้านบาท ภายหลังจากการตรวจสอบขณะนี้พบว่ามีผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด 6,000 ราย ซึ่งได้แบ่งออกเป็นสองกลุ่มเป็นกลุ่มนโยบายและกลุ่มปฏิบัติการ ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า ทั้ง 6,000 คน จะมีส่วนในการรับผิดชอบ แต่เป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยจะต้องพิจารณาลงรายละเอียดว่าใครต้องเป็นผู้รับผิดบ้าง ”
“ บิ๊กต๊อก ” สัมภาษณ์แบบนี้ ทำเอาหลายคนที่เข้าประชุมในวงประชุมที่เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวในยุคที่ผ่านมาผวากันถ้วนหน้า
แต่แน่นอนว่าสำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งอยู่ในรั้วทำเนียบรัฐบาล คงไม่มีสถานที่ใหญ่โตมากพอที่จะรองรับ 6,000 คน เข้ามานั่งทำงาน
แต่มีการประเมินและพูดกันในวงในของศอตช.ว่า อย่างน้อยๆบิ๊กข้าราชการระดับหัวแถว ที่เข้าข่ายทุจริตตามที่ ศอตช.ตรวจพบ อาจจะถูกเชิญมานั่งในตำแหน่งพิเศษที่ยังว่างอีก 47 ตัวนี้ก็เป็นได้
ต้องห้ามกระพริบตานับจากนี้ไป!!!