เสียท่า…เกมการต่อรองคนกันเอง?
ยิ่งเข้าใกล้ “โค้งอันตราย” ในห้วงที่ต้องเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณา “งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563” มูลค่า 3.2 ล้านล้านบาท (ขาดดุล 4.36 แสนล้านบาท และเริ่ม “คิ๊กออฟ” 17 ต.ค.นี้) มากเท่าใด?
เกมการต่อรองกับรัฐบาล “ลุงตู่” จากบรรดาพรรคร่วมรัฐบาล ก็ยิ่งมีสูงถึงสูงมากเท่านั้น?
ระหว่างภาพ “เสียงปริ่มน้ำ” ในสภาผู้แทนราษฎร ท่ามกลางภาวะ “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” หรือ “ส.ส.” เพียวๆ แบบไม่มี “สภาชิกวุฒิสภา” หรือ “ส.ว.” มาเจือปนและหนุนนำ เหมือนการประชุมรัฐสภาครั้งก่อนๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่แกนหลักรัฐบาลชุดนี้ จำต้อง “โอนอ่อน” ไปตามแรงเหวี่ยงของ “คนกันเอง”
อย่าได้แปลกใจ หากพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น…พรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคภูมิใจไทย จะพยายามสร้างผลงานของตัวเอง โดยไม่ขัดขาแต่ไม่ร่วมหนุนโครงการ/มาตรการใดๆ ก็ตาม ที่มีชื่อตรงกับพรรคพลังประชารัฐ ?
พรรคประชาธิปัตย์นั้น ชัดเจน! กับนโยบายประกันรายได้ เพราะหลายพืชผลทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็น ปาล์มน้ำมัน ที่เห็นผลกันไปก่อนหน้านี้แล้ว และที่จะมีตามมาเป็นระลอกคลื่น ก็คือ ยางพารา ข้าว และพืชเกษตรอีกหลายๆ ตัว
ขณะที่พรรคภูมิใจไทย ก็พุ่งเป้าไปยังโครงการระบบราง ที่หลายโครงการยังไม่สะเด็ดน้ำ จำเป็นจะต้องผลักดันและขับเคลื่อนให้เป็นผลงานของตัวเอง เช่นกัน
แรงสุดๆ ยามนี้ คงไม่พ้นปม “รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน” (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ที่รอให้ภาคเอกชน อย่าง เครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี) เข้ามาเซ็นสัญญาเดินหน้าโครงการฯ โดยเร็ว หลังจากล่าช้ามายาวนานนับ 10 เดือน
การประกาศ “ลาออกยกคณะ” ของบอร์ดการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ภายใต้การนำของ “เสี่ยกบ” นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานบอร์ด รฟท. เมื่อไม่กี่วันก่อน ไม่ว่าใครจะยกอ้างเหตุผลใด? เพื่อให้มันดูสวยหรู!!
แต่นั่น..ก็ถูกมองเป็นหนึ่งของ “เกมการต่อรอง” ของพรรคร่วมรัฐบาล
ล่าสุด ในการประชุมเตรียมการคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ห้องประชุมวายุภักษ์ 4 กระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 10 ต.ค.62 สดๆ ร้อนๆ นี้เอง ภาพการประชุมเด่นชัด! นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมฯ พร้อมด้วย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม, นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ บอร์ดอีอีซี พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สะท้อนภาพอะไรให้เห็นหลายอย่าง?
จะว่าไปแล้ว…ภาพที่ว่านี้ เริ่มชัดเจนมาตั้งแต่ปลายเดือนที่ผ่านมาแล้ว ส่วนหนึ่งก็เชื่อมโยงมาจากประเด็น “เสียงปริ่มน้ำ” ในการประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 นั่นแหละ
เพราะหาก “เสียงสนับสนุน” จาก ส.ส.ฝั่งรัฐบาล มีไม่เพียงพอ ด้วยเหตุที่ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ไม่ยกมือสนับสนุน ขณะที่ “งูเห่า” จากพรรคฝ่ายค้าน ยังรอท่าทีจาก “ผู้ติดต่อ” ถึงตัวเลขบางอย่าง? และเช็คกระแสสังคมอีกสักนิด
รวมถึง พรรคปัดเศษอีก 7-8 พรรคที่ยังคงรอดู “น้ำใจ – รัฐบาล” ว่า…จะใส่อะไร? เท่าไหร่? อย่างไร? ในสถานการณ์นี้
เหล่านี้ ย่อมเป็นความเสี่ยงที่ “ลุงตู่” และแกนนำรัฐบาล ต่างรู้แก่ใจดี รู้แม้กระทั่ง หัวจิตหัวใจของพรรคฝ่ายค้านว่า…คิดอะไรอยู่?
และนั่น นำไปสู่การ “ต่อรอง” กันขนานใหญ่ เพื่อให้มีการ “ปล่อยผ่าน” บางโครงการ…บางเงื่อนไข…บางข้อเสนอ กันหรือไม่? อย่างไร? ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้คนในสังคมไทย ต่างกำลังจับจ้อง
ก่อนหน้านี้ (30 ก.ย.62) ในการประชุมส่งมอบที่ดินโครงการกรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่มี “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี “นั่งหัวโต๊ะ” ในฐานะประธานการประชุมฯ ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล
ครั้งนั้น ที่ประชุมฯได้พิจารณา และรับทราบความคืบหน้าขั้นตอนการดำเนินงานโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยมีรายละเอียดมากมาย แต่ขอโฟกัสไปที่หน่วยงานภาครัฐจะต้อง “สมยอม” ให้กับเอกชน ผู้ชนะการประมูลฯ โดยเฉพาะบางเงื่อนไขที่หลายฝ่ายกำลังนำไปผูกโยงกับประเด็นข้อกฎหมายที่จะมีตามมาในอนาคต
และที่ตามมาก็คือ การส่งมอบที่ดินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินให้กับกลุ่ม “เครือซีพี” จะด้วยเหตุผลที่ต่างฝ่ายต่างยก “แม่น้ำทั้ง 5” มาอธิบายสังคมไทยอย่างไรก็ตาม สุดท้าย…สิ่งนี้ จะผูกมัดรัดแน่น! กับคนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างแน่นอน
สิ่งที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวภายหลังประชุมคณะอนุกรรมการ อีอีซี เมื่อช่วงบ่ายแก่ๆ ของวันที่ 10 เดือน 10 ว่า กระทรวงการคลัง ได้เร่งรัดการพิจารณาบอร์ดการรถไฟฯชุดใหม่ โดยผ่านอนุกรรมการกลั่นกรองรัฐวิสาหกิจ และคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ อย่างรวดเร็ว โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณารายชื่อบอร์ดการรถไฟชุดใหม่ วันที่ 15 ต.ค.62 และหลังจากนั้น บอร์ด รฟท.ชุดใหม่ จะนัดประชุมพิจารณารายงานและรับทราบการดำเนินโครงการดังกล่าว ก่อนนัดหมายกลุ่ม “เครือซีพี” (กิจการร่วมค้า ซีพีเอช) มาลงนามเซ็นสัญญาในวันที่ 25 ต.ค.ที่จะถึงนี้
เป็นอะไรที่สังคมคลางแคลงใจ…กับแนวทางของรัฐบาล “ลุงตู่” และพรรคร่วมรัฐบาลอย่าง พรรคภูมิใจไทย พอๆ กับคลางแคลงใจที่ว่า…เหตุใด บอร์ด รฟท.ชุดเก่า จึงประกาศลาออก “ยกคณะ” เหมือนไม่อยากจะมีส่วนร่วมรู้เห็นและเกี่ยวข้องอะไรมากนัก กับวิธีการเช่นนี้
ถามว่าเหตุใด? พรรคร่วมรัฐบาลถึงอาศัย ช่วงจังหวะเวลานี้ “ต่อรอง” กันจนมากเกินพอดี ทั้งๆ หากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ไม่ผ่านสภาฯแล้ว ตามมารยาททางการเมืองนั้น ผู้นำรัฐบาล (ลุงตู่) ก็มีทางเลือก 2 ทาง คือ ลาออก กับยุบสภาฯ
หรือเพราะมั่นใจว่า…อย่างไรเสีย ในการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ก็ต้องผ่านสภาฯอยู่ดี แม้จะผ่านแบบ “เส้นยาแดงฝ่าแปด” (เสียงปริ่มน้ำ) ก็ตาม
หรือคิดไปไกลกว่านั้น? ถ้าไม่ผ่าน…ลุงตู่ก็จะประกาศลาออก แล้วปล่อยให้รัฐสภา (ส.ส. + ส.ว.) เลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ สุดท้าย…ก็ได้คนเดิมอยู่ดี และคนเดิมคนนี้…ก็จำต้องเลือก พรรคร่วมฯคณะเก่าๆ เข้าร่วมงานเหมือนเดิม
หรือไกลสุดๆ กระทั่ง ตลอดหลายเดือนที่ผ่าน ไม่ถือว่ามี “รัฐบาลชุดใหม่” เพราะขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการถวายสัตย์ฯ ยังไม่สมบูรณ์แบบ ถือได้ว่า… “รัฐบาลชุดเก่า” (คสช.) ยังคงดำรงตนอยู่ พอๆ กับการมีตัวตนของ “มาตรา 44”
ตรงนี้…ก็สุดจะคาดเดาได้
แต่ที่แน่ๆ วันที่ 25 ต.ค.นี้ การลงนามกับกลุ่ม “เครือซีพี” จะเกิดขึ้นได้หรือไม่? อย่างไร? กว่าจะถึงวันนั้น…รอลุ้นวันประชุมสภาฯ พิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ก่อนดีกว่าไหม?
สงสารก็แต่…รัฐมนตรีในซีกแกนนำรัฐบาล อย่าง…นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ, นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน และอีกหลายรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ ที่อุตส่าห์ทำงาน “หามรุ่งหามค่ำ” หวังพลิกฟื้นเศรษฐกิจและศรัทธาจากคนไทย ด้วยการทุ่มเทสรรพกำลังอย่างเต็มพิกัด
สุดท้าย….ก็อาจต้องเสียท่าให้กับ “คนกันเอง” อีกหรือไม่? อย่างไร? น่าจับตามองอย่างยิ่ง!!!.