“กฟน.” แจงปม ใช้ไฟเท่าเดิม แต่ค่าไฟแพง?!
ประเด็น “ค่าไฟแพง” นาทีนี้ ต้องบอกว่าเป็นกระแสที่ร้อนแรงที่สุดในขณะนี้ เพราะหลังจาก มนุษย์เงินเดือน อย่างเราๆท่านๆ ต้องปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล ทำงานแบบ Work From Home กันมากขึ้น เพื่อป้องกันตัวเองจากโรคระบาด Covid-19
เป็นผลให้ ค่าไฟฟ้าบ้านเพิ่มขึ้น ซึ่ง มนุษย์เงินเดือน อย่างเราๆก็พอจะเข้าใจได้… แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น สร้างความสะพึงให้กับหลายๆบ้านคือ ค่าไฟฟ้าพุ่งกระฉูด เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เกินกว่าที่ควรจะเป็น…
การไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน.จึงออกมาอธิบาย คลายสงสัย ในประเด็นที่ว่า เมื่ออัตราค่าไฟฟ้าเท่าเดิม แล้วสาเหตุหลักค่าไฟฟ้าสูงขึ้นคืออะไรกันแน่…ไว้ดังนี้
เมื่อเข้าสู่หน้าร้อน หลายคนคงเจอปัญหาค่าไฟกันเป็นประจำทุกปี แต่ทราบกันไหมครับ ว่าสาเหตุของค่าไฟสูงขึ้นนั้น เกิดจากอะไรกันบ้าง
ช่วงเดือน มี.ค. – พ.ค. อากาศร้อน อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 36 – 40 องศาเซลเซียส ทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ทำความเย็นทำงานมากขึ้น และใช้ไฟฟ้ามากขึ้นตามมานั่นเอง เช่น แอร์ทำงานหนักกว่าเดิม เพื่อปรับอุณหภูมิจาก 40 องศาให้ถึง 26 องศาตามค่าที่ตั้งไว้ ซึ่งต่างกันถึง 14 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นตามมา
สถานการณ์ระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลให้เกิดการเว้นระยะห่างทางสังคม หลายคนทำงานที่บ้าน หรือเด็ก ๆ ปิดเทอมระยะยาว ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่พักอาศัยและทำงานอยู่กับบ้าน เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าทำงานตลอดทั้งวัน เช่น เปิดแอร์นานขึ้น เปิดปิดตู้เย็นบ่อยครั้ง หรือแช่อาหารในปริมาณที่มากขึ้น การประกอบอาหารด้วยเครื่องใช้ไฟฟ้า ใช้น้ำอุปโภคบริโภคมากขึ้น ทำให้ปั๊มน้ำทำงานมากขึ้นตามไปด้วย
“กฟน.” จึงมีคำแนะนำวิธีการประหยัดไฟฟ้ามาฝากกัน ได้แก่ การเลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงาน หมั่นดูแลบำรุงรักษาเครื่องใช้ไฟฟ้า
ที่สำคัญควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าจะทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ โดยเปิดประตูหน้าต่างให้ลมถ่ายเท ใช้เครื่องปรับอากาศในช่วงเวลาจำเป็น ปรับเพิ่มอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศมาอยู่ที่ระดับ 26 องศาเซลเซียส
แต่หากต้องการความรู้สึกเย็นสบายเท่ากับ 24 องศาเซลเซียส ให้เปิดพัดลมช่วยโดยไม่ต้องลดอุณหภูมิของแอร์
เพราะการเปิดแอร์พร้อมพัดลมจะประหยัดไฟได้มากกว่าการลดอุณหภูมิของแอร์ เนื่องจากพัดลมช่วยเพิ่มความเร็วลม เพิ่มการเคลื่อนที่ของอากาศ ทำให้รู้สึกเย็นสบายมากขึ้น
นอกจากนั้นควร ล้างเครื่องปรับอากาศอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ควรปิดสวิตช์และถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าออกทุกครั้งเมื่อไม่ได้ใช้งาน เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้าลัดวงจร ที่ก่อให้เกิดอัคคีภัยและยังช่วยประหยัดไฟฟ้าได้อีกด้วย
ลองปฏิบัติกันดู ได้ผลมากน้อย อย่างไร ก็แจ้งกลับมาบอกเล่าให้ฟังกันบ้าง หรือ จะแจ้งผลโดยตรงไปที่ “กฟน.”ก็ตามสะดวก นะครับ…