จับตาสงครามการค้าสร้างความกังวลเพิ่มเติม
EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ส่งออกเดือน พ.ค. หดตัวต่อเนื่องที่ –5.8%YOY จับตาสงครามการค้าสร้างความกังวลเพิ่มเติม
มูลค่าการส่งออกไทยเดือน พ.ค. 2019 หดตัวที่ -5.8%YOY ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวที่ -2.6%YOY ซึ่งถือเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 และเป็นการหดตัวมากที่สุดในรอบ 34 เดือน ทั้งนี้ในช่วง 5 เดือนแรกของปี มูลค่าการส่งออกยังคงหดตัวที่ -4.5%YOY (ไม่รวมการส่งกลับอาวุธไปยังสหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์)
ด้านมิติการส่งออกรายสินค้า พบว่าสินค้าส่งออกสำคัญที่มีการหดตัวได้แก่ สินค้าที่เป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของการผลิตสินค้าส่งออกของจีนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ เช่น คอมพิวเตอร์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ (-1.8%YOY) ยางพารา (-9.9%YOY) และแผงวงจรไฟฟ้า (-16.4%YOY) เคมีภัณฑ์และพลาสติก (-16.5%YOY) นอกจากนี้ ยังมีสินค้าส่งออกประเภทอื่นที่มีการหดตัว เช่น รถยนต์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ (-17.2%YOY) ข้าว
(-13.3%YOY) และน้ำตาลทราย (-14.4%YOY) ทั้งนี้หากหักทองคำ มูลค่าการส่งออกเดือน พ.ค. จะหดตัวที่ -4.8%YOY
สงครามการค้าที่กลับมาปะทุอีกครั้ง ส่งผลต่อความกังวลของผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้น โดยในช่วงที่สหรัฐฯ และจีนมีการสงบศึกชั่วคราว (ธ.ค. 2018 – เม.ย. 2019) นักลงทุนและสถาบันต่างๆ ค่อนข้างมีความเชื่อมั่นว่าการเจรจาระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะประสบผลสำเร็จ อย่างไรก็ดี เมื่อต้นเดือน พ.ค. สหรัฐฯ ได้แสดงท่าทีไม่พอใจต่อการเจรจาร่วมกับจีน และตามมาด้วยการปรับเพิ่มอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มเติมจากเดิม 10% เป็น 25% ในส่วนของสินค้ามูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการทำให้ตลาดกลับมามีความกังวลอีกครั้ง สะท้อนจากดัชนีความไม่แน่นอนด้านนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ( US Trade Policy Uncertainty Index)[1] ในเดือน พ.ค. ที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็น 234.7 จาก 128.9 ในเดือน เม.ย. นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมันของภาคธุรกิจเอเชียที่สำรวจโดย Thomson Reuters/INSEAD ซึ่งจัดทำขึ้นระหว่าง 31 พ.ค. – 14 มิ.ย.[2] โดยพบว่า ความเชื่อมั่นทางธุรกิจในไตรมาสที่ 2 ของปี 2019 ปรับตัวลดลงมาที่ระดับ 53 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี หรือนับตั้งแต่วิกฤติการเงินในปี 2008 ทั้งนี้ ความกังวลของผู้ประกอบการและความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น มีแนวโน้มส่งผลทางลบต่อทิศทางภาวะการค้าและการลงทุนของโลกในระยะต่อไป
มูลค่าการส่งออกปี 2019 มีโอกาสต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 0.6% โดยจากตัวเลขการส่งออกในเดือน พ.ค. ของไทยและหลายผู้ส่งออกสำคัญในภูมิภาคที่ยังคงติดลบต่อเนื่องและยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัว รวมถึงความไม่แน่นอนและความกังวลที่เพิ่มขึ้นจากภาวะสงครามการค้าที่กลับมาปะทุอีกครั้ง จึงทำให้คาดว่าภาวะการค้าและการลงทุนของโลกมีทิศทางชะลอลงมากกว่าที่เคยคาดการณ์ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลต่อภาคการส่งออกของไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยผลกระทบทางตรงก็ผ่านการส่งออกสินค้าไปยังจีนที่ลดลง โดยเฉพาะในส่วนของสินค้าที่เป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าจีนที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ขณะที่ ผลกระทบทางอ้อมเกิดจากการที่หลายประเทศที่มีการพึ่งพาจีนมีภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอลง จึงทำให้การส่งออกของไทยไปประเทศดังกล่าวมีการปรับตัวลดลงเช่นกัน ซึ่งจากการศึกษาของอีไอซีพบว่า การส่งออกของไทยไปยังตลาดที่พึ่งพาจีนสูงกว่า มักจะมีการชะลอหรือหดตัวมากกว่าการส่งออกไปยังตลาดที่พึ่งพาจีนต่ำกว่าอย่างชัดเจน ดังนั้นจากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงมีความเป็นไปได้สูงที่อัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกในปี 2019 อาจต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 0.6% โดยอาจมีโอกาสหดตัวได้ในปีนี้ ซึ่งตอนนี้ อีไอซีกำลังทำการวิเคราะห์อย่างละเอียด และจะมีการเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการในช่วงต้นเดือน ก.ค. นี้
ปัจจัยสำคัญที่น่าจับตาในระยะต่อไป โดยปัจจัยที่น่าติดตามข้อแรกคือ สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่อาจเพิ่มความรุนแรงได้อีก กล่าวคือในช่วงเดือน ก.ค. ที่จะถึงนี้ สหรัฐฯ อาจมีการพิจารณาเพิ่มภาษีนำเข้าจากสินค้าจีนมูลค่าอีก 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเพิ่มเติม และจีนเองก็อาจจะมีมาตรการตอบโต้กลับเช่นกัน โดยจะต้องดูท่าทีของผู้นำทั้งสองประเทศในช่วงปลายเดือน มิ.ย. นี้ ที่จะมีการประชุม G-20 ว่าจะออกมาในรูปแบบใด นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเกี่ยวกับการปรับเพิ่มภาษีนำเข้ารถยนต์ของสหรัฐฯ ที่ในเบื้องต้นมีแผนจะเก็บจากทุกประเทศในอัตรา 25% ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาข้อตกลงกับสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นโดยจะได้ข้อสรุปภายในเดือนพฤศจิกายนนี้.