คิกออฟ รื้อรัฐธรรมนูญฉบับ “ออกแบบมาเพื่อพวกเรา”
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ “ออกแบบมาเพื่อพวกเรา” วลีเด็ด-วรรคทองของ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” แกนนำสามมิตร แห่งพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กำลังจะถูกรื้อ-ร่างใหม่
วันที่ 23-23 กันยายน 2563 มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 4 เพื่อพิจารณาวาระ “ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. จำนวน 6 ญัตติของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน
2 ญัตติร่วม-หลัก คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ “ทั้งฉบับ” หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่บังคับใช้มาแล้วเกือบ 3 ปี เกิดข้อกังขา ความได้เปรียบ-เสียเปรียบ
อีก 4 ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมฝ่ายค้านพุ่งเป้า “ปิดสวิตซ์ ส.ว.” ในการเลือกนายกรัฐมนตรี และแก้กติกาการเลือกตั้ง ที่ไม่เป็นธรรม จ้องเล่นงานพรรคเพื่อไทย-บอนไซพรรคประชาธิปัตย์
นอกจากนี้ยังสอดไส้การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ-แสกหน้าพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหารเมื่อปี 2557 ที่ทิ้งคราบประกาศ-คำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ญัตติที่ 1 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 159 และยกเลิกมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 159 วรรคหนึ่ง โดยกำหนดให้ผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี นอกจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีของพรรคการเมืองแล้ว ให้มาจากผู้ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย
และให้ยกเลิกมาตรา 272 แต่มิให้มีผลกระทบกระเทือนต่อการเลือกนายกรัฐมนตรีที่ได้ดำเนินการไปแล้วก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้มีผลใช้บังคับ
โดยให้เหตุผลว่า โดยที่มาตรา 272 เป็นการไม่สอดคล้องตามหลักการประชาธิปไตยและประเพณีการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
“อีกทั้งสมาชิกวุฒิสภาชุดแรกได้รับการคัดเลือกและเสนอชื่อโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติซึ่งสิ้นสุดลงแล้วตามรัฐธรรมนูญ จึงไม่ควรให้สมาชิกวุฒิสภามีสิทธิเลือกผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป”
ญัตติที่ 2 ยกเลิกมาตรา 270 และ มาตรา 271 ว่าด้วยอำนาจ หน้าที่ของวุฒิสภา ในการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ การจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ
โดยให้เหตุผลว่า มาตรา 270 เป็นการกำหนดบทบาทและหน้าที่ของวุฒิสภาที่ไม่สอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา และไม่สอดคล้องกับระบบการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร
“เนื่องจากวุฒิสภาดังกล่าวมิได้มีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเหมือนกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อำนาจดังกล่าวจึงควรเป็นอำนาจตามปกติของสภาผู้แทนราษฎร”
ญัตติที่ 3 ยกเลิกมาตรา 279 ว่าด้วยประกาศ คำสั่ง และการกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
โดยให้เหตุผลว่า การคงบทบัญญัติดังกล่าวย่อมทำให้เกิดผลว่า… “บทบัญญัตินี้ทำให้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่มุ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะไร้สภาพบังคับ ส่งผลกระทบต่อสถานะความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ”
ญัตติที่ 4 แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง และการพ้นจากสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้แก่ ยกเลิกวิธีคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ในกรณีเลือกตั้งทั่วไป และการเลือกตั้งใหม่ ในกรณีเขตเลือกตั้งใดที่ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งรายใดได้รับคะแนนเสียงมากกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งใด
ยกเลิกวิธีการคำนวณจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละพรรคพึงมี และจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคพึงได้รับ สำหรับการเลือกตั้งในบางเขตเลือกตั้ง หรือ บางหน่วยเลือกตั้งก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง หรือ กรณีการเลือกตั้งยังไม่แล้วเสร็จ หรือ ยังไม่มีการประกาศผลการเลือกตั้งครบทุกเขตเลือกตั้ง
ยกเลิกหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละพรรคพึงมีและจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคจะพึงได้รับ กรณีมีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 1 ปี เพราะเหตุที่การเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และกำหนดสาระสำคัญใหม่ กรณีการเลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดได้คะแนนเสียงมากกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งใด
ยกเลิกวิธีการคำนวณสัดส่วนคะแนนของพรรคการเมืองสำหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเมื่อมีการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง
โดยให้เหตุผลว่า โดยที่ระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวมีปัญหาหลายด้าน ก่อให้เกิดความยุ่งยากในทางปฏิบัติ เกิดความไม่เป็นธรรมแก่พรรคการเมืองไม่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนในการเลือกตั้ง
การคิดคำนวณคะแนนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ไม่มีความแน่นอนชัดเจน สมควรที่จะนำระบบการเลือกตั้งตามที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า ทั้งฉบับปี 2540 และปี 2550 ซึ่งใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ มาใช้สำหรับการเลือกตั้งแบบเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ