ยกระดับภาคเกษตรไทย ด้วย Agritech
EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ ยกระดับภาคเกษตรไทย ด้วย Agritech เข้ามาช่วยทำการเกษตรกันอย่างแพร่หลาย
ปัจจุบันกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เยอรมนี ได้มีการนำ Agritech เข้ามาช่วยทำการเกษตรกันอย่างแพร่หลาย เช่น หุ่นยนต์ตรวจหาและจำแนกขนาดผลผลิต เครื่องจักรกลเพื่อเก็บข้อมูลการเพาะปลูก สำรวจพื้นที่ กำจัดศัตรูพืช เก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งเทคโนโลยีที่ทันสมัยเหล่านี้ ล้วนมีส่วนสำคัญในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก และลดต้นทุนในการทำการเกษตรลงได้
การนำ Agritech มาช่วยทำการเกษตรในประเทศต่างๆ มีแรงผลักดันมาจากความต้องการยกระดับประสิทธิภาพการเพาะปลูก เพื่อรองรับจำนวนประชากรที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต รวมถึง การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่อาจทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตรกรรม ทั้งนี้ปัจจุบันมีการพัฒนา Agritech ในรูปแบบต่างๆ อย่างหลากหลาย ทั้งเทคโนโลยีด้านการเพาะปลูก เช่น เครื่องจักรกลและระบบการเพาะปลูกอัตโนมัติ โดรนที่ใช้ในการเกษตร ไปจนถึงเทคโนโลยีด้านการตลาด อย่างการซื้อขายสินค้า จัดหาวัตถุดิบ เช่าซื้ออุปกรณ์การเกษตรทางออนไลน์ โดยการนำ Agritech มาช่วยทำการเกษตรจะช่วยให้เกษตรกรสามารถเพิ่มปริมาณและปรับปรุงคุณภาพของผลผลิต รวมทั้งทำให้การใช้ทรัพยากรต่างๆ เช่น น้ำ ปุ๋ย พื้นที่เพาะปลูก แรงงาน มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นกว่าการทำการเกษตรแบบดั้งเดิม ส่งผลให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการทำการเกษตรลงได้ ประกอบกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในหลายประเทศ ที่อาจทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตรกรรม ก็เป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนให้การนำ Agritech มาช่วยทำการเกษตรได้รับความนิยมมากขึ้น
ปัจจุบันหลายประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เยอรมนี ได้มีการนำ Agritech เข้ามาช่วยทำการเกษตรอย่างแพร่หลาย โดยในสหรัฐอเมริกา มีการใช้ Agrobot ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีเซนเซอร์จับภาพ เพื่อตรวจหาและจำแนกขนาดผลผลิตการเกษตรว่าพร้อมเก็บเกี่ยวหรือไม่ โดยใช้แขนกลเก็บเกี่ยวผลผลิต รวมถึงมีหุ่นยนต์กำจัดแมลงศัตรูพืช สำหรับในออสเตรเลีย มีการใช้ Ladybird ซึ่งเป็นเครื่องจักรกลที่เคลื่อนที่ด้วยพลังงานจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ และติดตั้งเทคโนโลยีเซนเซอร์เพื่อเก็บข้อมูลการเพาะปลูก สำรวจพื้นที่การเกษตร กำจัดแมลงศัตรูพืชและวัชพืช ไปจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิต ขณะที่ในเยอรมนี ก็ปรับเปลี่ยนจากการทำการเกษตรแบบดั้งเดิม ไปสู่ Artificial Intelligence (AI)-driven agriculture
โดยมีการเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทำการเกษตร ท่ามกลางปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงหลากหลายรูปแบบ เพื่อประมวลผลและนำไปสู่การใช้ Machine learning และ Predictive analytic ในการทำการเกษตรเทคโนโลยีที่ทันสมัยดังกล่าว ล้วนมีส่วนสำคัญในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก และลดต้นทุนในการทำการเกษตรลงได้ ซึ่งความนิยมในการนำ Agritech มาช่วยทำการเกษตรส่งผลให้มูลค่าการลงทุนด้าน Agritech ทั่วโลกที่มีการขยายตัวอย่างก้าวกระโดดในระยะที่ผ่านมา โดยมูลค่าการลงทุน Agritech ทั่วโลกในปี 2018 อยู่ที่ 6,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 44% จากปี 2017 โดย Agritech กลุ่มที่มูลค่าการลงทุนสูง และขยายตัวอย่างโดดเด่น ได้แก่ เทคโนโลยีด้านพันธุกรรม ซอฟท์แวร์บริหารจัดการฟาร์ม อุปกรณ์ตรวจจับ และ IoTทั้งนี้ The Goldman Sachs Group ได้ประมาณการมูลค่าตลาด Agritech ในปี 2050 ว่าจะอยู่ที่ 240,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแบ่งเป็นมูลค่าตลาด Agritech ด้านการใช้ปุ๋ย 27% ด้านการเพาะปลูก 19% ด้านการใช้รถแทรกเตอร์ 19% ด้านการใช้น้ำ 15% ด้านการฉีดพ่นสารเคมี 6% และ Agritech ด้านอื่น ๆ เช่น การติดตามพื้นที่เพาะปลูก การบริหารจัดการข้อมูล รวมกันอีก 14% โดย Agritech แต่ละด้านดังกล่าว จะสามารถช่วยให้การทำการเกษตรในภาพรวมมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การช่วยเพิ่มผลผลิตการเกษตร และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคเกษตรได้
อีไอซี มีมุมมองต่อการทำการเกษตรแบบดั้งเดิมว่า มีแนวโน้มที่จะถูก Disrupt จาก Agritech
ส่งผลให้ภาคเกษตรไทยจำเป็นต้องปรับตัวรับมือความท้าทาย โดยการส่งเสริมการใช้ Agritech
ในประเทศ เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยยกระดับประสิทธิภาพภาคเกษตรได้มากขึ้น โดยกลุ่ม Agritech ที่เกษตรกรไทยมีศักยภาพในการใช้ได้ก่อน ได้แก่ โดรนที่ใช้ในการเกษตรเพื่อหว่านเมล็ดพืช พ่นปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช สำรวจพื้นที่การเกษตร รวมถึงระบบ Automation สำหรับรถแทรกเตอร์ เครื่องกำจัดวัชพืช และรถเก็บเกี่ยว ที่ทำให้รถสามารถเคลื่อนที่ได้อย่างอัตโนมัติ โดยควบคุมด้วยระบบ GPS ทั้งนี้กลุ่มเกษตรกรที่มีศักยภาพในการเริ่มใช้ Agritech ได้ก่อน ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรรายใหญ่ เนื่องจากมีความพร้อมด้านเงินลงทุน และได้ประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด (Economies of scale) รวมถึงกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่และทายาทเกษตรกร ที่ต้องการเปลี่ยนจากการทำการเกษตรแบบดั้งเดิมมาใช้ Agritech อีกด้วย
สำหรับการใช้ Agritech ในกลุ่มเกษตรกรรายย่อยนั้น พบว่าส่วนใหญ่ยังมีอุปสรรคอยู่ที่การขาดความพร้อมด้านเงินทุน รวมถึงการครอบครองที่ดินขนาดเล็ก ซึ่งทำให้ขาดความคุ้มค่าในการลงทุน เกษตรกรรายย่อยจึงจำเป็นต้องอาศัยการสนับสนุนและช่วยเหลือจากภาครัฐ ทั้งในเรื่องการจัดหาแหล่งเงินทุน องค์ความรู้ การวิจัยและพัฒนาให้ Agritech มีต้นทุนต่ำลง รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการรวมแปลงการเกษตรเพื่อให้ได้ประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยสามารถนำ Agritech มาเป็นตัวช่วยในการเพาะปลูกได้ ซึ่งจะช่วยหนุนให้เกิดการใช้ Agritech อย่างแพร่หลายในไทยได้ในวงกว้าง ขณะที่ผู้ประกอบการ Agritech อาจส่งเสริมให้เกิดการใช้ Agritech ในกลุ่มเกษตรกรรายย่อยผ่านผู้ให้บริการเช่าเครื่องจักรกลทางการเกษตร