มีโอกาสน้อยที่จะเกิดJ-curve effect ในระยะสั้น
EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ผลกระทบจากสงครามการค้าทำให้ธนาคารกลางต่างๆ เริ่มส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้น อีไอซีประเมินว่า กนง.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้แต่เริ่มเห็นความเสี่ยงการลดดอกเบี้ยนโยบายหากเศรษฐกิจปีนี้โตต่ำกว่า 3% (อีไอซีคาด 3.1%) การกลับมาของ J-curve effect? อีไอซีประเมินว่า มีโอกาสน้อยที่จะเกิด J-curve effect ในระยะสั้น เนื่องจากแม้ ธปท. จะลดปริมาณการประมูลพันธบัตรระยะสั้นในเดือนกรกฎาคมลง แต่ไม่ทำให้ยอดคงค้างลดลงไปด้วย
แรงกดดันต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยเพิ่มขึ้น โดยอีไอซีปรับประมาณการอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะสั้น อายุ 1 ปี มาอยู่ในกรอบ 1.65-1.75% ณ สิ้นปี 2019 (จากเดิม 1.7-1.8%) และปรับลดประมาณการอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี ลงมาอยู่ที่ 1.90-2.00% ณ สิ้นปี 2019 (จากเดิม 2.6% -2.8%)
คาดแรงกดดันของการแข็งค่าของเงินบาทยังมีอยู่ต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี จากสัญญาณการลดดอกเบี้ยนโยบายของ Fed และธนาคารกลางอื่นๆ ในภูมิภาค และ จากสถานะ regional safe haven ของเงินบาท โดยอีไอซีปรับประมาณการเงินบาท ณ สิ้นปี 2019 แข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 30-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (จากเดิม 31-32)
อีไอซีมองว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ โดย กนง. ยังประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวสูงขึ้นในปี 2020 และยังคงให้ความสำคัญต่อการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินอยู่ นอกจากนี้ อีไอซีมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงของไทยอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม หากผลกระทบและความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าโลกเร่งตัวมากกว่าคาดในครึ่งหลังของปี จนทำให้เศรษฐกิจปี 2019 อาจเติบโตน้อยกว่า 3% อีไอซีคาดว่าในกรณีนี้ กนง. อาจปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 1 ครั้งในช่วงปลายปี
กนง. ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75% ในการประชุมครั้งล่าสุด เนื่องจากประเมินเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าที่คาด แต่ยังคงแสดงความกังวลต่อเสถียรภาพระบบการเงิน และเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 26 มิถุนายน 2019 คณะกรรมการมีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75% ต่อปี และปรับลดตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2019 ลงจาก 3.8% มาอยู่ที่ 3.3% ซึ่งมีปัจจัยสำคัญมาจากการส่งออกสินค้าที่คาดว่าจะขยายตัว 0% ในปีนี้ ชะลอลงกว่าที่ประเมินไว้มาก ในด้านการท่องเที่ยวก็มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้เช่นกัน โดยประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงจาก 40.4 ล้านคน เป็น 39.9 ล้านคน สำหรับอุปสงค์ภายในประเทศ กนง. ประเมินการลงทุนภาครัฐลดลงค่อนข้างมากจาก 6.1% เป็น 3.8% ซึ่งเป็นผลจากการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2020 ที่คาดว่าจะล่าช้าลง ในด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไป กนง. ยังคงประมาณการไว้เท่าเดิมที่ 1.0% ในปีนี้ ส่วนภาวะการเงิน กนง. ประเมินว่ายังอยู่ในระดับผ่อนคลาย แต่แสดงความกังวลต่อเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วและอาจไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ในด้านเสถียรภาพระบบการเงิน กนง. ยังคงประเมินว่าระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ก็ยังมีความกังวลเกี่ยวกับพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ทั้งนี้ กนง. ยังคงกล่าวว่า จะมีการใช้ทั้งมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential) และมาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (microprudential) ควบคู่กับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อดูแลเสถียรภาพระบบการเงินต่อไป
การกลับมาของ J-curve effects
จากการศึกษาของอีไอซี เชื่อว่า J-curve effect (ภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะสั้นจะอยู่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างมีนัยสำคัญ) ที่เกิดขึ้นในช่วงเมษายน 2017 – พฤษภาคม 2018 น่าจะเกิดจาก 3 ปัจจัย 1) ตลาดเริ่มคาดว่า กนง จะมีการลดดอกเบี้ย 2) ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างมีนัย และ 3) การลดลงของปริมาณการประมูลพันธบัตรระยะสั้นของ ธปท. จนทำให้ยอดคงค้างลดลงด้วย ซึ่งเมื่อเทียบกับภาวะปัจจุบัน อีไอซีเชื่อว่าปัจจัยที่ 1และ2 ได้เริ่มเกิดขึ้นแล้ว แต่ปัจจัยที่ 3 ยังไม่เกิดขึ้น โดยล่าสุดในเดือนกรกฏาคมแม้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะลดปริมาณพันธบัตรระยะสั้นลงแต่ไม่ทำให้ยอดคงค้างลดลงไปด้วย อีไอซีจึงเชื่อว่ามีโอกาสน้อยที่จะเกิด J-curve effect ในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม หากในช่วงครึ่งหลังของปี ธปท. ลดปริมาณพันธบัตรระยะสั้นจนทำให้ยอดคงค้างลดลง โอกาสเกิด J-curve effect น่าจะเพิ่มสูงขึ้น
การลดปริมาณพันธบัตร ธปท. ที่จะถูกประมูลในเดือนกรกฎาคมไม่ทำให้ยอดคงค้างพันธบัตร ธปท. ลดลงตามไปด้วย ทำให้โอกาสที่จะเกิดภาวะ J-curve จึงยังมีค่อนข้างน้อย ในกำหนดการออกพันธบัตร ธปท. ประจำเดือนกรกฎาคม 2019 พบว่า ปริมาณพันธบัตรที่จะถูกประมูลในเดือนกรกฎาคมถูกปรับลดลง ทำให้ผู้ร่วมตลาดส่วนหนึ่งมองว่า ธปท. ได้ใช้มาตรการเดียวกันกับเมื่อเดือนเมษายน 2017 ที่ได้ลดการออกพันธบัตรระยะสั้น
เพื่อลดการเก็งกำไรค่าเงินบาทของนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดี การลดปริมาณพันธบัตรในเดือนกรกฎาคมนี้ไม่ได้ถูกประกาศโดย ธปท.ว่าเป็นมาตรการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดการเก็งกำไรค่าเงินบาทเหมือนในปี 2017 แต่เป็นเพียงการปรับตามสภาพคล่องในตลาดที่จะมีปริมาณพันธบัตร ธปท. ครบกำหนดอายุ (mature) ในเดือนกรกฎาคมน้อยลงกว่าในเดือนก่อน นอกจากนี้ เมื่อดูยอดคงค้างพันธบัตร ธปท. ระยะสั้น พบว่า ยอดคงค้างในช่วงที่ผ่านมายังคงเพี่มขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้นการลดปริมาณการออกพันธบัตรระยะสั้นนี้น่าจะยังไม่ช่วยให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ และโอกาสที่จะเกิดภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะสั้นจะอยู่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาก หรือที่เรียกว่า J-curve effect ก็น่าจะมีค่อนข้างน้อยในช่วงระยะสั้นนี้.