โอกาสในวิกฤติ! ผ่านมาตรการการคลัง-การเงิน
มาตรการการคลังและการเงิน เดินคู่ขนานอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.75% ของ กนง. จากการประชุมครั้งล่าสุด ถือว่ามาถูกทางแล้ว เมื่อนโยบายของรัฐนำร่อง แบงก์รัฐและแบงก์พาณิชย์ ขยับตาม ในไม่ช้า…วิกฤติโควิด-19 อาจพลิกมาสร้างโอกาสครั้งใหม่ เมื่อทุกฝ่ายเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี
ในวิกฤติ…ย่อมมีโอกาส!
อย่างน้อยความร่วมแรงร่วมใจของระบบธนาคารในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นซีกของธนาคารพาณิชย์ ที่มี สมาคมธนาคารไทย เป็นหัวเรือใหญ่ หรือสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ภายใต้การดูแลของ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และยังจะมีธนาคารพาณิชย์ของต่างชาติ ในสังกัด สมาคมธนาคารนานาชาติ
โดยมี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็น…ผู้นำสูงสุด!
ทั้งหมด…ถูกผสานเป็นหนึ่งเดียว กับเป้าหมายเพื่อให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้าในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ 2019 (COVID-19) กระจายไปทั่วประเทศ
นอกจากการให้บริการทางการเงินที่จะไม่สะดุดหยุดชะงักแล้ว หลายธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ หรือธนาคารของรัฐ ต่างก็ทยอยออกมาตรการช่วยเหลือ เยียวยา และบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของลูกค้าประชาชน
โดยเฉพาะธนาคารของรัฐ ไม่ว่าจะเป็น…ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หรือธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) รวมถึงธนาคารและสถาบันการเงินของรัฐอื่นๆ ต่างกุลีกุจอคลอดสารพัดมาตรการ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าและสนับสนุนระบบเศรษฐกิจของประเทศ ให้ขับเคลื่อนไปในยามที่บ้านเมืองและโลก กำลังประสบชะตากรรมเดียวกัน
ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธปท. ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือเพียง 0.75% ต่ำสุดในประวัติการณ์ โดยให้มีผลบังคับในวันที่ 23 มี.ค.
จากนั้น วันที่ 25 มี.ค. กนง.ได้นัดหมายประชุมฯ เพื่อกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง ถือเป็นการทิ้งระยะห่างที่สั้นที่สุด เพียงแค่ 5 วันเท่านั้น
กระทั่ง หลายฝ่าย….ทั้งนักวิชาการ นักวิเคราะห์ทางด้านเศรษฐกิจ แม้กระทั่ง สื่อมวลชนหลายสำนัก ยังคาดการณ์ในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ มีโอกาสที่ กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้อีก 0.25%
จนเหลือเพียง 0.50% ซึ่งเป็นการทำลายสถิติครั้งใหม่ของเรทดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำที่สุด!
อย่างไรก็ตาม จากการที่ นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ กนง. ออกมาแถลงผ่านสื่อมวลชนประจำแบงก์ชาติ ถึงผลการประชุมของ กนง. ที่มีมติ 4 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.75 ต่อปี
สะท้อนว่า…กนง.เอง ก็กังวลใจกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากต้องลดให้ต่ำลงมาอีก
เหตุผลที่ เลขานุการ กนง.ให้ไว้ คือ การระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวแรงจากปีก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบ อย่างไรก็ดี ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ตลาดการเงินได้เริ่มกลับมาทำงานปกติ
อีกทั้งยังเห็นว่า การระบาดของ COVID-19 ในระยะข้างหน้ายังมีความรุนแรง และต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่ง กนง.ได้สนับสนุนมาตรการดูแลผู้ได้รับผลกระทบอย่างตรงจุดของรัฐบาลที่ได้ประกาศไปแล้ว รวมทั้งจะต้องดำเนินการช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่องและเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ ไม่ว่าจะเป็นภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs เพื่อให้เกิดผลชัดเจนเป็นรูปธรรมเพิ่มเติมจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมนัดพิเศษที่ผ่านมา
นอกจากนี้ กนง.ยังเห็นพ้องว่า ต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ตรงจุด กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้
แม้จะมีกรรมการ 2 คนที่เห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีกร้อยละ 0.25 เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มหดตัวแรง แต่เสียงส่วนใหญ่เห็นว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวแรงเนื่องจากการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19 อีกทั้ง เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าก็ชะลอตัว รวมถึงการหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิตในหลายประเทศ
ส่งผลให้รายได้ของธุรกิจและครัวเรือนได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างขึ้น เป็นผลให้อุปสงค์ภายในประเทศทั้งการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัว
เลขานุการ กนง. ย้ำว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ มาตรการด้านการคลังจะต้องเป็นกลไกหลักในการบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจและดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 นอกจากนี้ มาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินจะช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกหนี้ และช่วยให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวในปี 2564 หากสถานการณ์การระบาดคลี่คลายลง
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2563 มีแนวโน้มติดลบตามราคาพลังงานที่ลดลง และเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มหดตัว ทั้งนี้ กนง.จะติดตามความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจต่างประเทศ ผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ประสิทธิผลของมาตรการดูแลและเยียวยาของภาครัฐ รวมถึงการช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินแต่ละแห่งอย่างใกล้ชิด
สำหรับคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปี 2563 นั้น ผู้บริหารของ ธปท. เชื่อว่า น่าจะติดลบประมาณ ร้อยละ 5.3 และหากผ่านพ้นวิกฤติโรคระบาดไวรัส COVID-19 ไปได้ คาดว่าจีดีพีของไทยในปี 2564 น่าจะพลิกกลับมาเป็นบวกที่ ร้อยละ 3.0
คงต้องลุ้นและเอาใจช่วยให้ประเทศไทยและโลกใบนี้ ผ่านพ้นสถานการณ์เลวร้ายจากภาวะการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของไวรัส COVID-19 ไปให้ได้โดยเร็ว
ถึงตอนนั้น…ช่วงเวลาแห่งการฟื้นฟูของโลกทั้งใบ ก็น่าจะเป็นโอกาสที่ดีของประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้า ทั้งสินค้าวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูป โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มอุปโภคและบริโภค ซึ่งประเทศไทย…ติดอันดับต้นๆ เรื่องชื่อเสียงและคุณภาพอยู่แล้ว
วิกฤติ…จะพลิกกลับมาเป็นโอกาส สำหรับผู้ที่เตรียมความพร้อมเสมอ!
และวันนี้…รัฐบาล กระทรวงการคลัง ธปท. และระบบธนาคารในประเทศ ได้เตรียมความพร้อมในหลายๆ เรื่องรองรับผู้ประกอบการไทยเอาไว้แล้ว.