“หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์”ทางออกเสริมแกร่งฐานะกองทุน
“ความเชื่อมั่น”จากประชาชนเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของสถาบันการเงิน เพราะหากเมื่อใดที่ประชาชนหรือผู้ฝากเงินขาดความมั่นใจจะทำให้สถาบันการเงินนั้น สั่นคลอนหรือล้มลงได้
การมีฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่สถาบันการเงินต้องทำให้ได้
ขณะที่เศรษฐกิจปัจจุบันยังชะลอตัวอย่างต่อเนื่องและยังไม่มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้ในระยะเวลาอันใกล้ หรือภายในปีนี้ สถาบันการเงินเองก็เป็นภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอของเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิค-19 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะหลังมาตรการช่วยเหลือของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ครบกำหนดเมื่อวันที่ 22 ต.ค. ที่ผ่านมา ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าต้องถูกกระทบ ซึ่งหมายถึงหนี้ NPL ของสถาบันการเงินจะเพิ่มสูงขึ้น และจะมีผลต่อความแข็งแกร่งของฐานะเงินกองทุนของธนาคาร
ต้องยอมรับว่าแนวทางการเพิ่มความแข็งแกร่งของสถาบันการเงิน มีหลายแนวทาง เช่นการเพิ่มทุนจดทะเบียน ซึ่งจะกระทบต่อราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนการระดมเงินฝากแม้อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันจะอยู่ในระดับต่ำแต่การปล่อยสินเชื่อที่ยังไม่ฟื้น ทำให้การระดมเงินฝากจะเป็นภาระกับธนาคาร ขณะที่การออกตราสารหนี้ หรือการหาพันธมิตรทางธุรกิจในภาวะปัจจุบันถือว่ามีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับการตอบรับจากผู้ลงทุน
“หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์” (Perpetual Bond) จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในขณะนี้ เนื่องจาก
–เป็นหุ้นกู้ที่ไม่มีกำหนดวันไถ่ถอน สามารถถือครองได้ตลอดกาลจนกว่าบริษัทจะล้มเลิกกิจการหรือบริษัทใช้สิทธิ์ไถ่ถอนล่วงหน้า และใกล้เคียงกับลักษณะของตราสารทุน
-การลงทุนใน Perpetual Bond ส่วนใหญ่จะมีกำหนดให้ผู้ออกมีสิทธิไถ่ถอนคืนก่อนกำหนดในช่วง 5 ปี เพราะยังสามารถนับเป็นทุนได้ แต่หากเลยเวลา 5 ปี จะถูกนับเป็นหนี้ ดังนั้นผู้ออกมักจะไถ่ถอนคืนเมื่อครบ 5 ปี เพื่อให้เกิด อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity Ratio) เพิ่มขึ้น
-เป็นหุ้นกู้ที่มีเงื่อนไขที่สามารถเลื่อนการจ่ายดอกเบี้ยได้แม้บริษัทจะมีกำไรก็ตาม
ปัจจุบันเริ่มเห็น ธนาคารพาณิชย์ มีการตื่นตัว ในการสะสมเงินกองทุน เพื่อรักษาความแข็งแกร่งให้กับธนาคารในอนาคต เช่น ธนาคารกรุงเทพ ได้ประกาศออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิ หรือ หึ้นกู้ชั่วนิรันดร์ ที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศ ซึ่งนับเป็นตราสารทางการเงิน ที่นับเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 วงเงิน 750 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 2.4 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้รองรับความไม่แน่นอนที่จะมาจากโควิด-19 และรองรับหนี้เสียที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า
ตามด้วย ธนาคารกสิกรไทย มีการประกาศออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ ให้กับนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งนับเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 มูลค่า 500 ล้านดอลลาร์ เพื่อรองรับการขยายธุรกิจของธนาคารในอนาคต อีกทั้งการออกระดมทุนในปัจจุบันถือเอื้ออำนวย และช่วยปรับโครงสร้างทางการเงินของธนาคารให้มีความเหมาะสมมากขึ้น แม้ปัจจุบันธนาคารจะมีเงินกองทุนเพียงพอในการดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยหลังการเสนอขายหุ้นกู้ ทำให้เงินกองทุนขั้นที่1 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 16%จาก ไตรมาส2ที่อยู่ที่ 15% และเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(BIS) อยู่ที่ 18%
ส่วนธนาคารกรุงไทยธนาคารรัฐอันดับ1 ของไทย แม้ปัจจุบันจะยังไม่ดำเนินการ แต่ผู้บริหาร นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ก็ไม่ปฎิเสธถึงแนวทางการออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับเงินกองทุน
“เราได้เตรียมความพร้อมตลอดเวลา เพราะปัจจุบันสถานการณ์ความไม่แน่นอนมีอยู่สูง เพราะเรายังไม่รู้ว่าโควิด-19 จบเมื่อไหร่ ซึ่งแนวทางการเพิ่มเงินกองทุนสามารถทำได้หลายแนวทาง ธนาคารก็มีการศึกษาทุกแนวทาง ตามเกณฑ์ของธปท.ที่เปิดให้ธนาคารพาณิชย์สามารถทำได้ ”
แม้ผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์จะน่าสนใจ แต่นักลงทุนไทยคงจับต้องได้ยาก เนื่องจากผู้ลงทุนกลุ่มเป้าหมายที่สถาบันการเงินให้ความสนใจจะเป็นนักลงทุนต่างชาติ เหตุผลสำคัญเนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความคุ้นเคย ทำให้การเสนอขายจะได้กระแสตอบรับที่ดีจากนักลงทุน ขณะที่นักลงทุนไทยยังอาจมีคำถามเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น รวมถึงความคุ้มค่าในการลงทุน