ศุกร์13 กับคำพูด ”มีชัย” ฉายภาพการเมืองในอนาคต

ตามความเชื่อของชาวตะวันตก ที่เล่าต่อๆ กันมาว่า “วันศุกร์ที่ 13” เป็นวันแห่งอาถรรพ์ ใครจะทำกิจการใดๆ ลงทุนพบปะเจรจาสิ่งใด ก็มักจะเกิดเรื่องร้ายๆ ตลอด…เรื่องนี้จริงหรือไม่
โดยเฉพาะชาวคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิกที่เห็นว่า เลข 13 เป็นเลขแห่งความโชคร้าย ถึงจะลงมือทำการสิ่งใดก็จะไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากวันดังกล่าวเป็นวันที่พระเยซูทรงสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน หลังจากที่รับประทานอาหารมื้อสุดท้ายร่วมกับสาวกทั้ง 12 คน
และความเชื่อนี้มันอาจส่งผลมาถึงสภาหินอ่อนของไทย เพราะวันที่13 พ.ค. คือวันศุกร์ และผลของการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “เตรียมความพร้อมเพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ ประเด็นคำถามเพิ่มเติมของสนช.” โดยมีสมาชิก สนช. สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)
ไฮไลท์ของเมื่อวันศุกร์ที่ 13 คือ คำพูดของ “นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.” ซึ่งไปบรรยายสรุปภาพรวมและสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ที่พูดเสมือนสะท้อนนัยยะในการลงประชามติ 7 ส.ค. ชนิดที่เรียกแขกมาทั่วทั้งประเทศออกมารุมจวกความเห็นของนายมีชัยกันจนยับเยิน
“ผมเข้าใจว่ากลไกที่เราสร้างไว้มีหลายเรื่องที่สนช. และสปท.ไม่ค่อยเห็นด้วยก็ยอมรับว่าต่างคนต่างมีแนวคิด แต่ขอได้โปรดเข้าใจว่ากรธ.ฟังมาตลอดและนำไปคิดว่าอะไรที่ดีที่สุด จึงขอให้เข้าใจว่าคน 21 คน คิดได้แบบนี้อาจจะต่างจากคน 200 คนคิด แต่ว่าวันนี้แก้อะไรไม่ได้แล้ว ก็คงต้องเดินหน้ากันต่อไป เพื่อทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ถ้ามันบกพร่องอะไรวันข้างหน้าก็คงไปแก้ไขกันเอง”
“รับไปก่อน แก้ทีหลัง” ตรงนี้คือการตีความของคนการเมืองที่ตีความสิ่งที่กูรูกฎหมายชั้นนำของเมืองไทยคนนี้พูดออกมาแบบนั้น
แม้ล่าสุด กรธ.บางคนจะออกมาแก้ตัวให้นายมีชัยว่า นายมีชัยไม่ได้มีเจตนาบอกประชาชนให้รับร่างรัฐธรรมนูญไปก่อนแล้วไปแก้ทีหลังอย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ
“นายมีชัยต้องการสื่อความหมายว่า 21 กรธ. ไม่สามารถร่างรัฐธรรมนูญให้ถูกใจและตรงตามความต้องการของทุกฝ่าย แต่ตอนนี้ไม่สามารถแก้ไขได้แล้ว ดังนั้นถ้าในอนาคตแต่ละฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่าจะแก้ไขในประเด็นใดก็สามารถดำเนินการได้ ขอเรียกร้องว่าอย่าไปตีความคำพูดของนายมีชัยในทางที่ผิด” นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกกรธ. ออกมาชี้แจงในเรื่องนี้
แต่คงไม่ทันเสียแล้ว เพราะสองพรรคใหญ่ของเมืองไทย ได้ซัดสิ่งที่นายมีชัยระบุออกมาแบบไม่ยั้ง
“พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ต่อสาธารณะแล้วว่ากฎหมายประชามติมีข้อย้อนแย้งกันหลายประเด็น ทั้งการให้สิทธิเสรีภาพประชาชนในการแสดงออก แต่กำหนดไว้ว่าทำอะไรได้บ้าง ทำอะไรไม่ได้บ้าง และกำหนดในบางมาตราให้บางคนมีสิทธิแสดงความเห็น บางคนไม่มีสิทธิแสดงความเห็น หลายเรื่องมีลักษณะขัดแย้งกัน ทำให้ประชาชนสับสน จึงเสนอให้ปรับแก้ พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ ขณะเดียวกัน สิ่งที่ห่วงคือไม่อยากให้มีบรรยากาศที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าคนที่มีความเห็นต่างแสดงทัศนคติได้แตกต่างจากคนอีกกลุ่ม ส่วนการที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ จะนำฉบับอื่นมาแก้ไขเพื่อประกาศใช้ต่อไปนั้น ผมมองว่าไม่อยากให้นายวิษณุและนายมีชัยตอบโต้เป็นรายวัน แต่อยากทำอะไรก็ขอให้เกิดความชัดเจน เพื่อสังคมจะได้ตัดสินใจบนพื้นฐานที่ชัดเจน” นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าว
“คำกล่าวของนายมีชัยค่อนข้างไม่ถูกหลักการ ซึ่งรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ โดยร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็มีข้อดี และก็มีจุดอ่อนหลายจุด ซึ่งเราก็ได้ติติงว่ามีบางประเด็นที่ควรปรับแก้ แต่ถ้าจะบอกว่าให้รับไปก่อนแล้วค่อยแก้นั้น โดยหลักความเป็นจริงตามเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญนั้น การแก้ไขจะทำได้ยากมาก กล่าวคือแทบจะเป็นไปไม่ได้ การที่นายมีชัยบอกว่าให้รับก่อนแล้วค่อยไปแก้นั้น เป็นการชี้นำ ซึ่งขัดกับกฎหมายประชามติอย่างชัดเจน เพราะสาระของกฎหมายฉบับนี้ได้ห้ามประชาชน นักการเมือง นักวิชาการ แสดงความเห็นหรือชี้นำต่อร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้นนายมีชัยก็ไม่ควรชี้นำในการรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เช่นกัน เรื่องร่างรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องพูดเล่นๆ หรือพูดให้รับไปก่อนแล้วค่อยแก้ทีหลัง ทั้งนี้อยากตนให้มีการให้ความรู้กับชาวบ้านทั้งข้อดีและข้อเสียเพื่อประกอบการตัดสินใจของประชาชนในการเข้าคูหาไปใช้สิทธิลงประชามติ” นายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว
และวันนี้สภากาแฟบนโลกออนไลน์นำเสนอคำพูดของนายมีชัยแบบประชดประชันกันสนั่นเมือง รวมทั้งบางคนยังมีการเทียบโยงคำพูดของนายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตสสร.ปี 2550 ที่เคยบอกว่า รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 ให้รับไปก่อนแล้วค่อยแก้ทีหลังแก้ง่าย ประชาชนแค่ 5 หมื่นคน ก็แก้ได้แล้ว
สิ่งที่นายมีชัยพูดและสิ่งที่นายจรัญเคยระบุ มันเกิดขึ้นบนช่วงเวลาที่แตกต่าง แต่สองเหตุการณ์นี้กลับเสมือนว่ามันคือเรื่องเดียวกัน เพียงแต่เปลี่ยนตัวละครบนเวทีประชาธิปไตยไทยแลนด์โอนลี่เท่านั้น
เห็นการวิจารณ์เทียบเคียงเรื่องนี้กันแบบกระหึ่มเมืองเช่นนี้ มองแบบนี้ก็หนักใจแทนคสช.ว่า กฎหมายหลักของบ้านเมืองฉบับนี้จะรอดหรือร่วง! และยังมองภาพไม่ออกว่ามันจะเกิดอะไรจากนั้นบนสนามการเมืองไทย แม้ทางเลือกในการคืนอำนาจให้ประชาชนในปี 2560 นั้น คสช.ยืนยันจะทำตามสัญญา แต่ใครจะรู้ว่าคสช.จะร่างรัฐธรรมนูญออกมาหน้าตาแบบใด?
และอีกหนึ่งเรื่องที่น่าจะเกี่ยวโยงเข้าหากันได้กับเหตุการณ์ข้างต้น นั้นคือการรับรู้และความสนใจในสาระของร่างรัฐธรรมนูญของประชาชน เพราะสิ่งหนึ่งที่พอจะยืนยันเรื่องนี้ได้คือ “ซุปเปอร์โพล” ที่ออกมาเปิดเผยว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังมองรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องไกลตัว
โดยผลสำรวจล่าสุดของสำนักโพลแห่งนี้ได้จัดทำการสำรวจความเห็นประชาชน เรื่อง การติดตามอ่านรัฐธรรมนูญของประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชน จำนวนทั้งสิ้น 5,329 ตัวอย่างพบว่า
ประชาชนร้อยละ 58.2 ไม่เคยอ่านรัฐธรรมนูญเลย เพราะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวไม่มีเวลาอ่าน อ่านยาก ในขณะที่ร้อยละ 35.7 เคยอ่านบ้าง และเพียงร้อยละ 6.1 เท่านั้นที่เคยอ่านอย่างละเอียด
ที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อถามว่า รู้ได้อย่างไรว่า รัฐธรรมนูญฉบับไหนดีหรือไม่ดี ร้อยละ 83.5 ระบุ ฟังเขาว่ามา ติดตามจากสื่อ การพูดคุยกัน ในขณะที่ ร้อยละ 16.5 ระบุ อ่านด้วยตนเอง นอกจากนี้ คนทุกกลุ่มระดับรายได้ส่วนใหญ่เกินกว่าครึ่งไม่เคยอ่านรัฐธรรมนูญเลย โดยกลุ่มคนผู้มีรายได้น้อยไม่เคยอ่านมากที่สุด ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.3 ไม่เคยอ่านรัฐธรรมนูญเลย คนรายได้ปานกลาง ร้อยละ 54.6 และคนรายได้สูงร้อยละ 52.4 ไม่เคยอ่านรัฐธรรมนูญเลย
อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่จะทำให้ประชาชนตัดสินใจรับร่างรัฐธรรมนูญ คือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.8 ระบุเป็นรัฐธรรมนูญที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น รองลงมาคือร้อยละ 65.3 ระบุช่วยแก้ปัญหาทุจริต คอร์รัปชั่นได้ ร้อยละ 64.7 ช่วยปฏิรูปประเทศได้ และรอง ๆ ลงไปคือ ทำให้บ้านเมืองสงบ ไม่ขัดแย้งรุนแรงบานปลาย เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ประชาชนมีสิทธิเท่าเทียม และไม่ถูกเลือกปฏิบัติ เป็นต้น
ณ เวลานี้จึงมองดูแล้วหลายคนคงอาจจะเหนื่อยใจกับอนาคตการเมืองไทยในไม่กี่วันข้างหน้า เพราะมองไม่ออกเลยว่า มันจะเกิดอะไรขึ้น.