รู้จัก วปส : เครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ ตอนที่ 1
“ คิดและทำ โดยไม่ต้องมีความรู้สึกว่าเราดี เด่น ดัง อะไรเลย เพียงแต่รู้สึกว่าเราเป็นผู้มีประโยชน์ที่สุดคนหนึ่ง นั่นแหละถูกต้องและเป็นสุขแท้ ” ปณิธาน วปส. ตามรอยทางของท่านพุทธทาส
รู้จัก วปส : เครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้และเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กรมศุลกากร
ทำไมต้องมี วปส.
ด้วยระยะเวลาในช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมา กรมศุลกากรได้รับแรงกดดันจากกระแสข่าวต่าง ๆ ที่กล่าวถึงกรมศุลกากรในแง่ลบ ทั้งทางด้านการจัดเก็บภาษีอากรที่ไม่เข้าเป้า การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรที่หละหลวม แม้แต่การถูกพาดพิงจากหน่วยงานอื่นว่าเจ้าหน้าที่อาจมีส่วนเกี่ยวพันในการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการในการหาช่องทางการทุจริตในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งจะเห็นได้จากข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ สื่อต่าง ๆ หรือข่าวสารทางสังคมออนไลน์ที่ส่งต่อถึงกันอย่างรวดเร็ว เช่น ข่าวการทุจริตเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ข่าวรถยนต์หรูที่มีการสูญหายออกจากคลังฯ การตรวจปล่อยรถยนต์ราคาต่ำ จนสำนักข่าวบางสำนักจัดทำเป็นมหากาพย์ทางสื่อออนไลน์เพื่อให้น่าติดตาม ทำให้กรมศุลกากรตกเป็นจำเลยของสังคมและเป็นที่จับตามองจากหน่วยงานภายนอกทั้ง DSI ปปท. ปปช. สตง. ทำให้มีการเข้ามาตรวจสอบกรมศุลกากรมากขึ้น
ตามติด วปส.
จากสถานการณ์อันตึงเครียดต่าง ๆ ที่รุมเร้ากรมศุลกากร ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2556 ท่านอธิบดีเบญจา หลุยเจริญ มีความเห็นว่า กรมศุลกากรควรจะมีทีมงานในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประเมินสถานการณ์ของกรมศุลกากรให้ทันต่อสภาพการณ์ในปัจจุบัน และต่อมาในปี พ.ศ. 2557 ท่านอธิบดีราฆพ ศรีศุภอรรถ จึงได้จัดตั้ง “คณะทำงานวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน” เป็นครั้งแรก โดยมีชื่อย่อ ว่า “วปส.” ตามคำสั่งกรมศุลกากรที่ 25/2557 ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2557 เพื่อทำหน้าที่ในการระดมความคิด วิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ความเสี่ยงในมิติต่าง ๆ เพื่อหาแนวทางในการพิจารณาแก้ไข ควบคุมมิให้เกิดผลกระทบต่อกรมศุลกากร โดยเฉพาะใน 2 มิติหลัก คือ การจัดเก็บรายได้ และการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี จนถึงสมัยท่านอธิบดีสมชัย สัจจพงษ์ คณะทำงาน วปส. ยังคงได้รับความไว้วางใจให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และในปัจจุบันท่านอธิบดีกุลิศ สมบัติศิริ ได้ยกระดับให้เป็นคณะกรรมการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานตามคำสั่งกรมศุลกากรที่1057/2558 ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2558 โดยท่านอธิบดีได้ให้ความสำคัญและให้เกียรติเป็นประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการ
แนวทาง/มาตรการ วปส. ที่สำคัญ ได้แก่
1.ความเสี่ยงจากการทุจริตขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และการขอเงินชดเชยค่าภาษีอากร
ภาพลักษณ์
คณะกรรมการ วปส. ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อทำการวิเคราะห์ข้อมูลความเสี่ยงผู้ส่งออก โดยพิจารณาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นทุนจดทะเบียน สถานประกอบการ กรรมการนิติบุคคล ประเภทสินค้า ความไม่สอดคล้องของราคาและน้ำหนักสินค้า และมีหนังสือแจ้งหน่วยงานให้เพิ่มความระมัดระวังและเข้มงวดในการตรวจสอบการส่งออก พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือในเชิงรุกในการแจ้งข้อมูลผู้ส่งออกที่มีความเสี่ยงให้กรมสรรพากร และเพื่อสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ว่าสินค้าได้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักรจริง จึงได้เสนอ“มาตรการควบคุมของที่มีความเสี่ยงด้านการนำของออกไปนอกราชอาณาจักรทางด่านศุลกากร” ตามหนังสือ สำนักผู้บริหาร ที่ กค 0501(ส)/ 7585 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2559 โดยให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรถ่ายรูปสินค้าหรือตู้คอนเทนเนอร์ พร้อมยานพาหนะขณะข้ามแดนออกนอกราชอาณาจักร เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันการส่งออกสินค้าไปนอกราชอาณาจักร
2.ความเสี่ยงจากการนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป
ภาพลักษณ์ รายได้
สินค้านำเข้าประเภทรถยนต์สำเร็จรูปเป็นสินค้าที่มีอัตราภาษีอากรสูง มีความเสี่ยงต่อการจัดเก็บอากรศุลกากร ภาษีสรรพสามิต ภาษีเพื่อมหาดไทย และภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงเป็นเหตุจูงใจให้ผู้ประกอบการพยายามหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากร โดยใช้ช่องทางด้านการสำแดงราคาศุลกากรที่ต่ำกว่าความเป็นจริง การหลบเลี่ยงการสำแดง option จนเป็นประเด็นร้อนที่กรมศุลกากรต้องรีบดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
คณะกรรมการ วปส. จึงได้เสนอ “มาตรการตรวจสอบควบคุมการนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป” ตามหนังสือ สสป. ที่ กค 0521(ส)/ 717 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 เพื่อให้เจ้าหน้าที่เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบ โดยเฉพาะการนำเข้าและขอมัดลวดไปตรวจปล่อย ณ ที่ทำการศุลกากรอื่น กล่าวคือ กำหนดให้หน่วยงานต้นทางต้องถ่ายภาพจำนวน 5 ภาพ (ด้านหน้า ด้านหลัง ด้านซ้าย ด้านขวา และหมายเลขตัวถัง) หรือกรณีที่รถยนต์อยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ให้ถ่ายภาพประตูตู้ พร้อมหมายเลขตู้และภาพรถยนต์ภายในให้ชัดเจน บันทึกในระบบ e-document พร้อมทั้งประสานส่วนควบคุมทางศุลกากรในแต่ละพื้นที่เพื่อเฝ้าระวังการเคลื่อนย้ายรถยนต์ไปยังหน่วยงานปลายทาง และเพื่อให้การกำหนดราคาศุลกากรเป็นไปด้วยความรอบคอบยิ่งขึ้น จึงได้กำหนดให้หัวหน้าฝ่าย/ผอ.ส่วน/ผอ.สำนัก เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบการกำหนดราคาศุลกากรเพิ่มเติม นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวยังมีความพยายามที่จะปิดช่องทางมิให้ผู้ประกอบการใช้ช่องว่างในการลักลอบ หลีกเลี่ยงค่าภาษีอากร หรือสำแดงข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยเสนอให้กำหนดเกณฑ์ระงับคดีเพิ่มเติมสำหรับการกระทำความผิดตามมาตรา 99 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 ในลักษณะเดิมซ้ำกัน 3 ครั้งขึ้นไปต่อปี ภายในหน่วยงานศุลกากรเดียวกันหรือมีเจตนาสำแดงข้อมูลอันเป็นเท็จ ให้ปรับเป็นเงิน 5,000 บาท
ในระยะต่อมา คณะกรรมการ วปส. เห็นว่า เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจปล่อยสินค้าประเภทรถยนต์สำเร็จรูปและลดปัญหาการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ในแต่ละท่า/ที่นำเข้า จึงได้เสนอให้จัดตั้งทีมงานที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเพื่อทำหน้าที่ตรวจปล่อยรถยนต์สำเร็จรูปที่นำเข้าโดยเฉพาะ ซึ่งปัจจุบันกรมฯ ได้แต่งตั้ง “คณะกรรมการตรวจปล่อยรถยนต์ใหม่สำเร็จรูปที่นำเข้า” ตามคำสั่งกรมศุลกากรที่ 305/2559 ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2559 เพื่อเป็นทีมงานในการตรวจปล่อยรถยนต์ใหม่สำเร็จรูปที่นำเข้าและชำระค่าภาษีอากรในทุกพื้นที่เพียงหน่วยงานเดียว เพื่อให้การตรวจปล่อยเป็นไปด้วยความรอบคอบ รัดกุม ภายใต้การพิจารณาตรวจสอบพิกัด ราคาและสินค้าที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน สร้างความเป็นธรรมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าอย่างเท่าเทียม
3.ความเสี่ยงจากการเคลื่อนย้ายสินค้าเข้าคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไป เขตปลอดอากรหรือเขตประกอบการเสรีในลักษณะพาณิชยกรรมเพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร และของผ่านแดน
ภาพลักษณ์
ความเสี่ยงจากการที่ผู้ประกอบการใช้ช่องทางด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรในการ
ฉ้อฉล หลบเลี่ยงค่าภาษีอากรสำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อส่งออกซึ่งเป็นของที่ยังไม่ได้ชำระภาษี แต่ได้มีการลักลอบนำของเข้ามาจำหน่ายภายในประเทศโดยมิได้ส่งออกนอกประเทศ คณะกรรมการ วปส. จึงได้เสนอ “มาตรการควบคุมสำหรับของมัดลวดนำเข้าคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไป เขตปลอดอากร หรือเขตประกอบการเสรีในลักษณะพาณิชยกรรมเพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักรและของผ่านแดน” ตามหนังสือ สสป. ที่ กค 0521(ส)/724 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 เพื่อให้เจ้าหน้าที่กำกับ ดูแล และควบคุมการเคลื่อนย้ายสินค้าจากต้นทางให้ไปยังปลายทางได้อย่างรอบคอบ และรัดกุม โดยกำหนดให้มีการตรวจสอบสินค้าโดยการ เปิดตรวจ/X-ray ทั้งต้นทางและปลายทาง พร้อมทั้งบันทึกทะเบียนรถ ชื่อคนขับ วันเวลาที่คาดว่าจะถึงที่ปลายทาง โดยได้ประสานแจ้งสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (สทส.) จัดทำช่องหมายเหตุ การตรวจปล่อย (Remark) ในระบบผ่านแดนเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถบันทึกข้อมูลในระบบได้อย่างครบถ้วน
มาตรการนี้มุ่งเน้นให้มีการประสานงานร่วมกันของส่วนควบคุมทางศุลกากรในแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการควบคุมทางศุลกากร ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ “คณะทำงานติดตามมาตรการและแนวทางการดำเนินงานตามข้อเสนอ วปส. (Monitor)” ดำเนินการติดตามผลการดำเนินงานของทุกหน่วยงานตามมาตรการดังกล่าว เพื่อให้การดำเนินงานตามมาตรการนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
(ติดตามตอนที่ 2)