เปิดวิชั่น “ชยธรรม พรหมศร”
เปิดวิสัยทัศน์ “ดร.แจ็ค” ชยธรรม พรหมศร ว่าที่ปลัดกระทรวงคมนาคมคนใหม่ กับแนวคิดสำคัญ นำทั้งผู้คนและสินค้า…จากต้นทางสู่ปลายทาง ภายใต้หลักการ “สะดวก – ปลอดภัย – ตรงเวลา – ราคาสมเหตุผล” หวังลดพฤติกรรมการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล หันมาใช้ระบบรางแทน
ค่าของคน…อยู่ที่ผลของงาน!
การก้าวข้ามหลายคน…ขึ้นเป็น “เบอร์ 1” ในกระทรวงคมนาคม ของ “ดร.แจ๊ค” นายชยธรรม พรหมศร ผอ.สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) “ว่าที่ปลัดกระทรวงคมนาคมคนใหม่” จึงไม่เป็นเรื่องแปลก สำหรับการตัดสินใจครั้งสำคัญ ของ “รมต.เจ้ากระทรวง” อย่าง…นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ที่จำเป็นต้องให้เหตุผล…ตอบกับใครบางคน?
โดยเฉพาะ “ตัวเต็ง” คนสำคัญ อย่าง…นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง และ นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก
ไม่เพียงเป็น “ลูกหม้อ” ดีกรี “นักเรียนทุน” จนเรียนจบ “ด๊อกเตอร์” ด้าน… Engineering (Transportation) จาก The University of Texas at Austin มลรัฐ Texasสหรัฐอเมริกา หากแต่ผลงานและวิสัยทัศน์ที่ นายชยธรรม ได้โชว์ออกมาในช่วงหลายปี สะท้อนมุมมองที่แตกต่างไปจากคู่แข่งบนระนาบเดียวกันอีกหลายคน เมื่อควบรวมกับความเป็น คนในเครือข่าย “เซนต์คาเบรียล คอนเน็กชั่น” ที่มีพี่ใหญ่ฯ ชื่อ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ หนุนเนื่องอยู่เบื้องหลัง
ก็อย่าได้แปลกใจ ที่รอบนี้…นายศักดิ์สยาม จะตัดสินใจเสนอชื่อของ นายชยธรรม เป็นผู้ที่เหมาะสมกับตำแหน่ง “ว่าที่ปลัดกระทรวงคมนาคมคนใหม่” ให้ คณะรัฐมนตรี ได้พิจารณา ระหว่างการประชุม ครม.สัญจร ที่ จ.ระยอง เมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่2563 ผ่านมา
สำหรับประวัติของ นายชยธรรม เป็นชาวกรุงเทพฯโดยกำเนิด เกิดเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2508นั่นหมายความว่า…บนตำแหน่ง “ปลัดกระทรวงคมนาคม” ที่จะเริ่มต้นในวันที่ 1 ต.ค.2563 นั้น หากไม่มี “อุบัติเหตุในทางการเมือง” แล้ว เขาจะนั่งเก้าอี้ตัวนี้ ยาวนานถึง 6 ปีเต็ม…
เส้นทางการทำงาน…หลังเรียนจบ ปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต (วิศวกรรมโยธา) ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และคว้าเกียรตินิยมอันดับ 2 ตัวเขาก็เริ่มอาชีพรับราชการที่กรมทางหลวง บนเส้นทางการทำงานที่นี่ ถือว่า…เติบโตตามระบบที่ควรจะเป็น
กับตำแหน่งบริหารครั้งแรกๆ ระดับ ผอ.ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ ก่อนขยับในระนาบเดียวกันไปเป็น ผอ.สำนักงานมาตรฐานการก่อสร้างและประเมินผล ต่อด้วย ผอ.สำนักบริการทางหลวงระหว่างประเทศ ก่อนก้าวข้ามห้วยไปนั่งเก้าอี้ รอง ผอ.สนข. และขึ้นชั้นเป็น ผอ.สนข.ในปัจจุบัน
ระหว่างเส้นทางรับราชการ…นายชยธรรม สามารถจะสอบชิงทุนของรัฐบาลไทย เพื่อไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและเอก ด้านวิศกรรมการขนส่ง จากประเทศสหรัฐอเมริกา
พูดได้เต็มปากว่า…เขาเป็นทั้ง ลูกหม้อ และ ตัวจริง ของคนในแวดวง “วิศวกรรมด้านการขนส่ง” ของประเทศไทย เลยทีเดียว
ความเป็น ชาวกรุงเทพฯ แถบชานเมือง ย่านสะพานสูง เมื่อต้องเดินทางจากบ้านพักไปยัง ร.ร.เซนต์คาเบรียล ย่าน ถ.สามเสน แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต ในปัจจุบัน ที่แสนจะห่างไกล แถมยังมีเพียงถนนเส้นหลักสายเดียว นั่นคือ ถ.รามคำแหง ซึ่งมีปัญหาเรื่องการจราจรติดขัดหนักมาก
ทำให้ชีวิตในวัยเด็ก…ได้เห็นถึงสภาพปัญหาของระบบคมนาคมขนส่งในสังคมไทย โดยเฉพาะสังคมเมืองหลวง ที่แทบจะหาความเป็นระบบระเบียบแทบไม่ได้
เมื่อต้องรับหน้าที่บนความรับผิดชอบ…จัดทำ แผนงานระบบคมนาคมขนส่ง ในตำแหน่ง ผอ.สนข. ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัด ที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงในหลายสิ่งหลายอย่าง ซึ่งเป็นไปและดำรงอยู่นับแต่อดีต ดังนั้น…สิ่งเดียวที่ทำได้คือ ค่อยๆ สร้างความเปลี่ยนแปลง
ด้วยเชื่อว่า…ระบบคมนาคมขนส่งที่จะมีประสิทธิภาพได้นั้น ต้องสอดประสานกันอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ การนำพา…คนและสินค้า ไม่ว่าจะผ่านระบบราง ถนน ทางอากาศ หรือทางน้ำ จากต้นทาง (Origin) สู่จุดหมายปลายทาง (Destination) จะต้องยึด “หลักคิด” ที่ว่า…
“สะดวก – ปลอดภัย – ตรงเวลา – ราคาสมเหตุผล”
แต่จะการทำให้แนวคิดนี้ ประสบผลสำเร็จได้นั้น…วิสัยทัศน์และภารกิจจะต้องเดินควบคู่กันไป“ในเมือง” (พื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล และจังหวัดรอบนอก) ต้องดำเนินการอย่างหนึ่ง และ “ระหว่างเมือง” (ต่างจังหวัด/ทั่วประเทศ) ก็ต้องดำเนินการอีกอย่างหนึ่ง
ทั้งหมดต้องสอดประสานกันและกัน
นายชยพล วางเป้าหมายส่วนนี้ไว้ว่า…“ในเมือง” ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คน จากการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ไปเป็นการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อแก้ไขปัญหา ทั้งเรื่องการจราจรที่ติดขัดหนักมาก และปัญมลพิษที่มีตามมา ขณะที่… “ระหว่างเมือง” จะต้องปรับเปลี่ยนจากเดิมที่เน้นการขนส่งทางถนน ไปสู่การขนส่งทางรางและทางน้ำ เป้าหมายเพื่อลดต้นทุนการขนส่ง และเพิ่มความตรงต่อเวลา ให้ได้
นั่นจึงนำไปสู่การวาง ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2561 – 2680) ภายใต้กรอบความคิดการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง 4 ประสาน นั่นคือ สร้างระบบ…
1.การขนส่งที่มีประสิทธิภาพ
2.การขนส่งที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
3.การขนส่งที่เข้าถึงได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียบ
และ 4.การนำนวัตกรรมและระบบการบริหารจัดการสมัยใหม่มาใช้ ตอบโจทย์กับ 3 ข้อข้างต้น
ระหว่างรับเชิญเพื่อทำหน้าที่เป็น “วิทยากร” ในโครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง (พศส.) ประจำปี 2563 โดยความร่วมมือระหว่าง…สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงเทพ และ ม.หอการค้าไทย ณ ห้องประชุมอาคาร 7 ชั้น 12 ม.หอการค้าไทย เมื่อวันที่ 29 ส.ค.2563
นายชยธรรม ได้ฉาย “วิชั่น” โชว์ให้ผู้เข้ารับการอบรม…ได้มองเห็นภาพการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของประเทศไทย ภายใต้ภารกิจสำคัญ อย่างน้อยก็ในช่วงที่ตัวเขา ต้องทำหน้าที่…ปลัดกระทรวงคมนาคม ว่า…มี ที่มาและที่ไปนับจากวันที่ 1 ต.ค.2563 อย่างไร?
“ในเมือง” ต้องเปลี่ยน และ “ระหว่างเมือง” ยิ่งต้องเปลี่ยน แต่จะเปลี่ยนอย่างไร จึงจะไม่สร้างปัญหาอื่นๆ ตามมา
การจะทำให้คนในเมือง “ลดละเลิก” ใช้รถยนต์ส่วนบุคคล แล้วเปลี่ยนมาใช้ระบบรางนั้น กระทรวงคมนาคมจะต้องเร่งสร้างระบบขนส่งทางรางให้เพียงพอและเท่าทัน
ถึงตรงนี้…มีการสร้างระบบราง โดยเฉพาะรถไฟฟ้าไปแล้ว 4 สาย 5 เส้นทาง เริ่มจาก “สายสีเขียว” หรือ บีทีเอส เมื่อปี 2542 ช่วง “อ่อนนุช-หมอชิต” โดยมีส่วนต่อขยายตามมาเรื่อยๆ ตามมาด้วย “สายสีน้ำเงิน” หรือ เอ็มอาร์ที ซึ่งเป็น รถไฟฟ้าใต้ดิน จากนั้น ก็เป็น…“สายแอร์พอร์ต เรียลลิ้งค์” จบในรอบนี้ ด้วย “สายสีม่วง” ที่ต่อเชื่อมจากสายสีน้ำเงิน บริเวณย่านเตาปูน มุงหน้าสู่บางใหญ่ จ.นนทบุรี
ผอ.สนข. บอกว่า…ณ วันนี้ ระยะทางของรถไฟฟ้าในบ้านเรา มีรวมกันราว 150 กม. และหากทุกอย่างเดินไปตามแผนงานที่จะต้องทำให้แล้วเสร็จภายในปี 2572 หรืออีก 9 ปีข้างหน้า จะมีเส้นทางรถไฟฟ้ารวมกันมากกว่า 500 กม.
แต่ระหว่างนี้…ได้มีการดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้าในหลายสี หลายเส้นทาง ซึ่งมีทั้ง “เส้นทางหลัก” หรือ การขนส่งคนจากชานเมืองเข้าสู่ใจกลาเมือง และ “เส้นทางรอง” หรือการขนส่งคนจากชานเมือง เพื่อต่อเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายอื่นๆ
คาดว่า ในปี 2565 หรือในอีก 2 ปีข้างหน้า เราจะมีระยะทางของรถไฟฟ้าสายใหม่เพิ่มขึ้นรวมกันอีกราว 150 กม. โดยจะทยอยประกาศใช้ตั้งแต่ 15-30 กม. ทั้งส่วนต่อขยายของโครงการเดิม และเส้นทางใหม่ของโครงการใหม่
ทั้งนี้ การสร้าง Feeder System หรือ ระบบการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างบ้านพักอาศัยในแถบชานเมืองกับสถานีรถไฟฟ้า และระหว่างสถานีรถไฟฟ้าต่างเส้นทาง คือ แผนงานเร่งด่วนที่กระทรวงคมนาคมยุคของเขา จะต้องเร่งดำเนินการโดยเร็ว เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนหันมาใช้ระบบราง และลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลให้ได้
มีแนวโน้มว่า…การนำรถบัสไฟฟ้า (EV) มาวิ่งให้บริการในระยะสั้นๆ จะเป็นอีกเป้าหมายสำคัญของโครงการนี้
ส่วนโอกาสที่คนไทยจะได้ใช้ “บัตรเดียว” โดยสารรถไฟฟ้าได้กับทุกระบบ…ทุกสี นั้น อาจต้องใช้เวลาอีกนาน เนื่องเพราะติดขัดที่สัญญา ซึ่งทำกันไว้ก่อนหน้านี้ และไม่อาจจะล้มเลิกได้
นั่นหมายความว่า…ส่วนไหนที่ให้เอกชนรับสัมปทานไปทำ ก็คงต้องรอไปก่อน
แต่ส่วนที่ภาครัฐลงทุน และของใหม่ที่จะเปิดให้บริการในอนาคตอันใกล้ ซึ่งมีสัดส่วนของเส้นทางและระยะทางรวมกันมากกว่าในปัจจุบันแล้ว โอกาสจะได้ใช้ “บัตรเดียว” มีสูง!
กระนั้น แม้บางสายบางเส้นทางจะเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ แต่ยังมีสิ่งที่พอทำได้ นั่นคือ “คนละบัตร” แต่ใช้เดินทางข้ามระบบกันได้ ซึ่งขณะนี้ ก็เริ่มพัฒนาระบบและเปิดให้มีการใช้กันบ้างแล้ว
ทั้งหมด…เป็นเพียงบางส่วนที่ นายชยธรรม ในฐานะ ผอ.สนข. บอกกับ…คณะผู้สื่อข่าว พศส.ที่เข้าร่วมรับการอบรมในวันนั้น ซึ่งเจ้าตัว…เปิดช่องเอาไว้ว่า มีโอกาสครั้งหน้า คงได้พูดคุยกันมากยิ่งขึ้น
และครั้งหน้า…ตัวเขา จะขยับขึ้นเป็น “ปลัดกระทรวงคมนาคม” แล้ว.