NEDA เปิดแผน 5 ปีรุก CLM
“พีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์” หนุ่มใหญ่วัย 50 ต้นๆ กับภารกิจ “หัวเรือใหญ่” ในฐานะ “ผู้อำนวยการ” สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) หรือ NEDA หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง ซึ่งเขาได้ผ่านพ้นช่วงเวลา 1 ปีเศษของการทำงานในองค์กรแห่งนี้
น่าสนใจว่า….ช่วงเวลา 5 ปีนับจากนี้ เขาจะนำพาองค์กรต้นสังกัดแห่งนี้ไปยังจุดไหน? เรื่องนี้ เว็บไซต์ข่าว AEC10NEWS มีคำตอบ…
“พีรเมศร์” บอกกับ เว็บไซต์ข่าว AEC10NEWS ระหว่างร่วมพิธีส่งมอบโครงการก่อสร้างถนนจากเมืองหงสา-บ้านเชียงแมน (เมืองจอมเพชร แขวงหลวงพระบาง) ระยะทาง 114 กม. มูลค่าก่อสร้างกว่า 1,900 ล้านบาท เมื่อช่วงวันที่ 25-28 มิ.ย.ที่ผ่านมา ว่า…ตลอดระยะเวลา 1 ปีเศษที่เข้ามาบริหารงานตำแหน่ง ผอ.NEDA (25 เม.ย.61) ถือว่า เป็นช่วงเวลาที่ NEDA มีผลงานกับหลายโครงการที่เกิดขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้ ไม่ค่อยจะมีผลงานอะไรมากนัก
พร้อมยกตัวอย่างโครงการที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา อาทิ การลงนามเซ็นสัญญาในโครงการพัฒนาถนนหมายเลข 11 (R11) ช่วงครกข้าวดอ–บ้านโนนสะหวัน-สานะคาม–บ้านวัง–บ้านน้ำสัง ใน สปป.ลาว ที่เพิ่งไปเซ็นสัญญาเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.62 (โดยสัญญาจ้าง / สัญญาเงินกู้ ได้เซ็นไปตั้งแต่ ก.ย.61แล้ว) โดยได้ผู้รับเหมา 2 เจ้า คือ บริษัท ประยูรชัยฯ และบริษัท ส.เหมราช ที่ชนะการประมูลไปแล้ว วงเงินประมาณ 1,600 ล้านบาท
2.โครงการด่านถาวรชนบท ที่ประเทศกัมพูชา ที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีไทยและกัมพูชา เพิ่งไปร่วมทำพิธีเปิดโครงการฯเมื่อ 1-2 เดือนก่อน บริเวณสะพานเชื่อมระหว่าง 2 ประเทศ ซึ่งโครงการนี้ ก็สามารถจัดจ้างและหาผู้รับเหมาได้เรียบร้อยแล้ว มูลค่าโครงการประมาณกว่า 800 ล้านบาท โดยจะเริ่มก่อสร้างพร้อมกับทางฝั่งไทย ราวปลายปี 62
โครงการนี้สามารถจะเชื่อมต่อฝั่งไทย บริเวณชายแดนด้านอรัญประเทศ ก่อนหน้านี้การผ่านแดนระหว่างกันจะต้องไปยังบริเวณจุดผ่านแดนด่านปอยเปต ซึ่งเป็นจุดที่ไม่ค่อยจะสะดวกนัก เพราะมีจราจรหนาแน่นมาก เนื่องจากมีรถบรรทุกรอเข้าคิวจนรถติดขัดยาวราวเกือบ 2 กม.ในทุกๆ เช้า แต่จากนี้ไป เมื่อทำการแยกระหว่างด่านคนและด่านรถออกจากกัน ก็จะช่วยอำนวยความสะดวกได้มากยิ่งขึ้น โดยด่านที่คนจะผ่าน เปลี่ยนไปใช้ที่ด่านอรัญประเทศ ส่วนด่านรถจะไปใช้ในด่านหนองเอี่ยนชนบท เชื่อว่าโครงการนี้จะช่วยลดความแออัดของด่านปอยเปตได้ คาดว่าจะเริ่มลงมือก่อสร้างเสร็จในปี 63 และแล้วเสร็จในปี 64-65
3.อีกโครงการที่เพิ่งเข้าสู่การประชุมบอร์ด NEDA คือ โครงการในประเทศเมียนมาร์ ซึ่งถือเป็นโครงการแรก เนื่องจากไม่เคยทำโครงการใดๆ ในประเทศนี้มาก่อน โดยเป็นโครงการที่ NEDA ทำร่วมกับธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) เป็นโครงการปรับปรุงระบบน้ำประปา และระบบกำจัดขยะ ที่เมืองเมียวดี บริเวณจุดตรงข้ามกับ จ.ตากของไทย
4.โครงการปรับปรุงถนนหมายเลข 67 (NR67) จากเมืองอันลองเวง ไปเสียมเรียบ (เสียมราฐ) ของกัมพูชา ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการออกแบบ คาดว่าจะเสร็จภายใน 3 เดือนนับจากนี้ มูลค่าโครงการประมาณ 1,000 ล้านบาท
5.โครงการก่อสร้างถนน 2 ช่องทางจาก จ.กาญจนบุรี ไปเมืองทวายของประเทศเมียนมาร์ ซึ่งอยู่ระหว่างการออกแบบ คาดว่าแบบน่าจะเสร็จในเดือน ก.ย.นี้ โครงการมูลค่า 4,500 ล้านบาท ซึ่งหากแบบเสร็จ การก่อสร้างจริงอาจมีราคาต่ำกว่านั้น
“แต่โครงการที่ผมรู้สึกภูมิใจมาก ก็คือ โครงการยุทธศาสตร์การให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศเพื่อนบ้าน ที่เรียกว่าโครงการแผนระยะยาว 5 ปี (62-67) เราวางยุทธศาสตร์ที่ว่า ใน 3 ประเทศ คือ CLM (กัมพูชา ลาว และเมียนมาร์) เราจะช่วยเหลือในโครงการใดบ้าง โดยจะระดมความคิดจากทุกภาคส่วน ทั้งส่วนราชการ เอกชน จังหวัดชายแดน สภาหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมฯ ฯลฯ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ได้ส่งคนไปเก็บข้อมูลในทุกพื้นที่ของจังหวัดที่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 3 ประเทศ โดยจะยึดจากจุดผ่านแดนถาวรเป็นหลัก แล้วมาดูว่าโครงการประเภทไหนที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดกับทั้งประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน” ผอ.พีรเมศร์ ย้ำ และว่า…
เนื่องจากทุกโครงการที่ผ่านมา จะเป็นไปในลักษณะที่ประเทศเพื่อนบ้านขอความช่วยเหลือมาทาง NEDA ซึ่งการทำงานในลักษณะนี้ ถือว่าเป็นการ “ตั้งรับ” เพราะ NEDA แค่พิจารณาดูว่าจะให้ตามคำขอหรือไม่เท่านั้น
แต่จากแผนตามยุทธศาสตร์ใหม่จากนี้ไป NEDA จะเป็นฝ่ายเสนอให้รัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLM พิจารณาว่าจะรับโครงการที่เราเสนอไปหรือไม่? โดยอาจเสนอโครงการไปยังประเทศต่างๆ ตลอดแผน 5 ปี ราว 8-9 โครงการ ส่วนรัฐบาลประเทศเพื่อนจะเห็นชอบและอนุมัติกับโครงการที่เสนอไป เพียง 3-4 หรือ 5 โครงการก็ไม่เป็นไร เพราะความต้องการของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอาจไม่เหมือนกัน เพียงแต่ที่ NEDA คัดโครงการเสนอไปนั้น เพราะเชื่อว่ามันเกิดประโยชน์อย่างมากต่อทั้ง 2 ประเทศ
เช่น โครงการก่อสร้างถนนที่เราสร้างเพื่อให้เชื่อมต่อการสร้างโอกาสทั้งทางด้านการค้า การท่องเที่ยว และอื่นๆ อาทิ จุดผ่านแดนระหว่าง 2 ประเทศ หรือหากภาคเอกชน (หอการค้าจังหวัดต่างๆ) เสนอผ่านทาง NEDA ว่า… “หากมีถนนเส้นนี้ จะช่วยให้การส่งออกสินค้าทำได้มากขึ้น” NEDA ก็พร้อมจะลงพื้นที่เพื่อจัดหาข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจ
อย่างไรก็ดี ตลอดระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา NEDA ก็ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อหาข้อมูลประกอบการจัดทำโครงการต่างๆ บ้างแล้ว ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างการเสนอให้บอร์ด NEDA ได้พิจารณาในขั้นตอนสุดท้าย คาดว่าจะได้ผลสรุปในเดือน ก.ย.ที่จะถึงนี้
“เมื่อถึงบทสรุปแล้ว โครงการที่ NEDA เสนอไป อาจจะเหลือแค่ 5 โปรเจ็คต์ต่อประเทศ จากนั้น เราก็จะนำกลับมาทำแผนยุทธศาสตร์ เพื่อวางกลยุทธ์เชิงรุกในอนาคต รูปแบบนี้ มันคล้ายกับที่ JICA (องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น) ทำให้กับประเทศในเอเชีย โดยที่เราเน้นเชิงรุก เพราะไม่ต้องการรอให้รัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านร้องขอมาเพียงฝ่ายเดียว แต่ครั้งนี้ เราจะเป็นฝ่ายรุกเข้าไปหาประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งทุกโครงการล้วนก่อประโยชน์ต่อทั้ง 2 ประเทศ” ผอ. NEDA ย้ำ
ถึงตรงนี้ จะเป็นว่า…โครงการต่างๆ ของ NEDA มีมากมาย ลำพังงบประมาณแผ่นดินที่ NEDA ได้รับจัดสรรจากรัฐบาลไทยเพียงปีละ 800-900 ล้านบาท จะเพียงพอหรือไม่ เรื่องนี้…ได้รับคำตอบว่า “ไม่เพียงพออย่างแน่นอน”
เนื่องจากมูลค่าของโครงการที่ NEDA ทำในแต่ละปี มีราวๆ 2,000 ล้านบาท สูงกว่างบประมาณที่ได้รับมา ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องกู้ยืมจากแหล่งเงินภายในประเทศ ทั้งการกู้ยืมตรง และการออกพันธบัตรฯ โดยการกู้ยืมตรง ส่วนมากมาจากสถาบันการเงินของรัฐ อาทิ ธนาคารกรุงไทย, ออมสิน, EXIM Bank ฯลฯ ซึ่งบางครั้งอาจไม่ใช่เงินกู้แบบ “ซอฟท์โลน” เพียงแต่ส่วนต่างดอกเบี้ยที่ NEDA ได้รับจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินกู้จากแบงก์รัฐนั้น รัฐบาลไทยจะชดเชยมากให้ โดยแต่ละปี NEDA มีแผนการกู้ยืมเงินเฉลี่ยปีละประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งนั่นได้ช่วยให้ขนาดกองทุน (สินทรัพย์) ของ NEDA เติบโตและใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี
ผอ.พีรเมศร์ บอกว่า…ทุกปี NEDA จะมีดอกเบี้ยรับจากโครงการเงินกู้ของประเทศเพื่อนบ้าน ตกราวปีละ 130-150 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ก็ได้รับคืนเงินต้นกลับมาด้วย เฉลี่ยปีละ 200-300 ล้านบาท ซึ่งนั่น ทำให้ NEDA มีฐานการเงินที่เข้มแข็ง ไม่จำเป็นต้องพึ่งพางบประมาณแผ่นดินเหมือนหน่วยงานอื่นๆ เนื่องจาก NEDA มีรายจ่ายจากการบริหารจัดการแต่ละปีตกเพียงแค่ 60 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งทำให้ NEDA สามารถบริหารจัดการงานบุคลการได้โดยไม่จำเป็นต้องรบกวนเงินงบประมาณของรัฐบาล
สำหรับงบประมาณสนับสนุนโครงการต่างๆ ให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน ที่ใช้เงินราวปีละ 2,000 ล้านบาท ถึงตรงนี้ ทำให้ NEDA มีพอร์ตวงเงินที่ปล่อยกู้ไปแล้วราว 18 ,000 ล้านบาท หากรวมกับแผน 5 ปีอีก 10,000 ล้านบาท
จะทำให้พอร์ตสินเชื่อของ NEDA เข้าใกล้ 30,000 ล้านบาทเข้าไปทุกที ขณะที่สินทรัพย์ของ NEDA มีประมาณ 25,000 ล้านบาท เทียบได้กับสถาบันการเงินเล็กๆ แห่งหนึ่งเลยทีเดียว
“เงินที่เราปล่อยกู้ไปนั้น จะมีรายได้คืนกลับเข้ามา ทั้งในรูปดอกเบี้ยรับและเงินต้น แต่เนื่องจากเป็นเงินอุดหนุนจากรัฐบาล รายได้ที่มีเข้ามา…เมื่อถึงสิ้นปี จึงไม่จำเป็นต้องส่งคืนเข้าคลังให้กับรัฐบาล เหมือนส่วนราชการอื่นๆ ทำให้เราสามารถนำรายได้ที่มีไปปล่อยกู้ต่อให้กับโครงการใหม่ๆ เพิ่มเติมได้ตลอดเวลา ทำให้ NEDA มีความคล่องตัวที่สูงมาก” ผอ.พีรเมศร์ ระบุ
สำหรับโครงการต่างๆ ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวข้องกับรัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้านนั้น จำเป็นจะต้องนำเสนอให้รัฐบาลได้พิจารณาก่อน โดยหากเป็นโครงการเงินกู้ก็จะต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีทุกครั้ง ยกเว้นเป็นโครงการให้เปล่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการเล็กๆ แค่นำเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ด โดยไม่ต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
แต่เพราะมี พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 จึงทำให้การเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี NEDA จะต้องเขียนแผนงบประมาณให้ชัด ทั้งเรื่องภาระหนี้ ภาระเงินกู้ ภาระเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมถึงเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จนสิ้นสุดโครงการนั้นๆ นอกจากนี้ ยังต้องทำแผนงบประมาณตลอดอายุโครงการว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า จะมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่? มีเงินเข้าออกเท่าไหร่? อย่างไร? ซึ่งตาม พ.ร.บ.งบประมาณฯ และ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังนั้น สำนักงบประมาณจะต้องจัดสรรงบประมาณให้ NEDA ตามแผนงานข้างต้น ที่อนุมัติโดย คณะรัฐมนตรี เพราะเป็นข้อบังคับตามกรอบกฎหมายดังกล่าว
สำหรับภารกิจและการดำเนินงานของ NEDA กับงบประมาณในแต่ละปีนั้น ผอ.พีรเมศร์ บอกว่า…ไม่น่าเป็นห่วง แต่ที่ยังกังวลใจ คือ จำนวนบุคลากรกับเนื้องานที่เกิดขึ้นจริง ยอมรับว่าบุคคลการราว 60 คน เริ่มจะไม่เพียงพอแล้ว จำเป็นจะต้องผสมผสานระหว่างการเพิ่มจำนวนบุคลากร และการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยในการดำเนินงาน
ยิ่งตอนนี้มีแนวโน้มที่ NEDA จะได้รับมอบหมายให้เข้าไปรับผิดชอบกองทุน ACMECS (ข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำอิระวะดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Aeyawadee-Chaopraya-Mekong Economic Coorperation) เป็นข้อตกลงความร่วมมือด้านธุรกิจระหว่างประเทศไทย,พม่า,ลาว,กัมพูชา และเวียดนาม) ที่ประเทศไทยเป็น “หัวเรือใหญ่” และคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเงินลงขันให้กับกองทุนดังกล่าวแล้ว
โดยประเทศไทยจะลงทุนในกองทุน ACMECS ประมาณ 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเฉลี่ยปีละ 40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลอด 5 ปี โดยกองทุนฯนี้ จะเริ่มดำเนินงานในปี 63 ซึ่งก็จะล้อไปกับแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีของ NEDA อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างรอความชัดเจนว่า NEDA จะได้เข้าไปบริหารกองทุนนี้หรือไม่? เนื่องจากยังไม่มีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ แต่คาดว่าโอกาสจะได้เข้าไปบริการกองทุนฯนี้ มีสูงถึง 80% ทีเดียว
“การบริหารกองทุน ACMECS ถือเป็นคนละส่วนกับการทำงานของ NEDA เพราะเราแค่บริหารกองทุนให้ทางกลุ่ม ACMECS โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอนุมัติโครงการ ซึ่ง ACMECS เอง ก็จะมีบอร์ดบริหารฯคอยพิจารณาโครงการความช่วยเหลือตามที่รัฐบาลแต่ละประเทศยื่นเสนอมา” ผอ. NEDA ระบุ และย้ำว่า…
“เมื่อโครงการผ่านการอนุมัติจากบอร์ดของ ACMECS แล้ว เรื่องจึงมาถึงเรา และก็ไม่ใช่แค่โครงการกู้ยืมเงิน หากยังรวมถึงการให้เปล่า ซึ่งทั้งหมดจะจ่ายเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งต่างจากโครงการของ NEDA ที่ทุกอย่างจะจ่ายเป็นเงินบาทของไทย”
ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศไทยเป็นพี่ใหญ่ในกลุ่มนี้ จึงต้องลงขันมากหน่อยและช่วยบริหารกองทุนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยบางครั้งกองทุน ACMECS อาจได้รับเงินบริจาคจากหน่วยงานภาคนอก เช่น ประเทศญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา หรือประเทศอื่นๆ ที่สนใจ เพื่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศในกลุ่มนี้ ทั้งนี้ ประเทศที่ร่วมลงขันในกองทุนนี้ จะไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ เพราะถือเป็นการบริจาคเช่นกัน
ผอ.พีรเมศร์ ยอมรับว่า งานตามแผนยุทธศาสตร์ของ NEDA ก็มีมากอยู่แล้ว เมื่อได้รับมอบหมายภารกิจใหม่ให้เข้าไปบริหารกองทุน ACMECS ทำให้ NEDA จำเป็นจะต้องเพิ่มบุคลากร ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นไปที่กลุ่ม “นักการเงิน” ซึ่งจะต้องลงไปดูงานบริหารการเงินและกองทุน เพื่อให้เกิดดอกผล รวมถึงต้องจัดทำรายงาน และต้องเดินทางลงพื้นที่เพื่อไปตรวจสอบโครงการในต่างประเทศ
สรุปให้เข้าใจง่าย บุคลากรใหม่นั้น จะต้องเป็นทั้งนักการเงินและนักปฏิบัติงานในภาคสนามด้วย โดยเฉพาะบุคลากรที่จะเปิดรับเข้ามารับผิดชอบงานในกองทุน ACMECS คงใช้ประมาณ 8-9 คน แต่ในส่วนของ NEDA เอง ก็ต้องเพิ่มบุคลากร แต่คงไม่มากนัก โดยจะใช้วิธี Outsource (จ้างงานภายนอก) พร้อมกับนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงาน ซึ่ง Outsource ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่งาน Lutein เช่น งานแม่บ้าน งานเอกสาร คนขับรถ คอมพิวเตอร์ ฯลฯ เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายและไม่ต้องผูกพันธ์ในระยะยาว
ถามว่ารัฐบาลควรจะคาดหวังอะไรจาก NEDA? ผอ.พีรเมศร์ ย้ำว่า คำตอบคือ NEDA เป็นกลไกหนึ่งของรัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาลจะสั่งอะไร NEDA ก็พร้อมทำให้ตลอดและจะทำให้ดีที่สุด โดยทำอย่างตรงไปตรงไปและโปร่งใส เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้งบประมาณที่น้อยที่สุด
สำหรับนักลงทุน ผู้ประกอบ รวมถึงภาคประชาชน ควรจะคาดหวังอะไรได้บ้าง? ผอ. NEDA บอกว่า สิ่งที่ควรคาดหวัง คือ โอกาสที่ดี โดยเฉพาะโอกาสทางด้านการค้าและการลงทุน ซึ่งโครงการต่างๆ ของ NEDA ล้วนส่งผลดีต่อนักลงทุนไทย อย่างไรก็ดี นักลงทุนไทยควรจะเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน เพราะจะได้ข้อมูลสำคัญจาก NEDA เพื่อใช้ในการวางแผนลงทุนในอนาคต
“การเปิดเสรีอาเซียน หากเราไม่ไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน นักลงทุนจากประเทศเพื่อนบ้านก็จะเข้ามาลงทุนและทำงานในบ้านเรา ถ้าเราไม่ออกไป เราก็จะเสียเปรียบต่างชาติ ซึ่งไม่เฉพาะแค่อาเซียน แต่ยัง +3 และ +6 อีก ซึ่งจะทำให้นักลงทุนบ้านเราสูญเสียโอกาส ซึ่ง NEDA สนับสนุนให้นักลงทุนไทยออกไปลงในต่างประเทศ ซึ่งนักลงทุน นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ รวมถึงประชาชนตามแนวตะเข็บชายแดนไทยและเพื่อนบ้าน ต่างก็จะได้ประโยชน์จากการภารกิจของ NEDA”
ผอ.พีรเมศร์ ย้ำว่า ความสำเร็จของ NEDA ไม่ได้พิจารณาจากอัตราการเติบโต หรือการขยายตัวของรายได้ แต่จะดูว่า NEDA สามารถตอบโจทย์นโยบายของรัฐบาลได้มากน้อยแค่ไหน? จำนวนโครงการที่เกิดขึ้นและเป็นประโยชน์ของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านมีมากน้อยแค่ไหน? การลงทุนเกิดความคุ้มค่าหรือไม่? รวมถึงมูลค่าการค้าที่เกิดขึ้นจากภารกิจของ NEDA เช่น ด่านฯที่ NEDA ไปเปิดและสร้างเส้นทางเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านนั้น สนับสนุนให้การค้าเติบโตระดับไหน? เช่น ปัจจุบันการค้าชายแดนมีเฉลี่ยที่ 5,000 ล้านบาทต่อปี เมื่อเวลาผ่านไป 5 ปี มูลค่าการค้าขยับขึ้นไปเป็น 10,000 ล้านบาท ตรงนี้ถือเป็นความสำเร็จของ NEDA เช่นกัน
“ขณะที่เราวัดผลของตัวเอง ทาง ก.พ.ร. (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ) และรัฐบาล ต่างก็วัดผลจากการดำเนินงานของเราด้วย ทั้งนี้ เป็นไปได้ว่า หากผลสำเร็จของ NEDA มีสูง โอกาสที่รัฐบาลจะเพิ่มงบประมาณในการดำเนินโครงการต่างๆ ก็อาจจะเพิ่มมากขึ้นไปด้วย” ผอ. NEDA ระบุ
สำหรับ 1 ปีเศษของการบริหารงานในตำแหน่งดังกล่าวนั้น ผอ.พีรเมศร์ บอกว่า ตนรู้สึกพอใจกับผลงานที่ผ่านมา แต่คิดว่ายังมีอะไรให้ต้องทำอีกเยอะ เช่น การเตรียมการรองรับที่ประเทศไทยจะต้องเข้าสู่สังคม “ดิจิทัล อีโคโนมี” ซึ่งยังไม่ได้ปรับปรุงมากนัก โดยในปี 63 อาจต้องลงไปดูที่ พ.ร.บ.ดิจิทัล ว่า เราควรจะต้องปรับอะไรบ้าง ทั้งในระดับองค์กร และขับเคลื่อนองคาพยพอื่นๆ เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของประชาชน พร้อมกับนำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการให้มากยิ่งขึ้น
นอกจากนั้น เรื่องโครงการในอนาคต ที่คาดว่าน่าจะมีคำขอเข้ามาเป็นจำนวนมาก จำเป็นจะต้องมีการพิจารณาคัดเลือกอย่างถี่ถ้วนและรอบคอบ เพราะงบประมาณทุกบาททุกสตางค์ที่ใช้ไป มีอย่างจำกัด จำเป็นจะต้องเลือกโครงการที่มีประโยชน์สูงสุด
ส่วนความพร้อมของบุคลกากรกับเทคโนโลยีนั้น ผอ. NEDA ถือว่า มีอยู่ในระดับหนึ่ง แต่จะต้องจัดโครงการพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง ทั้งส่วนโครงการ In House ซึ่งทุกคนจะได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน รวมถึงจัดส่งบุคลากรทุกระดับ ตั้งแต่ผู้บริหารจนถึงเจ้าหน้าที่ ไปอบรมในโครงการต่างๆ พยายามให้พวกเขาได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อให้ปรับตัวเข้ากับนวัตกรรมและโลกที่มันเปลี่ยนไป
รวมถึงการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ใหม่ๆ ซึ่งทั้งหมดจะช่วยในเรื่องการประหยัดเวลา และเกิดประสิทธิภาพ รวมถึงลดเวลาในการทำงานได้เพิ่มขึ้น ลดการใช้ทรัพยากรของสำนักงาน เช่น กระดาษ และยังสามารถสื่อสารได้รวดเร็ว ถูกต้อง เพราะเทคโนโลยีถือเป็นสิ่งสำคัญ ที่บุคลากรทุกคนจำเป็นจะต้องทุ่มเทในสิ่งนี้ให้มาก
ในส่วนของ “ผู้นำองค์กร” นั้น ผอ.พีรเมศร์ยอมรับว่า ตัวเขาไปกับเทคโนโลยีได้ในระดับหนึ่ง แต่จะต้องเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เพียงแต่อาจไม่ไวเหมือนกับคนรุ่นใหม่ กระนั้น ตัวเขาก็จะพยายามและทำในทุกวิถีทางเพื่อให้เดินไปกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้เป็นอย่างดี
และนั่น คือ บทสัมภาษณ์พิเศษ ที่ เว็บไซต์ข่าว AEC10NEWS ได้จาก… “พีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์” ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ความหวังและอนาคต” ของหน่วยงานอย่าง NEDA กับภารกิจสำคัญตรงตามชื่อองค์กร นั่นคือ…
การให้ความสำคัญและให้ความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจแก่ประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว…ผลประโยชน์ทั้งมวล ล้วนตกอยู่กับประเทศและพลเมืองของทั้ง 2 ชาติ จากโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั่นเอง!.