วิกฤติภัยแล้งกระทบผลผลิตอ้อย ข้าวนาปรัง และมันสำปะหลัง

นับเป็นเรื่องไกลตัวที่อาจส่งผลกระทบใกล้ตัว กับปัญหาภัยแล้ง ในปี 2020 เริ่มเร็ว รุนแรง และมีแนวโน้มที่จะยาวนานกว่าปีที่ผ่านมา ในช่วงปลายปี 2019 ระดับน้ำเก็บกักของน้ำในเขื่อนหลายภูมิภาคเริ่มลดลงก่อนที่จะผ่านพ้นช่วงฤดูฝน สะท้อนว่าประเทศไทยได้เริ่มเข้าสู่ฤดูแล้งเร็วกว่าปกติ
โดยข้อมูลจากศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รายงานสถานการณ์ภัยแล้งในช่วงเดือนกันยายน 2019 – กุมภาพันธ์ 2020 ว่ามีพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายรวม 1,624,501 ไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าว 1,442,674 ไร่ คิดเป็นสัดส่วน 89% ของพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหายโดยรวม ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชไร่ 180,684 ไร่ และพื้นที่เพาะปลูกพืชสวนและอื่น ๆ อีก 1,143 ไร่
เมื่อพิจารณาระดับน้ำเก็บกักของน้ำในเขื่อน ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2019 พบว่า ภูมิภาคที่มีปริมาณน้ำในเขื่อนน้อย ได้แก่ ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันออก ในขณะที่ภาคกลางเผชิญภาวะน้ำในเขื่อนน้อยเข้าขั้นวิกฤติแล้ว โดยทั้งภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออก และกลางมีปริมาณน้ำในเขื่อนต่ำกว่าระดับน้ำเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี และยังต่ำกว่าระดับน้ำเก็บกักของปี 2014 ซึ่งเป็นปีที่ไทยเผชิญภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปีอีกด้วย ซึ่งสะท้อนว่าประเทศไทยกำลังเผชิญภัยแล้งระดับรุนแรง โดยปัจจุบัน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) แล้วรวม 22 จังหวัด ยิ่งไปกว่านั้น กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ภัยแล้งในปี 2020 จะยาวนานกว่าปีที่ผ่านมา โดยมีแนวโน้มยาวนานไปถึงเดือนมิถุนายน 2020
ประเมินผลกระทบจากภัยแล้งต่อภาคการเกษตรในเบื้องต้น
EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น มีแนวโน้มก่อความเสียหายให้กับผลผลิตอ้อย และข้าวนาปรังมากที่สุด การเพาะปลูกอ้อยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2019 ส่งผลให้ปริมาณอ้อยเข้าหีบสำหรับผลิตน้ำตาลในฤดูการผลิตปี 2019/2020 ลดลงมาก โดย EIC คาดว่า ในกรณีร้ายแรงที่สุด ปริมาณอ้อยเข้าหีบสำหรับผลิตน้ำตาลในฤดูการผลิตปี 2019/2020 อาจลดลงมากถึง 25 ล้านตัน หรือคิดเป็น 27% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบโดยรวม ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณอ้อยเข้าหีบสำหรับผลิตน้ำตาลในฤดูการผลิตปี 2019/2020 เหลือประมาณ 75 ล้านตัน หดตัวตัว 43% จากในฤดูการผลิตที่ผ่านมา ที่มีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 132 ล้านตัน ทั้งนี้ปริมาณอ้อยที่ลดลงจากภัยแล้ง ส่งผลให้ในฤดูการผลิตปี 2019/2020 โรงงานน้ำตาลจะทยอยปิดหีบตั้งแต่เดือนมีนาคม ซึ่งเร็วกว่าในฤดูการผลิตที่ผ่านมา ที่จะทยอยปิดหีบในช่วงเดือนเมษายน โดยหากภัยแล้งลากยาวไปถึงเดือนมิถุนายน โรงงานน้ำตาลอาจเผชิญความเสี่ยงในการขาดแคลนอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตต่อไปอีกด้วย
สำหรับผลกระทบของภัยแล้งต่อผลผลิตข้าวนาปรังนั้น ได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำในภาคกลาง ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวนาปรังที่สำคัญ ที่ปัจจุบันระดับน้ำในเขื่อนน้อยเข้าขั้นวิกฤติแล้ว ประกอบกับในช่วงครึ่งแรกของปี ยังเป็นช่วงที่เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปรังออกสู่ตลาดปริมาณมาก ส่งผลให้ผลผลิตข้าวนาปรังมีแนวโน้มได้รับความเสียหายอย่างมาก
นอกจากนี้ ภัยแล้งยังส่งผลให้ปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังลดลง แม้สัดส่วนผลผลิตกว่า 57% ของปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังโดยรวมจะมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีหลายจังหวัดในภูมิภาคนี้เผชิญสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรง แต่เนื่องจากมันสำปะหลังเป็นพืชทนแล้งจึงได้รับผลกระทบจากภัยแล้งน้อยกว่าพืชชนิดอื่น ๆ โดย EIC คาดว่า
ในกรณีร้ายแรงที่สุด ผลผลิตมันสำปะหลังในปี 2019/2020 อาจลดลง 1.8 ล้านตัน คิดเป็น 7% ของปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังโดยรวม
สำหรับในส่วนของปาล์มน้ำมันและยางพารา คาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในปี 2020 เนื่องจากส่วนใหญ่เพาะปลูกในภาคใต้ อีกทั้งในปี 2020 ยังมีปริมาณผลผลิตออกมามาก เนื่องจากเป็นระยะที่ปาล์มน้ำมันและยางพาราให้ Yield ดีตามอายุของการเพาะปลูก

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า เนื่องจากฤดูแล้งในปีนี้ มีปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์น้อยจึงต้องบริหารจัดการน้ำอย่างจำกัด และให้เป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้ ซึ่งมีเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และสนับสนุบพืชที่ใช้น้ำน้อยบางพื้นที่เท่านั้น กรมชลประทานจึงได้จัดตั้ง “ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขและบรรเทาวิกฤตภัยแล้ง ปี 2562/63” เพื่อหาแนวทางการดำเนินงานแก้ไขวิกฤตภัยแล้ง และบูรณาการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตภัยแล้ง ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีการบูรณาการ และเชื่อมโยงนโยบายไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ เพื่อให้เกิดเอกภาพในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้งอย่างเป็นระบบ อีกทั้ง จะเป็นศูนย์บัญชาการ ประสานการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวัง ติดตาม ประเมินวิเคราะห์แนวโน้มของสถานการณ์ รวมทั้งแจ้งเตือนภัยให้แก่ประชาชน รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์และแนวทางในการลดผลกระทบจากปัญหาวิกฤตภัยแล้งด้วย
ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานเตรียมความพร้อมในเรื่องเครื่องจักร-เครื่องมือ เพื่อส่งไปประจำการที่ศูนย์ฯทั่วประเทศ โดยมีศูนย์ส่วนกลางอยู่ที่ จ.นนทบุรี และอีกใน 7 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงใหม่ จ.พิษณุโลก จ.ขอนแก่น จ.นครราชสีมา จ.พระนครศรีอยุธยา จ.นนทบุรี และ จ.สงขลา ซึ่งจะกระจายส่งเครื่องจักร-เครื่องมือ จำนวน 4,316 ชิ้น แยกเป็น เครื่องสูบน้ำ จำนวน 1,935 เครื่อง รถสูบน้ำ จำนวน 258 คัน รถขุด จำนวน 499 คัน เรือขุด จำนวน 69 ลำ รถบรรทุก จำนวน 511 คัน รถบรรทุกน้ำ จำนวน 106 คัน รถแทร็กเตอร์ จำนวน 565 คัน และเครื่องจักรสนับสนุนอื่นๆจำนวน 373 เครื่อง พร้อมทั้งสั่งการให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดในทุกพื้นที่ หากต้องการความช่วยเหลือสามารถแจ้งได้ที่โครงการชลประทานในพื้นที่ หรือโทรสายด่วน 1460
โดนสรุปการบรรเทาผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งในระยะสั้น ภาครัฐอาจส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถปรับรูปแบบการทำการเกษตรให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ และดำเนินมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ แต่ถึงอย่างไรก็ตามปัญหาภัยแล้งยังวนเวียนอยู่ในประเทศไทยไม่จบสิ้นสักทีเรื่องนี้ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังปัญหานี้จะเกิดขึ้นยันลูกหลานสืบไป สำนักข่าว AEC10NEWS รายงาน.