“หุ้นไทย” ปรับฐาน100จุด
ตลาดหุ้นไทยต้นเดือนก.ย.2559 เข้าสู่การปรับฐานอย่างเต็มตัว เพราะในช่วง 7วันทำการตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงไปแล้วกว่า 100 จุด
โดยต้นเดือนก.ย. ดัชนีหุ้นไทยอยู่ที่ 1,548.44 จุด ลดลงต่ำสุดที่ 1,435.67 จุด ซึ่งจะเห็นว่าดัชนีปรับตัวลดลงไป 110 จุดและมีแรงซื้อกลับขึ้นมาดันให้ดัชนีมาปิดที่ล่าสุดปิดซื้อขายที่ 1,445.28 จุด
ขณะที่ดัชนีหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงมากสุดประกอบด้วย หุ้นธนาคารลดลง 6.31% หุ้นอสังหาริมทรัพย์ลดลง 7.33% หุ้นรับเหมาก่อสร้าง ลดลง 12.60% หุ้นสื่อสาร 6.66%
ขณะที่หากพิจารณาจากการซื้อขายแยกนักลงทุนรายกลุ่มพบว่า กองทุนในประเทศมียอดขายสุทธิ 8.17 พันล้านบาท พอร์ตลงทุนบริษัทหลักทรัพย์ 4.27 พันล้านบาท นักลงทุนต่างประเทศ ซื้อสุทธิ 3.62 พันล้านบาท และนักลงทุนในประเทศมียอดซื้อสทุธิ 8.82 พันล้านบาท
มูลค่าการซื้อขายนักลงทุน สะท้อนให้เห็นว่า แม้ดัชนีหุ้นจะปรับตัวลดลงแรง แต่นักลงทุนต่างชาติยังมียอดซื้อสุทธิให้เห็น แม้จะแผ่วบางลงไปบ้าง
สอดคล้องกับรายงาน Morgan Stanley ได้ปรับเพิ่มประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียน่่ของไทยใน MSCI Thailand ปีหน้าขึ้น 2% และกรณี Bull case กำไรโต 18% พีอีเรโช ปีหน้าลงเหลือ 12.5 เท่า (คาดปรับลดลงค่าเฉลี่ย 10 เท่าต้นๆ หุ้นไทยมีความเสี่ยงขาลงได้ประมาณ 10%)
ขณะที่ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ “สันติ กีระนันทน์” รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้ความเห็นว่าสาเหตุที่ตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ที่ปรับลงแรงมีสาเหตุอยู่ 2 ปัจจัย อย่างแรกตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็วเลยเกิดการพักฐาน และ อย่างที่สองมีการปล่อยข่าวลือออกมาเพื่อขายทำกำไร อย่างไรก็ตาม พื้นฐานของบริษัทจดทะเบียนไทยยังมีความแข็งแกร่ง ซึ่งเห็นได้จากตัวเลขผลประกอบการในไตรมาส 2/59
” พื้นฐานของตลาดหุ้นยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง บจ.ยังเดินหน้าจดทะเบียนเข้าตลาดฯ ต่อเนื่อง โดยต่อไปจะมีหุ้น ITEL เข้าตลาดเอ็มเอไอ และ BPCG เข้า SET และ ในปีหน้า บจ.ยังจะแข็งแกร่ง เศรษฐกิจไทยก็ดูดีขึ้น มันผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดปีนี้น่าจะเห็น ก็อาจเห็นเงินทุนไหลกลับไปบ้าง แต่คงไม่มาก ”
บล.ทิสโก้ ประเมินว่าการที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยร่วงแรง มาจากปัจจัยภายในประเทศที่มีความไม่แน่นอนสูง ทำให้นักลงทุน ” ระมัดระวัง ” การลงทุนช่วงนี้มากเป็นพิเศษ และเกิดสัญญาณเชิงลบทางปัจจัยเทคนิคต่อเนื่อง หลังดัชนีไหลลงต่อจนหลุด 1,477 ซึ่งเป็นจุดต่ำเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ทำจุดต่ำใหม่ในรอบ 2 เดือน ทำให้เกิดแรงเทขายลักษณะตัดขาดทุนเพื่อจำกัดความเสี่ยง ซ้ำเติมตลาด
ปัจจุบันปรับมุมมองเป็นดัชนีปีนี้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วที่บริเวณ 1,550 โอกาสที่จะดิ้นขึ้นเฮือกสุดท้ายไปจุดหมายปลายทางที่บริเวณ 1,600 ในเดือน ก.ย. ตามที่หวังไว้จบลงแล้ว โดยในทางปัจจัยเทคนิคมอง ดัชนีเปลี่ยนแนวโน้มจากขาขึ้นเป็นขาลงในระยะกลางแล้ว (ช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า)
แม้ต่างชาติยังซื้อสุทธิ 3.2 พันล้านบาทในเดือนนี้ แต่ขอตั้งข้อสังเกตว่า (1) จำนวนเงินที่ต่างชาติซื้อสุทธิข้างต้นยังค่อนข้างน้อยเกินไป เมื่อเทียบกับเม็ดเงินต่างชาติที่คาดว่าจะไหลเข้าราว 956 ล้านดอลลาร์ฯ (หรือคิดเป็น 3.3 หมื่นล้านบาท) จากการปรับเพิ่มน้ำหนักหุ้นไทยตามดัชนี FTSE AW (เป็นเข้าใหม่ 3 ตัว คือ SCC-R, KBANK-R, BEM และปรับน้ำหนักเพิ่ม 11 ตัว ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 ก.ย. นั่นแสดงให้เห็นว่า มีเม็ดเงินต่างชาติบางส่วนเริ่มขายออก แต่สุทธิแล้วยังเป็นบวกอยู่
ดังนั้นหลังวันที่ 16 ก.ย. จะเห็นภาพแนวโน้มการไหลเข้า-ออกของเม็ดเงินต่างชาติชัดเจนขึ้น (2) ต่างชาติทยอยสะสม Short S50 Futures ต่อเนื่องในตลาด TFEX ตลอดช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา รวมประมาณ 4 หมื่นสัญญา (โดยปกติ TFEX จะเป็นตัวชี้ที่ดีต่อทิศทางล่วงหน้า) ซึ่งสวนทางกับที่ต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดเซทรวม 9.4 หมื่นล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกัน เป็นสัญญาณเตือนหนึ่งที่ต้องระวังทิศทางเงินทุนต่างประเทศในอนาคต
ดัชนีมีแนวโน้มซิกแซกลงต่อ แต่เรามองระดับ 1,420-30 น่าจะสะท้อนปัจจัยเสี่ยงแล้วในระดับหนึ่ง โดยอิงจาก (1) รอบการซื้อสุทธิของต่างชาติในปีนี้รวมอยู่ที่ 1.3 แสนล้านบาท (ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. ถึงปัจจุบัน) คิดเป็นระดับ ดัชนีต้นทุนที่ประมาณ 1,470 และเมื่อรวมผลกระทบค่าเงินบาทแข็งขึ้นจะมีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 1420 (2) PBV ของตลาดที่ 1.8เท่า มักเป็นบริเวณจุดต่ำหนึ่งที่มีนัยสำคัญหลายครั้ง หรือจะเทียบเท่าดัชนีระดับ 1,416 (3) ดัชนีบริเวณ 1,420-30 เป็นกรอบแนวรับทางเทคนิคที่สำคัญ เพราะเคยเป็นระดับแนวต้านก่อนที่ดัชนีจะวิ่งขึ้นมาในรอบปีนี้
ในระยะสั้น มองดัชนี ที่ระดับต่ำกว่า 1,450 มีโอกาสดีดกลับได้ทุกเมื่อ แต่เป็นการดีดกลับทางเทคนิคไม่น่าเกินระดับ 1,500 แล้วยังมีแนวโน้มแกว่งลงต่อ ดังนั้นในแง่ของกลยุทธ์สำหรับนักลงทุนที่ถือครองหุ้นมากเกินไป เป็นจังหวะรอขายลดพอร์ต-ถือเงินสดเพิ่ม แต่ในขณะเดียวกัน ก็จะเป็นจังหวะเข้าเก็งกำไรเพื่อหวังรีบาวด์ในระยะสั้นสำหรับนักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้สูง
ส่วนบล.เมย์แบงก์กิมเอ็ง ระบุว่า ดัชนีหุ้นไทยปรับฐานลงแรงกว่าที่ประเมินไว้ แม้ว่าจะไม่มีปัจจัยลบใหม่เข้ามากดดันภาวะการลงทุนก็ตาม แต่ด้วยแรงซื้อหุ้นหลักของต่างชาติที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ทำให้การปรับพอร์ตของกองทุนที่หนาแน่นสร้างแรงกดดันต่อภาพรวม ดัชนีอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะเกิด Technical Rebound หลัง ดัชนีปรับฐานลง 100 จุดสะท้อนถึงปัจจัยลบทางจิตวิทยาไปมากแล้ว Valuation ของดัชนีกับสู่โซนที่น่าสนใจมากขึ้น ทั้งในแง่พีอีเรโช ณ ระดับปิดปัจจุบัน 19.39เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 2 ปีที่ 19.70เท่า นักลงทุนทั่วไปแนะนำอยู่ในโหมด “Wait & See” รอประเมินสถานการณ์ใหม่ให้มีความชัดเจน
บล.ฟินันเซีย ไซรัส คาดว่า ตลาดหุ้นไทย ยังถูกกดดันจากแรงขายในหุ้นขนาดใหญ่ ซึ่งคาดว่าส่วนหนึ่งมาจากความไม่มั่นใจกับผลประชุมเฟดในวันที่ 20-21 ก.ย.ที่จะถึงนี้
ขณะที่แรงซื้อจากนักลงทุนต่างประเทศก็เริ่มเบาบางลงไป ส่วนผลประชุม ECB ไม่ได้มีการเพิ่มเติมในส่วนของ QE ตามที่ตลาดคาดหวังมาก่อนหน้า ทำให้ก่อนจะทราบผลประชุมเฟดจริง ดัชนีอาจจะยังมีจังหวะแกว่งผันผวนและอ่อนตัวลงได้อีก ดังนั้นแม้ว่าจะคาดว่าหลังจากตลาดพักตัวลงรอบนี้แล้ว ดัชนียังมีแนวโน้มที่จะพลิกกลับขึ้นไปหาระดับดัชนีตามพื้นฐานของปีนี้ที่เราประเมินไว้แถว 1,650 จุดได้ แต่จังหวะการเลือกหุ้นเข้าซื้อเพิ่มยังไม่ต้องรีบร้อนมากนัก.