คปภ.จ่อผุดแผนฯ 4 จี้ประกันฯรับมือยุคดิจิทัล
เลขาธิการ คปภ. กระตุ้นธุรกิจประกันภัยไทยปรับโมเดลธุรกิจ พร้อมเร่งสปีดศักยภาพสู่ยุคดิจิทัล จ่อคลอดแผนพัฒนาการประกันภัย ฉ.4 เริ่มปี 64 หวังต่ยอดธุรกิจประกันภัยไทยอเติบโตยั่งยืน จี้นำเทคโนโลยีมาใช้เป็นรูปธรรม ควบคุ้มครองสิทธิประโยชน์ผู้บริโภคทุกมิติ
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เป็นประธานเปิดงานเสวนาวิชาการ “เหลียวหลัง แลหน้าธุรกิจประกันภัยไทย” จัดโดยนิตยสาร Thailand Insurance สมาคมประกันวินาศภัยไทย และสมาคมประกันชีวิตไทย เมื่อสัปดาห์ก่อน โดยกล่าวตอนหนึ่งถึงทิศทางนโยบายของ สำนักงาน คปภ. ที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันภัยไทย ในบริบท “เหลียวหลัง” เริ่มต้นจากแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2549-2554) แต่บังคับใช้แค่ 4 ปี โดยมุ่งเน้นปรับโครงสร้างการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยให้มีมาตรฐาน มีศักยภาพและขีดความสามารถพร้อมแข่งขัน มีการบริหารจัดการและการให้บริการตามมาตรฐานสากล ด้วยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยจากกรมการประกันภัย เป็นสำนักงาน คปภ. รวมถึงปรับปรุง พ.ร.บ.ประกันชีวิต และ พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทด้านการประกันภัย และได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้สอดคล้องกับความต้องการและสภาพความเสี่ยงในขณะนั้น
เมื่อเข้าสู่แผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2553-2557) สำนักงาน คปภ. ได้วางกรอบการพัฒนาธุรกิจประกันภัยต่อเนื่อง มุ่งเน้นการยกระดับมาตรฐานการกำกับและตรวจสอบตามความเสี่ยง เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้ธุรกิจประกันภัย มีเงินกองทุนเพียงพอรองรับความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจ และความท้าทายจากสภาพแวดล้อม ที่เปลี่ยนแปลงไป จึงเป็นที่มาของการนำมาตรฐานการดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง (Risk-Based Capital: RBC) และระบบสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning System: EWS) มาใช้ร่วมกับการเร่งเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัย และการพัฒนาฐานข้อมูลกลางด้านการประกันภัย รวมทั้งจัดตั้งสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านวิชาการประกันภัยให้แก่ประชาชนและบุคลากรประกันภัย โดยเมื่อจบแผนฯ ธุรกิจประกันภัยไทย ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า สามารถก้าวผ่านบททดสอบสำคัญได้อย่างราบรื่น จากเหตุการณ์มหาอุทกภัยในปี 2554 ที่สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศมหาศาล และมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยกว่า 4 แสนล้านบาท โดยที่บริษัทประกันภัยยังมีความมั่นคง
เมื่อก้าวเข้าสู่แผนพัฒนาการประกันภัย (ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2559 –2563) ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ตนเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการ คปภ. (คนที่3) ของสำนักงาน คปภ. ในขณะที่อุตสาหกรรมประกันภัยไทยพบกับบททดสอบใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม ระบบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่บริบทการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ (New Normal) ระบบการเงินโลกมีการเชื่อมโยงกันมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของไทย การขาดแคลนแรงงาน การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม (Climate Change) และการพัฒนาของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแบบก้าวหน้า
ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันภัยไทยตามแผนฯฉบับที่ 3 เพื่อให้ระบบประกันภัยไทยเติบโตอย่างยั่งยืนและได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากประชาชนด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย มีการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัยขึ้นเป็นแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน ทำให้ประชาชนที่มาร้องเรียนมีทางเลือกในการระงับข้อพิพาทด้านประกันภัยโดยไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
จากนั้น ได้มีการเสริมสร้างความรู้และการเข้าถึงการประกันภัย ด้วยการให้ความรู้เชิงรุกผ่านโครงการ คปภ. เพื่อชุมชน โครงการอบรมความรู้ประกันภัย (Training for the trainers) โดยนำภาคอุตสาหกรรมประกันภัยร่วมลงพื้นที่รณรงค์สร้างความรู้ ความเข้าใจด้านการประกันภัยเชิงรุกแก่ชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ ควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่สอดคล้องกับความต้องการและความเสี่ยง อาทิ การประกันภัยสำหรับรายย่อย (Micro Insurance) ที่มีเบี้ยประกันภัยราคาถูกและความคุ้มครองเข้าใจง่าย เช่น การประกันภัยข้าวนาปี การประกันภัยลำไย การประกันภัยประมงเรือพื้นบ้าน การประกันภัยอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์และปีใหม่
นอกจากนี้ ยังมีการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแข่งขัน และสนับสนุนบริษัทประกันภัยที่มีศักยภาพออกไปลงทุนในต่างประเทศ และเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการประกันภัย เพื่อยกระดับบุคลากรประกันภัยด้วยการจัดทำหลักสูตรและการอบรมต่างๆ เช่น หลักสูตรวิทยาการประกันภัยระดับสูง หรือ หลักสูตร วปส. ซึ่งเป็นหลักสูตรสหวิทยาการที่เกี่ยวข้องกับประกันภัยอย่างรอบด้าน รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพระบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้านการประกันภัย เพื่อให้ระบบประกันภัยมีฐานข้อมูลกลางด้านการประกันภัย (Insurance Bureau System) และการเชื่อมโยงข้อมูลที่สามารถรองรับการดำเนินงานของหน่วยงานกำกับบริษัทประกันภัย หน่วยงานเครือข่าย และประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการพัฒนา OIC Gateway เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลกับบริษัทประกันภัยกว่า 80 แห่งเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อบริการประชาชนผ่านระบบกลางที่เดียว และต่อยอดให้เกิดความร่วมมือทางเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมประกันภัยในอนาคต มีการจัดตั้ง Center of InsurTech, Thailand (CIT) เพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการประกันภัย (InsurTech) และเทคโนโลยีประกันภัยในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย (Supervisory Technology : SupTech) ให้ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รวมทั้งผลักดันให้ประเทศไทยเป็น InsurTech Startup Hub โดยศูนย์ CIT จะขยายบทบาทในการร่วมพัฒนา RegTech และ SupTech ให้การกำกับดูแลมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็น One Stop Services ศูนย์กลางในคำปรึกษา และคำแนะนำให้แก่บริษัทประกันภัย และ Startup ในทุกมิติ เพื่อรองรับการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในอนาคต
ดร.สุทธิพลกล่าวว่า อีกเรื่องหนึ่งถือเป็นผลสำเร็จที่น่ายินดี คือ ผลการประเมินภาคการเงินสาขาการประกันภัย (Financial Sector Assessment Program – FSAP) ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการเข้ารับการประเมินภาคประกันภัยเป็นครั้งแรก และได้ผลลัพธ์ที่ดีมากเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วหลายแห่ง โดยผลการประเมินได้คะแนนเป็นอันดับที่ 3 ในทวีปเอเชีย และเป็นอันดับที่ 2 ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นผลดีต่อการสร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบประกันภัยของประเทศไทยแสดงให้เห็นว่าทิศทางการพัฒนาธุรกิจประกันภัย is on the right track ภาคประกันภัยของไทย มีมาตรฐานสากล สามารถเทียบชั้นได้กับต่างประเทศ
สำหรับดำเนินงานของ สำนักงาน คปภ. ในบริบท “แลหน้าธุรกิจประกันภัยไทย” คือ การมองอนาคตที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจประกันภัยไทยนั้น เนื่องจากแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 3 กำลังจะสิ้นสุดลงในปี 2563 ดังนั้นในปีนี้ สำนักงาน คปภ. จึงได้เตรียมการในการจัดทำแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2564-2568) โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมประกันภัยให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable Growth) ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการรักษาสมดุลระหว่างการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนและการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจประกันภัย มีศักยภาพ และขีดความสามารถในการแข่งขัน
พร้อมทั้งส่งเสริมบทบาทของธุรกิจประกันภัยไทยให้เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล และเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงให้สอดคล้องกับบริบทด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยในมุมของธุรกิจประกันภัยจะต้องมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ๆ อาทิ บริษัท Sunday หนึ่งใน InsurTech ของไทย ที่สร้างจุดขายด้วยจัดทำ Application ด้วยการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) Machine Learning เข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลแบบ Real-Time ในการคำนวณอัตราเบี้ยประกันภัยทั้งการประกันภัยรถและการประกันสุขภาพที่เหมาะสมตามความเสี่ยงของลูกค้า
และอีกประเด็นที่ต้องพูดถึง คือ การเปิดตัวของ Facebook ในการสร้างสกุลเงินดิจิทัลใหม่ล่าสุดของโลกที่มีชื่อว่า ลิบร้า (Libra) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นสกุลเงินของโลก (Global Currency) ดำเนินงานอยู่บนระบบบล็อกเชน และ Libra อาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ Cryptocurrency กลายเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนได้จริง บนPlatform ของ Facebook ที่มีผู้ใช้มากที่สุดในโลก และโดยส่วนตัวมองว่า Libra ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ภาคการเงิน แต่กระทบภาคประกันภัยและธุรกิจอื่นๆ ด้วย โดยในอนาคต Libra อาจไม่ได้เป็นแค่เงินสกุลที่ใช้ในการชำระเบี้ยประกันภัยและชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ Libra จะทำให้การซื้อขายสินค้าและบริการ รวมถึงประกันภัยข้ามพรมแดนบน Facebook เกิดขึ้นได้โดยไม่ยากอีกต่อไป ซึ่งเป็นโจทย์ที่ ทั้งภาคธุรกิจ หน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องต้องหาทางรับมือกันต่อไป
นอกจากนี้ บทบาทการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและการลงทุนจะก่อให้เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้น ซึ่งบริษัทประกันภัยต่างชาติมีความได้เปรียบในเรื่อง know-how ที่สามารถนำมาปรับใช้ให้เกิดประสิทธิผลในประเทศไทย ส่งผลให้บริษัทประกันภัยในประเทศต้องปรับตัวเพื่อหากลุ่มผู้เอาประกันภัยใหม่ๆ และยกระดับการประกันภัยเพื่อให้สามารถแข่งขันในระดับภูมิภาคได้ ซึ่ง protection gap ในประเทศไทยเกิดจากผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีความอ่อนไหวต่อความเสี่ยง และต้องการความคุ้มครองมากที่สุด
ขณะเดียวกันก็เป็นกลุ่มคนจำนวนมากของประเทศที่ระบบประกันภัยเข้าไปบริหารความเสี่ยงภัยไม่ทั่วถึง ซึ่งถือเป็นโอกาสของบริษัทประกันภัยไทยที่จะเข้าไปรับประกันภัย เช่น การประกันภัยพืชผลตามฤดูกาล การประกันภัยทางการเกษตรแบบเป็น package ร่วมกับกรมธรรม์ประเภทอื่น หรือแม้กระทั้งการประกันภัยแบบครัวเรือน ที่ไม่ได้คุ้มครองแค่ผู้เอาประกันภัยแต่คุ้มครองทั้งครอบครัว ดังนั้นการขยายฐานผู้เอาประกันภัยจึงมีความสำคัญควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีราคาไม่แพง โดยเฉพาะการประกันภัยสุขภาพที่คุ้มครองเฉพาะโรค ซึ่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์เหล่านี้ควรมีการเก็บข้อมูลที่แยกตามความคุ้มครองที่แม่นยำและมีระบบการบริหารจัดการที่เหมาะสมอีกด้วย
“ ผมได้มองย้อนอดีตและส่องอนาคตของธุรกิจประกันภัยไทย โดยฉายภาพพัฒนาการของการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัยให้เห็นแล้วว่าผ่านอะไรมาบ้าง บทเรียนที่ได้เรียนรู้คืออะไร และอะไรคือความท้าทายและโอกาสของภาคธุรกิจที่จะปรับตัวให้เข้าสู่การประกันภัยแบบใหม่ ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค กระแสInsurTech และการแข่งขันของอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น ธุรกิจประกันภัยอาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจใหม่ให้เหมาะสมกับบริบทการเปลี่ยนแปลงต่างๆโดยต้องไม่ติดกับดักของโมเดลธุรกิจประกันภัยแบบเดิมๆ หากใครไม่ปรับตัวหรือปรับตัวไม่เพียงพออาจจะถูกdisrupted ได้ ในขณะเดียวกัน สำนักงาน คปภ. ไม่สามารถเดินหน้าหรือผลักดันมาตรการต่างๆ ไปสู่จุดหมายใหม่ได้โดยลำพัง ผมจึงคาดหวังว่าจะได้รับความร่วมมือ และการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ในการผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายสำคัญต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ต่ออุตสาหกรรมประกันภัย อันจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่ยั่งยืนต่อไป” เลขาธิการ คปภ. ย้ำในที่สุด.