ดูใจ “บิ๊กรัฐบาล” อนาคตความอยู่รอดของ บสย.
รอบนี้…วัดใจกัน ตั้งแต่ นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เจ้าของพื้นที่ เรื่อยไปจนถึง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแล “รมต.- กระทรวงเศรษฐกิจ” ในสังกัดพรรคพลังประชาชน และ “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” ที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า…
จะเอาอย่างไร? กับภารกิจ “เหนื่อยฟรี!” โดยไม่มีรายได้ใดๆ แม้แต่ “สลึงเดียว” จากการบริหารงาน ซึ่งก็หมายถึง รายได้จากค่าธรรมเนียมการค้ำประกันเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการ SMEs มาตลอดระยะเวลาล่วง 28 ปี
ทั้งที่พวกเขา (บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย.) เด้งรับนโยบาย ปลดเปลื้องทุกข์! ให้กับผู้ประกอบการ SMEs มายาวนานขนาดนั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา ก็เป็น นายอุตตม เอง ที่เดินทางไปเป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง บสย. ในสังกัดกระทรวงการคลัง กับ 18 สถาบันการเงิน เพื่อขับเคลื่อนมาตรการ “ต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย” โครงการที่ต้องใช้เงินค้ำประกันสินเชื่อมากถึง 6 หมื่นล้านบาท ฟรี! ค่าธรรมเนียม 2 ปี
สำคัญกว่านั้น นอกจากจะมีผู้ประกอบการ SMEs ที่อยู่ในข่ายได้รับความช่วยเหลือมากถึง 1.42 แสนรายแล้ว ว่ากันว่า…ผลพวงจากโครงการนี้ จะทำให้สถาบันการเงินทั้ง 18 แห่ง เกิดความเชื่อมั่น กระทั่ง ปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจรวมกันมากถึง 1.8 แสนล้านบาท ตลอดทั้งปี 2563 นี้
ทั้งหมด ถือเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ทั้งเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มนี้ และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวม อันเป็นผลมาจากการขยายการลงทุน จัดหาและปรับเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ รวมถึงเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจให้กับภาคเอกชนกลุ่มเป้าหมายนี้
ลึกกว่านั้น! นี่คือ…การช่วยเหลือทางอ้อมแก่ 18 สถาบันการเงิน ได้มีโอกาส “ปล่อยเงินกู้” ให้กับ 1.42 แสนผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศ
ต้องไม่ลืมว่า…ท่ามกลางปัญหาสารพัดทางด้านเศรษฐกิจ ทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายใน ล้วนส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของไทย กระทั่ง สถาบันการเงิน พูดให้ชัดก็คือ ธนาคารพาณิชย์ ไม่กล้าจะปล่อยเงินกู้ หรือเติมเงินเข้าสู่ระบบ
เมื่อขาดเงิน ก็ขาดสภาพคล่อง สุดท้าย…ผู้ประกอบการ SMEs ต่างตกอยู่ในอาการ “เลือดแห้งตัว รอวันตาย”
เมื่อได้ บสย. เข้ามารับประกันสินเชื่อ เพิ่มจากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 40 เท่านั้นเอง…บรรดานายแบงก์ทั้งหลาย ต่างแสดงอาการ “กระดี๊กระด๊า” จนออกนอกหน้า แม้ว่า…ตัวเลขจริงๆ ที่พวกเขาต้องการ จะพุ่งถึงร้อยละ 50 ของสัดส่วนการค้ำประกันสินเชื่อจาก บสย.
แต่ได้แค่คืบ…ก็เพียงพอแล้ว
ประเด็นของเรื่อง ที่ เว็บไซต์ข่าว AEC10NEWS หยิบมาเขียนถึงนับจากนี้ มันกลายเป็นเรื่อง “ปมซ่อนเงื่อน” ที่ไม่มีใครกล้าเปิดปากพูด ทว่า…มันคือเรื่องจริง! ที่ พล.อ.ประยุทธ์ นายสมคิด และนายอุตตม จะต้องรับฟัง! และเยียวยา ก่อนที่ บสย. หน่วยงานที่เยียวยาผู้ประกอบการ SMEs จะสิ้นลมหายใจไปเสียก่อน
ข้อเท็จจริงที่ว่า ก็คือ พวกเขา (บสย.) ไม่เคยมีรายได้ หรือผลกำไรใดๆ จากการเข้ามาช่วย “ค้ำประกันสินเชื่อ” ให้กับผู้ประกอบการ SMEs หรือนักธุรกิจรายใด สักสตางค์แดงเดียว!!!
ค่าธรรมเนียมจากการค้ำประกัน ไม่ว่าจะคิดในอัตราปกติ 2.5% หรืออัตราพิเศษ ขึ้นกับว่า…ผู้กู้ที่มาขอให้ บสย.ค้ำประกันเงินกู้นั้น เป็นใคร? และจากนโยบายรัฐบาลส่วนไหน โดยหากเป็นขาใหญ่…วงเงินกู้เยอะ วงเงินค้ำประกันก็จะเยอะตาม อัตราค่าธรรมเนียมก็จะถูกลง
ทว่า เงินรายได้จากค่าธรรมเนียมฯที่มีทั้งหมด ไม่ได้ถูกนำมาเป็นรายได้ของ บสย. แต่จะถูกนำไปเก็บเข้ากองทุนฯ ส่วนกลาง กันเงินส่วนนี้…สำรองเอาไว้หากเกิดกรณี “ผู้กู้เบี้ยวหนี้” และในฐานะ “ผู้ค้ำประกัน” ที่ตอนนี้ ยกระดับพัฒนาตัวเองไปเป็น “นายประกันของรัฐ” แล้ว
บสย.จะต้องชดใช้หนี้ ในส่วนที่ได้ค้ำประกันเอาไว้ให้กับ…เจ้าหนี้ธนาคารพาณิชย์ของ “ผู้กู้” รายนั้น
พูดให้ชัด! บสย. ทำงานเหนื่อย แต่ไม่มีส่วนได้เสียกับเม็ดเงินจากค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อแต่อย่างใด?
แล้ว บสย.อยู่อย่างไร?
เรื่องนี้…แม้ผู้บริหาร บสย.ทุกระดับ จะไม่กล้าเอ่ยปาก แต่เท่าที่ เว็บไซต์ข่าว AEC10NEWS สังเกตุเห็นจากท่าทีของผู้บริหาร ประกอบกับเนื้อความในเอกสารข่าว เมื่อวันที่…บอร์ดและคณะผู้บริหารของ บสย. แถลงข่าวผลการดำเนินงานปี 2562 และแผนงานในปี 2563 เมื่อปลายสัปดาห์ก่อน
จับมาผูกโยงกันจนเป็นประเด็นของเรื่องนี้…เพราะในเอกสารข่าวดังกล่าว ระบุชัด! ว่า ปี 2562 ที่ผ่านมา บสย. มีรายได้รวม 7,793.98 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.23% มีกำไรสุทธิ 754 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจาก…
1.ความสามารถในการบริหารกองทุน, 2.การบริหารเงินลงทุน และ 3.รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อ อันเป็นผลมาจากการทำงานเชิงรุก! ช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อ
สังเกตดีๆ จะเห็นชัดว่า…รายได้ที่ บสย.สามารถจะนำเอามาเป็นรายได้ขององค์กรนั้น มีมาจาก 1-3 ข้อข้างต้น แต่จะไม่รวมค่าค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อ ด้วยเหตุผลข้างต้นที่ เว็บไซต์ข่าว AEC10NEWS เขียนบอกในตอนต้น
แม้ ผู้บริหารระดับสูง อย่าง นายรักษ์ วรกิจโภคาธร กก.และผจก.ทั่วไป บสย. จะไม่กล้าเอ่ยปาก แต่เท่าที่สืบรู้กันมา พวกเขาก็แอบหวังใจลึกๆ ว่า…น่าที่ “ต้นสังกัด” อย่างกระทรวงการคลัง ควรจะจัดสรรรายได้ค่าธรรมเนียม จากการทำหน้าที่ “ค้ำประกันสินเชื่อ” ให้กับผู้ประกอบการ SMEs มีไปถึงพวกเขาบ้าง?
อัตราส่วนแบ่งรายได้ที่เหมาะสม น่าจะอยู่ที่ 0.25% หรือ “1 ใน 10” ของอัตราค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อปกติ
อย่างที่เกริ่นในตอนนั้น ว่า…บทบาทและภารกิจของ บสย. ยุคที่ต้องเดินหน้าปฏิรูปโครงสร้างการทำงาน ปฏิรูปแท่งงานการบริหาร รวมถึงดึงเอา “เลือดใหม่จากข้างนอก” เข้ามายกระดับการดำเนินงาน ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้าน “ดิจิทัล” เข้ามาพลิกโฉมหน้าของ บสย. รองรับกับภารกิจที่หนักอึ้ง!
จำเป็นต้องวัดใจของ “คนกำกับดูแลเชิงนโยบาย” ไล่กันไปตั้งแต่…นายอุตตม นายสมคิด และ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า…จะเอากันอย่างไร กับบาทใหม่ของ บสย. ที่จะต้อง “เด้งรับ” นโยบายสร้างโอกาสและเติมความเข้มแข็งทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ SMEs ไทย
หาก บสย.อ่อนแอ แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่า…ผู้ประกอบการ SMEs ที่อยู่ในความดูแลของพวกเขา จะเข้มแข็ง จนร่วมกันขับเคลื่อนภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศนี้ได้!!!.