ลุยพื้นที่ “กล่องดวงใจ”….ยิ่งต้านยิ่งไป
เมื่อคสช. และ รัฐบาล โดย “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เลือกใช้กลยุทธ์ลงพื้นที่ที่เรียกว่าเป็นพื้นที่ฐานเสียงใหญ่ หรือ “กล่องดวงใจ” ของพรรคเพื่อไทยทั้ง เชียงใหม่ ขอนแก่น อุดรธานี
ย้อนไปหลังการทำรัฐประหารในประเทศไทยในวันที่ 22 พ.ค. 2557 เวลา 16.30 น. โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ ยึดอำนาจมาจาก รัฐบาลรักษาการที่มี “นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล” เป็นนายกฯ รักษาการในตอนนั้น นับเป็นรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย
ก่อนหน้านั้น 2 วัน คือ วันที่ 20 พ.ค. 2557 พลเอกประยุทธ์ ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่เวลา 03.00 น. กองทัพบกตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) และให้ยกเลิกศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ที่รัฐบาลของ นางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตั้งขึ้น โดยศอ.รส. ใช้วิธีการปิดควบคุมสื่อ ตรวจพิจารณาเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต และจัดประชุมเพื่อหาทางออกวิกฤตการณ์การเมืองของประเทศ แต่การประชุมไม่เป็นผลจึงเป็นข้ออ้างรัฐประหาร
หลังเข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศ ในฐานะหัวหน้าคสช. ได้ระยะหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ก็ประกาศลงพื้นที่เพื่อติดตามงานตามนโยบายโดยไม่หวั่นการเจอกระแสต้าน
บิ๊กตู่ เคยลั่นวาจาไว้ว่า “… ผมเป็นนายกรัฐมนตรี สามารถที่จะลงไปพื้นที่ไหนทั้งประเทศได้…”
จากนั้นเป็นต้นมา พล.อ.ประยุทธ์ ก็เริ่มลงพื้นที่เพื่อติดตามงานตามนโยบายเกือบทุกเดือน ยกเว้นช่วงที่ต้องไปเยือนต่างประเทศ
โดยที่ผ่านมาไม่รู้ว่าตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ที่จะ “เลือก” ลงในพื้นที่ที่เป็นฐานเสียงใหญ่หรือกล่องดวงใจของพรรคเพื่อไทยเกือบทั้งสิ้น เพื่อย้ำจุดยืนรัฐบาลและ คสช.ทั้งการเข้ามาทำทำหน้าที่และนโยบายต่างๆ เป็นการแสดงความจงใจที่จะละลายพฤติกรรม “ฐานเก่า”
พล.อ.ประยุทธ์ และคณะยืนยันในเจตนารมย์ว่าไม่ได้ต้องการไปทะเลาะกับใคร แต่ต้องการลงพื้นที่ไปทำงานและรับทราบปัญหาของประชาชน เพราะที่ผ่านมายังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและมีการบิดเบือนข้อมูลข้อเท็จจริงบางอย่าง
“ผมเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย เป็นนายกฯของคนทั้งประเทศ ผมพร้อมและต้องทำงานทำหน้าที่ให้กับทุกคน ไม่ใช่เลือกที่จะทำให้เฉพาะบางพื้นที่บางคน ผมเข้ามาผมไม่ได้ต้องการอะไร ไม่ได้ต้องการคะแนนเสียงจากพวกท่าน เพียงแต่ที่ต้องเข้ามาก็เพราะไม่มีรัฐบาลที่จะทำหน้าที่ได้”
ล่าสุด “หัวหน้าคสช.” ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ฐานหลักของพรรคเพื่อไทย ที่เป็นบ้านของคนในตระกูลชินวัตรอีกครั้ง
“ผมมาวันนี้ด้วยหัวใจความเป็นทหารที่รักประชาชนทั้งสี่ห้องหัวใจไม่ได้ให้ใครไปหมด ย้อนกลับไปดูการสูญเสียกรุงศรีอยุธยาแตกเพราะอะไร ก็เพราะมีคนไทยเปิดประตูให้ศัตรู แล้วคนในประเทศจะมาทะเลาะกันเอง กลับไปที่เดิม ตีกันเหมือนเดิม เลือกตั้งมาอีกพวกก็ตี ใครสัญญาว่าจะไม่ให้เกิดขึ้น ทำสัญญากับผมได้หรือไม่ว่าท่านจะไม่เข้าไปกรุงเทพฯ อีก ใครจะเอารถมารับก็ไม่ไปเพราะมันตายเปล่า ตายไปเยอะแล้ว ตอนนี้ยังตอบยมบาลไม่ได้ว่าตายเพราะอะไร เพราะเขาเกณฑ์มาไง คนไทยโรแมนติกอยู่แล้วพูดอะไรก็เชื่อ ตายไม่รู้ตัว ไอ้คนพาไปไม่ตายสักคน วันนี้ยังพูดปาวๆ แต่ผมคิดว่าเวรกรรมมีจริงนะ”
ผมอยากพูดกับท่านมานานแล้ว ท่านฟังและขอให้ไปคิดแยกแยะ ผมถามว่าเผาศาลากลางจังหวัดถูกต้องหรือไม่ ประท้วงไม่ชอบใจรัฐบาล แล้วเผาศาลากลางเล่นหรือ วันหน้าไม่มาเผาสภากันเลยหรืออย่างไร ยิงทหารใครทำ ฝ่ายไหน ไม่รู้เหมือนกัน แต่อย่าให้ใครมาบิดเบือน ปี 53 ปี 49 ใครทำ มันก็ค่ายเดียวกัน มันก็ยิงทั้งคู่ ถามว่าอย่างผม-ทหารจะไปยิงพี่น้องประชาชนทำไม เพราะทหารมันก็ลูกหลานท่านทั้งนั้น ผมทำไม่ได้หรอก ไม่เคยสั่งลูกน้องไปทำร้ายคน มีแต่ช่วยประชาชน เพราะคติพจน์ของกองทัพ คือเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์และประชาชน ผมทำอย่างอื่นไม่ได้
โดยช่วงท้าย พล.อ.ประยุทธ์ ยังย้ำในการทำหน้าที่
“ผมมาวันนี้ด้วยหัวใจความเป็นทหารและตลอดชีวิต พวกผมเป็นทหารอาชีพอยู่ในกองทัพมา40 ปี ผมอยู่กับชาวบ้านมาตั้งแต่เป็นร้อยตรี เข้าใจและซึมซับถึงความต้องการของประชาชนดี ถามว่า 40 ปีที่ผ่านมาแก้อะไรได้บ้าง มันก็ไปของมันตามเรื่องตามราวจนกระทั่งวันนี้ มีพระสยามเทวาธิราชคุ้มครองอยู่ วันนี้ต้องช่วยพระสยามเทวาธิราชบ้างเพราะอะไรก็ขอพระ ฉะนั้นต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำ ลดการเผา ใช้ทรัพยากรอย่างสมดุล สร้างจิตสำนึกร่วมกัน ขณะที่ผมก็พยายามทำทุกอย่างให้เกิดความเป็นธรรมทุกพื้นที่ ภูมิภาคเพราะเป็นคนไทยด้วยกัน ผมจะไม่พูดเรื่องแบ่งแยก ผมไม่เคยต้องการ และวันนี้ผมไม่ได้มาด้วยคะแนนเสียงแต่มาด้วยความจำเป็น ไม่อยากให้ทุกคนไปเชื่อฟังอะไรมาบิดเบือนกันทุกวัน ผมขี้เกียจไปตอบโต้ บางครั้งต้องขอโทษเพราะมีอารมณ์อยู่บ้างแต่ปกติเป็นคนอารมณ์ดีแต่บางทีมันยั่วอารมณ์ ผมเป็นทหารบางทีมันก็ต้องโมโหบ้างถ้าผมเป็นนักการเมืองก็จะยิ้ม ขอบคุณครับ ซึ่งผมทำไม่เป็น อยู่กองทัพมา 40 ปี อยู่กับพวกเราสองปีกว่า”
เป็นการตอกย้ำถึงเส้นทางที่ คสช.และรัฐบาลชุดนี้เจ้ามา รวมถึงการตอกลิ่มความผิดในอดีตที่ผ่านมาถือเป็นกลยุทธ์ที่ฝ่ายทหารใช้ปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน ทุกครั้งในการลงพื้นที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เคยลืมที่จะย้ำถึงเหตุผลและเจตนารมย์ในการเข้ามายืน ณ จุดนี้
แม้จะพยายามชี้แจงและอธิบาย แต่การลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่นในช่วงแรกที่เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้เจอกับการต้อนรับโดย “กลุ่มนักศึกษาดาวดิน” ที่ชูสามนิ้วเป็นสัญลักษณ์ ช่วงที่กำลังเปิดงาน ทั้งที่มีความพยายามจากเจ้าหน้าที่ในการสแกนอย่างถี่ถ้วนทั้งกำลังจากของทหาร ตำรวจและฝ่ายปกครอง เล่นเอาป่วนกันทั้งขบวน
บทเรียนครั้งนั้น ทำเอาฝ่ายเสธ.และเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบต้องปรับยุทธศาสตร์ใหม่ นอกจากการเลือกพื้นที่ลงปฏิบัติภารกิจแล้ว การคัดสรรบุคคลและสถานที่จัดงานจึงเป็นมาตรการต่อมา การส่งเจ้าหน้าที่ชุดส่วนล่วงหน้าลงไปตรวจดูความพร้อม เพื่อการรักษาความปลอดภัยชั้นสูงสุด
แต่เหมือนยิ่งระวัง ก็ยิ่งเกิดรอยรั่ว เพราะคนจ้องป่วนกับคนป้องกันเป็นคนละฝ่ายกัน ทำให้ยังเกิดการเล็ดลอดเข้ามาอยู่บ้าง ถึงจะไม่รุนแรงแต่ก็ทำให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องและท่านผู้นำอารมณ์หงุดหงิดได้ อย่างพื้นที่อุดรธานีก็ยังมีนักศึกษาเครือข่ายกลุ่มดาวดินเคลื่อนไหวชูป้ายแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ แม้เจ้าหน้าที่จะเฝ้าระวังอย่างกับไข่ในหิน
แม้แต่สื่อมวลชนที่เข้าไปสังเกตการณ์ก็ยังถูกสั่งห้ามไม่ให้สวมเสื้อแจ๊กเก็ต ไม่ให้สวมหมวก แม้แต่ปากกาที่พกมายังถูกถาม (ฮา) ต้องติดบัตร ปลอกแขน
ส่วนชาวบ้านที่จะเข้ามาภายในงาน คงไม่ต้องพูดถึงมีการสแกนกันหลายชั้น และชาวบ้านทั่วไปก็คงไม่ได้เข้ามา มีแต่ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกมาแล้ว หรือไม่ก็มีแต่บรรดาเจ้าหน้าที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และฝ่ายปกครองเท่านั้น
แล้ววัตถุประสงค์การแสดงเจตจำนงค์เพื่อชี้แจงของนายกลุงตู่ให้คนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะฐานรากเดิมของกลุ่มการเมืองเก่าเข้าใจ และเปลี่ยนใจจะมีประโยชน์อันใด เพราะความตั้งใจเหล่านั้นไม่ได้หยั่งรากลึกถึงรากแก้ว รากหญ้า ประชารัฐอย่างแท้จริง ?
แต่การต่อต้านในเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ ไม่สามารถหยุดยั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้ ยังคงเดินหน้าสร้างจุดยืน ประกาศนโยบายสร้างความปรองดองและชี้แจงถึงการเข้ามาทำหน้าที่ต่อไป เพราะถือคติ “น้ำหยดลงหิน ทุกวันหินมันยังกร่อน” แต่ไม่ว่าจะพูดและตอกย้ำแค่ไหน หากรัฐบาลยังไม่เปิดกว้าง ใช้วิธี “เลือกคนฟัง” และใช้กฎหมายมาใช้โดยลืมหลักรัฐศาสตร์ไปแล้ว
คำถามที่จะเกิดขึ้นว่า “ความเท่าเทียม” อยู่ที่ไหน คนเห็นต่างต้องถูกจับกุมหรืออย่างไร อาจทำให้รอยแผลและความไม่เข้าใจ ก็ยังมีคงอยู่ต่อไป
แต่มีการวิเคราะห์กันว่า ยิ่งพื้นที่ไหนยิ่งต่อต้านก็จะยิ่งลงพื้นที่ไปบ่อยๆ แต่ก็มองกันด้วยว่าต่อให้ลงพื้นที่อย่างไร เป้าหมาย “ความปรองดอง” ที่ต้องการก็คงไม่เกิด แต่อาจกลายเป็นเพียงระเบิดเวลาที่รอวันปะ