SCB EIC ลดคาดการณ์ GDP ปี 2020 เหลือ 2.1%
อีไอซีปรับ ลดคาดการณ์ GDP ปี 2020 เหลือ 2.1% (เดิมคาด 2.7%) จากผลกระทบโรคระบาดไวรัส โคโรนา 2019และความล่าช้าของ การจัดหางบประมาณ
สถานการณ์โรคระบาด 2019-nCoV ยังมีความไม่แน่นอนสูง และมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม จากมาตรการควบคุมโรคระบาด 2019-nCov ที่เข้มงวดของจีน อีไอซีคาดว่าผลกระทบต่อภาคท่องเที่ยวไทยน่าจะมีมากที่สุดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2020 และเริ่มมีการฟื้นตัวได้หลังจากนั้น โดยในกรณี Better / Base / Worse scenario อัตราการเติบโตของนักท่องเที่ยว (%YOY) จะติดลบติดต่อกัน 3 / 4 / 6 เดือน ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 2020 หดตัวที่ -2.5% / -4.6% / -8.1% ตามลำดับ
ผลกระทบอีกหนึ่งช่องทางของโรค 2019-nCoV คือการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนในปี 2020 (ปรับประมาณการจาก 5.8% เป็น 5.4% YOY) ซึ่งนอกจากจะเป็นความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกแล้ว ยังอาจมีผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตในระยะถัดไป โดยในกรณี Base case อีไอซีได้ปรับประมาณการอัตราการเติบโตของมูลค่าการส่งออกของไทยปี 2020 จาก 0.2% ลงเหลือ -1.0% นอกจากผลกระทบของโรคระบาด 2019-nCoV แล้ว ความล่าช้าในการผ่าน ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณปี 2020 จะส่งผลให้การลงทุนภาครัฐลดลงค่อนข้างมากในช่วงไตรมาสที่ 1/2020 และเมื่อพิจารณาผลกระทบจากทั้งสองประเด็น อีไอซีปรับประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2020 ลงเหลือ 2.1% (จากเดิม 2.7%) ในกรณี Base case
จากผลกระทบที่ค่อนข้างมีนัยสำคัญจากโรคระบาด 2019-nCoV บวกกับความล่าช้าเพิ่มเติมในการอนุมัติงบประมาณปี 2020 อีไอซีคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1 ครั้ง (25 bps) มาอยู่ที่ 1% ภายในไตรมาสแรกของปี 2020
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส 2019 Novel Coronavirus (2019-nCoV) ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2019 และความล่าช้าในการอนุมัติงบประมาณประจำปีได้ส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจของไทยผ่านหลายช่องทาง ทั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคการท่องเที่ยวและภาคการส่งออกของไทยจากโรคระบาดและมาตรการของรัฐบาลจีนในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคอย่างรวดเร็วและเข้มงวดตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคม
รวมไปถึงผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการรับเหมาก่อสร้างภายในประเทศและอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากความล่าช้าในการอนุมัติงบประมาณประจำปี ดังนั้น อีไอซีจึงได้ทำการประเมินและวิเคราะห์ผลกระทบจากทั้งสองเหตุการณ์ดังกล่าวต่อสภาวะเศรษฐกิจของไทยในปี 2020
โรคระบาด 2019-nCoV ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยใน 2 ช่องทางหลักคือภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก (รูปที่ 1) โดยจากมาตรการที่เข้มงวดของทางการจีน ด้านการห้ามไม่ให้กรุ๊ปทัวร์ออกนอกประเทศ ประกอบกับความตื่นกลัวของผู้คนในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยน้อยลง นอกจากนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและอีกหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบในช่วงไตรมาสที่ 1 จึงมีแนวโน้มส่งผลต่อภาคส่งออกของไทยในระยะข้างหน้า ขณะที่ในส่วนของการเดินทางท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยของคนไทย คาดว่าก็จะได้รับผลกระทบเช่นกันจากความตื่นกลัวของสถานการณ์โรคระบาด จึงเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อการบริโภคภาคเอกชน และสุดท้าย สถานการณ์โรค 2019-nCoV ยังส่งผลต่อการหยุดชะงักของการผลิตและขนส่ง (supply disruption) เนื่องจากมาตรการควบคุมการเดินทางและขยายวันหยุด รวมถึงมาตรการอื่น ๆ ได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตและการขนส่งของจีน ซึ่งจะมีทั้งผลดีและผลเสียต่อภาคธุรกิจไทย กล่าวคือ ธุรกิจที่มีฐานการผลิตในจีน หรือต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากจีนในการผลิต หรือเป็นธุรกิจที่อยู่ใน
ห่วงโซ่การผลิตของจีน จะได้รับผลกระทบจากการหยุดชะงักดังกล่าว อย่างไรก็ดี บางภาคธุรกิจอาจได้รับผลดีจากการส่งสินค้าทดแทนสินค้าจีนที่ไม่สามารถผลิตได้ ซึ่งเป็นประเด็นที่จะต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
อีไอซีจึงมองว่า เงินบาทจะปรับอ่อนค่าลงมาอยู่ในกรอบ 30.5-31.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2020 อย่างไรก็ดี หลังจากที่ความกังวลต่อสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายลง ความเชื่อมั่นของนักลงทุนน่าจะปรับดีขึ้นได้ในไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป ทำให้เงินบาทมีแนวโน้มปรับแข็งค่าขึ้น สอดคล้องกับเงินดอลลาร์สหรัฐที่อาจกลับมาอ่อนค่าลงได้ตามแนวโน้มการกลับมาขยายตัวของเศรษฐกิจโลกหลังความเสี่ยงจากภาวะสงครามการค้าปรับลดลง นอกจากนี้ ส่วนเงินทุนเคลื่อนย้ายที่มีโอกาสไหลกลับเข้ากลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทยจะเป็นปัจจัยสนับสนุนเงินบาทเพิ่มเติมในระยะต่อไปได้ สำหรับในระยะยาว อีไอซีมองว่าดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยจะยังคงเกินดุลในระดับสูงจึงทำให้เงินบาทสามารถทรงตัวอยู่ในระดับแข็งค่า ด้วยเหตุนี้ อีไอซีจึงยังคงมุมมองค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 2020 อยู่ในกรอบ 29.5-30.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ.