กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามคาด
EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ กนง. มีมติเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ 1.00% จากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิมมาก และค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อปี 2020 และ 2021 ที่มีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมา
ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2019 คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 1.25% เป็น 1.00% ต่อปี เนื่องจาก
เศรษฐกิจไทยในปี 2020 มีแนวโน้มขยายตัว “ต่ำกว่าประมาณการเดิมและต่ำกว่าระดับศักยภาพมากขึ้นมาก” เป็นผลจาก 1) การระบาดของไวรัสโคโรนา 2) พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีที่มีความล่าช้าและความไม่แน่นอนสูง และ 3) ภาวะภัยแล้ง โดยปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจและการจ้างงานที่เกี่ยวข้องหลายด้าน คือ
ด้านอุปสงค์จากต่างประเทศ : ในการประชุม กนง. เดือน ธันวาคม 2019 คณะกรรมการมองว่าภาคการส่งออกไทยในปี 2020 จะยังขยายตัวได้ที่ 0.5% อย่างไรก็ดี ด้วยปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวข้างต้น ทำให้ล่าสุด กนง. ประเมินว่า ภาคการส่งออกสินค้าไทยมีแนวโน้มหดตัวลงตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาค ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มปรับลดลงจากประมาณการเดิมมากเช่นกัน
ด้านอุปสงค์ภายในประเทศ : การใช้จ่ายของภาครัฐโดยเฉพาะงบลงทุนมีแนวโน้มต่ำลงตาม พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีที่มีความล่าช้าและความไม่แน่นอนสูง นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนยังได้รับแรงกดดันจากรายได้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มชะลอลงมากขึ้น
ทั้งครัวเรือนในภาคบริการ เกษตร และอุตสาหกรรม รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งในปี 2020 และ 2021 มีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อตลอดช่วงประมาณการ จากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ชะลอลงตามอุปสงค์ในประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงราคาพลังงานที่ต่ำกว่าคาด เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มปรับลดลงจากการระบาดของไวรัสโคโรนา
เสถียรภาพระบบการเงินเปราะบาง “เพิ่มขึ้น” จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs ซึ่ง กนง. มองว่านโยบายการเงิน
ที่ผ่อนคลายมากขึ้น และมาตรการการคลังต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการไปจะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยลบ
ที่เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนสภาพคล่องและการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ทั้งนี้คณะกรรมการสื่อสารว่า จะติดตามผลของมาตรการต่างๆ อย่างใกล้ชิด
กนง. ประเมินว่า ภาวะการเงินที่ผ่านมาอยู่ในระดับผ่อนคลาย แม้สินเชื่อภาคธุรกิจยังมีแนวโน้มชะลอตัวลง นอกจากนี้ กนง. ยังคงแสดงความกังวลต่อสถานการณ์เงินบาทแม้จะปรับอ่อนค่าลงบ้าง อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในระดับต่ำ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลง แต่สินเชื่อภาคธุรกิจมีแนวโน้มชะลอตามแนวโน้มเศรษฐกิจ ในด้านอัตราแลกเปลี่ยน แม้เงินบาทจะปรับอ่อนค่าลงบ้างเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง แต่ยังอาจไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย และในระยะต่อไปยังมีแนวโน้มผันผวน
อีไอซีคาด กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องที่ 1.00% ในช่วงที่เหลือของปี 2020
จากขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัดขึ้น และอาจหันไปพึ่งมาตรการด้านอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น ขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) และประสิทธิผลของการดำเนินนโยบายมีลดลง กล่าวคือ อัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับปัจจุบันที่ 1.00% เป็นระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งอีไอซีมองว่า กนง. อาจประเมินว่าการลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมจะมีผลจำกัดในการกระตุ้นการบริโภค เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากจะทำให้ประชาชนบางกลุ่มหันมาออมเงินมากขึ้นเพื่อชดเชยรายได้จากอัตราดอกเบี้ยที่น้อยลง นอกจากนี้ อีไอซียังมองว่า ประสิทธิผลของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมต่อภาคเศรษฐกิจไทยอาจมีไม่สูงมากเท่าในอดีต เนื่องจาก ความต้องการสินเชื่อมีแนวโน้มชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจไทย อีกทั้งมาตรฐานการให้สินเชื่อก็มีแนวโน้มเข้มข้นขึ้นตามความเสี่ยงที่สูงขึ้น และการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจไม่สามารถผลักดันให้ราคาสินทรัพย์เพิ่มสูงขึ้นได้มากนัก จากความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยและโลกที่ยังมีอยู่มาก สุดท้ายนั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำมาก อาจทำให้เกิดพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น นำไปสู่ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน
อย่างไรก็ดี อีไอซีมองว่า ยังมีโอกาส 30% ที่ กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงเพิ่มเติมได้ หากปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจยังคงยืดเยื้อ และความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินเพิ่มสูงขึ้น ปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจยังคงยืดเยื้อ ทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงต่อเนื่อง กล่าวคือ หากการระบาดของไวรัสโคโรนายาวนานกว่าที่คาดและส่งผลยืดเยื้อต่อเศรษฐกิจโลกและไทย หรือ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีมีความล่าช้าและไม่สามารถออกมาได้ภายในไตรมาสแรกปีนี้ หรือผลกระทบจากภาวะภัยแล้งส่งผลต่อภาคการเกษตรและการจ้างงานเป็นวงกว้าง ก็อาจทำให้ กนง. ต้องตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมได้ โดยอีไอซีประเมินว่า ในกรณีเลวร้ายนั้น ผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้อาจทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2020 ปรับลดลงมาอยู่ที่ 1.7% (เทียบกับ 2.1% ในกรณีฐาน) ซึ่งจะทำให้โอกาสในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมมีสูงขึ้นมาก
เสถียรภาพระบบการเงินไทย โดยเฉพาะในด้านความสามารถในการชำระหนี้ปรับแย่ลงรุนแรง จากการสื่อสารของ กนง. ในช่วงที่ผ่านมาพบว่า กนง. หันมาให้ความสำคัญต่อเสถียรภาพระบบการเงินในด้านความสามารถในการชำระหนี้ที่เป็นผลพวงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยมากขึ้น (ซึ่งแตกต่างจากก่อนหน้านี้ที่ กนง. ให้ความสำคัญต่อการก่อหนี้ใหม่ของครัวเรือนและภาคธุรกิจมากกว่า) อย่างไรก็ดี สำหรับปัญหาในด้านความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนนั้น การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยลดภาระรายจ่ายด้านดอกเบี้ยลงได้ ซึ่งจะเป็นการลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินลง
จึงสอดคล้องกับเป้าหมายของการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจต่อไป.