ความเสี่ยงสงครามการค้าสูงขึ้นการเงินโลกผ่อนคลาย
EICธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ กนง. จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายทั้งปี 2019 ที่ 1.75% แต่ความเสี่ยงสงครามการค้าที่เพิ่มขึ้นทำให้ความน่าจะเป็นที่จะมีการลดดอกเบี้ยนโยบาย 25 bps ในช่วงปลายปีเพิ่มขึ้นจาก 30% เป็น 40%
สำหรับการลดปริมาณการออกพันธบัตรระยะสั้นของ ธปท. ในเดือนสิงหาคมลงอีกนั้น ได้ทำให้ยอดคงค้างพันธบัตรระยะสั้นมีแนวโน้มปรับลดลงเล็กน้อย ดังนั้นโอกาสเกิด J-curve ในเดือนสิงหาคมน่าจะยังมีค่อนค้างน้อย สำหรับในเดือนกันยายนนั้น จะมีพันธบัตร ธปท. ครบกำหนดชำระมากขึ้น หาก ธปท. ออกประมูลพันธบัตรในปริมาณเดียวกันกับเดือนสิงหาคม อีไอซีประเมินว่า ยอดคงค้างพันธบัตรระยะสั้นจะลดลงอย่างมีนัยเมื่อเทียบกับยอดคงค้างในเดือนสิงหาคม และจำทำให้โอกาสที่จะเกิดสถานการณ์ J-curve มีสูงขึ้น
ความเสี่ยงสงครามการค้ากลับมาสูงขึ้นหลังประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศเตรียมที่จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนที่เหลืออีก 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐที่ 10% ในวันที่ 1 กันยายนนี้ ด้วยสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงของสินค้าผู้บริโภค ทำให้การขึ้นภาษีรอบนี้น่าจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก รวมถึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลกเป็นวงกว้างอีกด้วย สำหรับผลต่อเศรษฐกิจไทย
อีไอซีประเมินว่า หากแรงกระตุ้นจากภาครัฐมีไม่มากและเร็วพอ ผลของการขึ้นภาษีดังกล่าวอาจทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2019 ขยายตัวต่ำกว่า 3% จากความเสี่ยงของสงครามการค้าที่มีมากขึ้น อีไอซีเชื่อว่า ธนาคารกลางหลักเตรียมผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติม โดยอีไอซียังคงมุมมองว่า Fed ยังมีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้อีก 25 bps ในปีนี้ นอกจากนี้ ECB อาจผ่อนคลายนโยบายมากขึ้น (ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และกลับมาทำ QE) ในการประชุมเดือนกันยายน 2019 และ BOJ ที่ส่งสัญญาณเตรียมผ่อนคลายนโยบายมากขึ้นหากความเสี่ยงด้านต่ำต่อเศรษฐกิจสูงขึ้น ความเสี่ยงสงครามการค้าที่กลับมาสูงขี้น
ทรัมป์ประกาศจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนที่เหลืออีก 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐที่ 10% ในวันที่ 1 กันยายน เนื่องจากการเจรจาการค้ากับจีนรอบล่าสุดยังไม่มีความคืบหน้า โดยการประกาศครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากการเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ และจีน ครั้งล่าสุดมีความคืบหน้าค่อนข้างน้อย การประกาศจะขึ้นภาษีครั้งนี้จึงทำให้ความไม่แน่นอนในระยะต่อไปสูงขึ้น
การเก็บภาษีรอบนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในสหรัฐฯ มากขึ้น และส่งผลต่อเศรษฐกิจจีนเป็นวงกว้าง หากพิจารณารายการสินค้าที่ประกาศในเดือนพฤษภาคม พบว่า มีสัดส่วนสินค้าผู้บริโภคสูงถึง 62% ของมูลค่าทั้งหมด 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องแต่งกายและรองเท้า ของเล่น และสมาร์ตโฟน ที่มีสัดส่วนคิดเป็น 20%, 10%, และ 17% ของสินค้านำเข้าจีนมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐตามลำดับ จึงอาจกดดันให้ราคาสินค้าในสหรัฐฯ และอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคสหรัฐฯ โดยตรง ในส่วนของเศรษฐกิจจีนนั้น มีแนวโน้มชะลอลงเพิ่มเติมและมีโอกาสแตะกรอบล่างที่ 6% ในปีนี้ เนื่องจาก ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและผู้บริโภคมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง สะท้อนจากการส่งออกจีนที่เริ่มหดตัวในครึ่งแรกของปี การผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอตัว และยอดค้าปลีกที่ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 16 ปี อีไอซียังคงมุมมองว่า กนง. น่าจะยังคงดอกเบี้ยนโยบายทั้งปี แต่ความเสี่ยงของสงครามการค้าทำให้เราเพิ่มความน่าจะเป็นที่ กนง. จะลดดอกเบี้ยในช่วงปลายปีจาก 30% เป็น 40% หากมาตรการกระตุ้นทางการคลังไม่ใหญ่และเร็วพอ และมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยปี 2019 จะขยายตัวต่ำกว่า 3% อีไอซีเชื่อว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะ พิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 25 bps มาอยู่ที่ 1.50% ในช่วงปลายปี 2019 ได้ซึ่งความเสี่ยงจากสงครามการค้าที่เพิ่มขึ้นนี้ทำให้เราเพิ่มความน่าจะเป็นที่ กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยจาก 30% เป็น 40% สำหรับการประชุม กนง. ในวันที่ 7 สิงหาคมที่จะถึงนี้ อีไอซียังคงประเมินว่า กนง. จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75%
ธนาคารกลางหลักเตรียมผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติมในการประชุมเดือน กรกฎาคม Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง พร้อมประกาศยุติการลดขนาดงบดุล โดยถึงแม้คณะกรรมการFOMC จะยังคงมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคง “ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง” และตลาดแรงงานที่ยังคง “แข็งแกร่ง” แต่ Fed มีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25 bps (จากกรอบ2.25%-2.50% เป็น 2.00%-2.25%) พร้อมทั้งประกาศยุติการลดขนาดงบดุลเร็วขึ้นกว่ากำหนดการ 2 เดือนโดยเริ่มต่ออายุสินทรัพย์ (fully-reinvest) ในเดือนสิงหาคม โดยมีสาเหตุจาก
อัตราเงินเฟ้อและการคาดการณ์เงินเฟ้อที่ปรับลดลงและอยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย คณะกรรมการ FOMC แสดงความกังวลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อเงินที่อยู่ระดับต่ำจากถ้อยคำที่ว่า“muted inflation pressures” ซึ่งตัวเลขทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (PCE inflation) ต่ำกว่าเป้าของ Fed ที่ 2% ถึง 8 เดือนติดต่อกัน โดยล่าสุดในเดือนมิถุนายน อยู่ที่ 1.4%YOY ต่ำกว่าเป้าหมายค่อนข้างมาก นอกจากนี้ คณะกรรมการยังมองว่าคาดการณ์เงินเฟ้อของตลาดก็อยู่ในระดับต่ำด้วยเช่นกัน “market-based inflation compensation remain low”
การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงด้านต่ำ (downside risk) จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและความไม่แน่นอนของสงครามการค้า โดยในรายงานผลการประชุมและคำสัมภาษณ์ของนาย Powell ได้พูดอย่างชัดเจนเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง สงครามการค้าที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงและส่งผลกระทบมากขึ้น และการชะลอตัวลงของภาคการผลิตในสหรัฐฯ โดยในเดือนกรกฎาคม ตัวเลขดัชนีฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของสหรัฐฯ อยู่ที่ 50.4 ปรับลดลงจากต้นปีที่ 53.8จับตามองวงเงินประมูลพันธบัตร ธปท. ระยะสั้นในเดือนกันยายน ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อสถานการณ์ J-curve ในระยะข้างหน้า
อัปเดตปริมาณพันธบัตร ธปท. ในเดือนสิงหาคม
หลังจากที่ ธปท. ได้ประกาศลดปริมาณการออกพันธบัตรระยะสั้นในเดือนสิงหาคมลงอีก ทำให้นักลงทุนบางกลุ่มมองว่า ธปท. ตั้งใจใช้มาตรการลดการออกพันธบัตรเพื่อหวังผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงอีกหรือไม่ อีไอซี จึงได้นำข้อมูลยอดคงค้างพันธบัตร ธปท. ระยะสั้น (พันธบัตรที่มีอายุ ณ วันที่ออกไม่เกิน 1 ปี) มาพิจารณาประกอบกับประกาศของ ธปท. เกี่ยวกับปริมาณพันธบัตรที่ออกในแต่ละเดือน พบว่า
ยอดคงค้างพันธบัตร ธปท. ระยะสั้นในเดือนกรกฎาคม ยังคงเพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน ดังที่ อีไอซี ได้คาดการณ์ไว้ในรายงานฉบับก่อน โดยหากดูที่ยอดคงค้างพันธบัตรอายุ 3 เดือน จะพบว่า ปรับลดลง 3 หมื่นล้านบาท ขณะที่พันธบัตรอายุ 6 เดือน ปรับเพิ่มขึ้น 2 หมื่นล้านบาท ส่วนพันธบัตรอายุ 1 ปี ปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 4.1 หมื่นล้านบาท เนื่องจาก ไม่มีพันธบัตรอายุ 1ปี ครบกำหนดชำระในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้โดยรวมแล้ว พันธบัตร ธปท. ระยะสั้นเพิ่มขึ้นประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท
สำหรับมาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้าที่ ธปท. ได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2019 นั้น พบว่าเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกจากตลาดการเงินไทยเล็กน้อย กล่าวคือ ในเดือนกรกฎาคม มีเงินทุนไหลออกจากตลาดพันธบัตรรัฐบาลไทยประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท และไหลเข้าตลาดหุ้นไทย 2 หมื่นล้านบาท (รูปที่ 4) ขณะที่ ในเดือนมิถุนายน พบว่ามีเงินทุนไหลเข้าตลาดพันธบัตรรัฐบาลไทยถึง 5.4 หมื่นล้านบาท และไหลเข้าตลาดหุ้นไทย 4.6 หมื่นล้านบาท จึงอาจสะท้อนได้ว่า มาตรการดังกล่าวช่วยชะลอการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติได้ โดยเฉพาะในตลาดพันธบัตรรัฐบาลไทย อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ประกาศใช้อาจไม่ได้เป็นพียงปัจจัยเดียวที่ทำให้เงินทุนไหลออกจากตลาดการเงินไทย แต่อาจมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น ภาวะrisk-off ลดลง ทำให้ความต้องการถือพันธบัตรไทยน้อยลง ผลตอบแทนของตลาดหุ้นในประเทศเศรษฐกิจหลักปรับเพิ่มขึ้น หรือค่าเงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่า เป็นต้น