หวั่นธนาคารพาณิชย์ไทยสำรองพุ่งกดดันกำไร

สถาบันการเงินของไทยประกาศผลประกอบการงวด 9 เดือน มีกำไรสุทธิรวม 1.55 แสนล้านบาท เติบโตเพียง 1.26% โดยธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ส่วนมากมีกำไรลดลง
แต่ขนาดเล็กโตสวนทาง ด้านโบรกเกอร์พร้อมใจหั่นประมาณการกำไรลงเพราะหวั่นผลกระทบตั้งสำรองเพิ่มขึ้นกดดันกำไรปีหน้า
ผลประกอบการธนาคารพาณิชย์งวด 9 เดือนแรกของปี 2559 มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 1.26% หรืออยู่ที่ 155,430 ล้านบาท โดยกลุ่มธนาคารขนาดเล็กมีอัตราการเติบโตของกำไรที่โดดเด่น ประกอบด้วย ธนาคารเกียรตินาคินมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 75.22% และธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ 73.97% ธนาคารทิสโก้มีกำไรสุทธิ 23.52% และธนาคารกรุงศรีอยุธยาที่มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 20.12%
ธนาคารขนาดใหญ่มีกำไรสุทธิลดลงแทบทั้งหมด ยกเว้นธนาคารกรุงไทยที่มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นถึง 14.33% ส่วนธนาคารกรุงเทพมีกำไรสุทธิลดลง 11.14% ธนาคารกสิกรไทยลดลง 11.96% และธนาคารไทยพาณิชย์ลดลง 1.38%
ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ ธนาคารกรุงเทพมีเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นจาก 2.8% ในสิ้นปีก่อนเป็น 3.4% ในไตรมาส 3 ของปีนี้ ส่วนธนาคารกรุงไทยมีเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นจาก 3.2%ในสิ้นปีก่อนมาอยู่ที่ 4.24% ไตรมาสนี้
ธนาคารกรุงไทยระบุว่า งวด 9 เดือนแรกของปีธนาคารมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นมีสาเหตุหลักจากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่ลดลง 17.40% เนื่องจากจากการครบกำหนดของเงินฝากประจำดอกเบี้ยสูงและบริหารต้นทุนทางการเงินอย่างเหมาะสม และมีค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น 10.64% จากช่วงเดียวกันปี2558 โดยในไตรมาสนี้ธนาคารมีเอ็นพีแอล 98,421 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.87% จากสิ้นปีก่อน เนื่องจากลูกหนี้กลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่บางส่วนประกอบกับลูกค้า SMEs และรายย่อย
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ชี้แจงว่า ในไตรมาสนี้ธนาคารเข้าซื้อกิจการของ Hattha Kaksekar Limited (HKL) สถาบันไมโครไฟแนนซ์ชั้นนำในกัมพูชาก็ได้เสร็จสมบูรณ์ส่งผลให้ ณ ไตรมาส 3 สินเชื่อเพิ่มขึ้นสูงถึง 7.7% หรือเพิ่มขึ้น 1 แสนล้านบาท ทำให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ 1.40 ล้านล้านบาทจากสิ้นปีก่อนทั้งนี้ หากไม่รวมธุรกรรมดังกล่าวสินเชื่อของธนาคารจะเพิ่มขึ้น 6.6%
“ สำหรับแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี 2559 กรุงศรี คาดว่า เศรษฐกิจจะยังคงมีปัจจัยสนับสนุนต่อการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าอาจไม่ครอบคลุมในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ ปัจจัยด้านฤดูกาลที่ขับเคลื่อนความต้องการสินเชื่อทั้งในส่วนของสินเชื่อเพื่อรายย่อยและสินเชื่อธุรกิจ กรุงศรีจึงปรับเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อของทั้งปี 2559 จาก 5-6% เป็น 8-9% (รวมธุรกิจสินเชื่อของ HKL) ”
ณ วันที่ 30 ก.ย. 2559 กรุงศรีซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่ใหญ่เป็นอันดับห้าในไทย สินทรัพย์รวม 1.83 ล้านล้านบาท ขณะที่เงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 191.5 พันล้านบาท หรือเทียบเท่า 14.8% ของสินทรัพย์เสี่ยง โดยเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นของเจ้าของคิดเป็น 12.2%
ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ(NIM)ในเก้าเดือนแรกของปีอยู่ที่ 3.77% เทียบกับ 3.82% ในไตรมาส 2/2559 จากผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่ปรับลดลง ขณะที่ต้นทุนทางการเงินยังคงปรับดีขึ้นต่อเนื่องอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ที่ 2.10% ขณะที่อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 152.3% สะท้อนความรอบคอบในการบริหารความเสี่ยงและความพยายามในการแก้ไขปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพ
ธนาคารกสิกรไทย รายงานว่าผลการดำเนินงานสำหรับงวด 9 เดือน ปี 59 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปี 58 ลดลง 11.96% ส่วนใหญ่เกิดจากธนาคารมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับความไม่แน่นอนในเรื่องของภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญและภาษีเงินได้จำนวน 68,997 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 4,661 ล้านบาท หรือ 7.24% เนื่องจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 3,486 ล้านบาทหรือ 5.52%
โดยอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin: NIM) อยู่ที่ระดับ 3.55% รวมถึงรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจำนวน 599 ล้านบาท หรือ 1.25% โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ และรายได้จากผลิตภัณฑ์ตลาดทุนที่เพิ่มขึ้นในขณะที่รายได้สุทธิจากการรับประกันภัยลดลง นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ลดลงจำนวน 576 ล้านบาท หรือ 1.23% ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 40.13%

นักวิเคราะห์เล็งหั่นเป้ากำไรกลุ่มแบงก์
บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส (ประเทศไทย) เตรียมปรับลดประมาณการกำไรกลุ่มแบงก์ปีหน้า โดยประเมินว่า ธนาคารพาณิชย์ยังคงเผชิญความเสี่ยงเรื่องการด้อยค่าของสินทรัพย์ต่อไปอีกอย่างน้อย 1-2 ไตรมาส ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้าและชะลอตัวต่อในบางกลุ่มอุตสาหกรรม (โดยเฉพาะ SME ขนาดเล็กที่อิงกับการส่งออก)
นอกจากนั้นยังมีประเด็นเรื่อง IFRS9 ซึ่งเป็นมาตรฐานบัญชีใหม่เกี่ยวกับการตั้งสำรองค่าเผื่อฯที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2562 ที่ทำให้ธนาคารจะต้องตั้งสำรองค่าเผื่อเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงมีแนวโน้มว่าจะต้องปรับเพิ่มสมมติฐานการตั้งสำรองค่าเผื่อฯ ในปี 2560 เพิ่มขึ้นจากเดิม ทำให้คาดการณ์กำไรสุทธิและการเติบโตในปี 2560 ของกลุ่มจะลดลงจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบันที่เพิ่มขึ้น 12% โดยมีโอกาสที่จะลดลงเป็นตัวเลขหลักเดียว
สอดคล้องกับบล.ทรีนีตี้ประเมินแบงก์กรุงเทพหลังจากประกาศผลประกอบการโดยเชื่อว่าเป็นอีกหนึ่งธนาคารที่ฝ่ายวิจัยจะปรับลดประมาณการกำไรหลังรายงานผลประกอบการไตรมาส 3/59 ออกมา ถึงแม้งบการเงินที่ออกมาจะดีกว่าที่ฝ่ายวิจัยคาดการณ์ไว้เล็กน้อย แต่ประเมินว่าแนวโน้มผลประกอบการในไตรมาสสุดท้ายในส่วนของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอาจไม่ดีเท่ากับในไตรมาส 3ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาจากแนวโน้มเอ็นพีแอล ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว อาจทำให้ค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญ ยังอยู่ในระดับสูง
บล.บัวหลวง ยืนยันที่จะคงประมาณการกำไรแบงก์กรุงเทพเท่าเดิม โดยคาดว่ากำไรในไตรมาส 4 ปีนี้จะปรับตัวดีขึ้นจากงวดเดียวกันปีก่อนจากการตั้งสำรอง LLP ที่ต่ำลง, การเติบโตของสินเชื่อ และ NIM ที่รักษาระดับได้ดีฝ่ายวิจัยคงประมาณการกำไรคงเดิม ขณะที่แบงก์กรุงไทยคาดกำไรไตรมาส 4ปีนี้ จะลดลงจากปีก่อนจากการตั้งสำรอง LLP ที่เพิ่มขึ้น เพื่อที่จะรักษาสัดส่วน Loan loss coverage ให้ใกล้เคียงกับธนาคารอื่น (เฉลี่ย 130%) ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงกำไรในปีหน้ามีความเสี่ยงขาลงต่อประมาณการกำไรในปีหน้า
บล.ทิสโก้แนะนำว่า แม้ว่าฝ่ายวิจัยจะคาดว่า แบงก์กรุงเทพ มีรายได้เติบโตดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่ธนาคารควรสามารถจัดการกับต้นทุนของสินเชื่อธุรกิจได้ดีกว่าคู่แข่ง ในปีหน้าแต่ ฝ่ายวิจัยมองว่า credit/operating cost ยังคงกดดันการฟื้นตัวของอัตราผลตอบแทนส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) ทั้งนี้ จากราคาหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 9% ในเดือน ส.ค. คิดเป็นราคาเทียบกับมูลค่า (PBV) 0.8 เท่า และพีอีเรโช 10 เท่า ซึ่งยังแพงเมื่อเทียบกับอัตราผลตอบแทนส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) 8-9%
แบงก์กรุงไทยสำรองน้อยกว่าคาด
บล.เคจีไอ ระบุว่า ฝ่ายวิจัยอยู่ระหว่างพิจารณา ปรับประมาณการกำไรใหม่ของแบงก์กรุงไทย หลังจากรายงานกำไรไตรมาส 3/59 เท่ากับ 8.6 พันล้านบาท ดีกว่าคาด 12% และดีกว่า Consensus คาด 23% ผลจากการตั้งสำรองฯน้อยกว่าคาด และรายได้อื่นๆ ที่มากกว่าคาด สวนทางกับหุ้นแบงก์กรุงเทพ รายงานกำไรไตรมาส 3/59 เท่ากับ 8.1 พันล้านบาท ต่ำกว่าฝ่ายวิจัยฯคาด 6% จากการตั้งสำรองฯ มากกว่าคาดโดยฝ่ายวิจัยปรับลดประมาณการฯปี 2559- 2560 ลง 5% และ 12%