ตลาดหุ้นทั่วโลกเคลื่อนไหวผันผวน
SCB CIO Office วิเคราะห์ ตลาดหุ้นทั่วโลกเคลื่อนไหวผันผวน เนื่องจากความกังวลต่อประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ขณะที่ ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น
ตลาดหุ้นทั่วโลกเคลื่อนไหวผันผวน เนื่องจากความกังวลต่อประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ขณะที่ ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น
วิเคราะห์เจาะลึกประเด็นการลงทุนประจำสัปดาห์ วันที่ 21 – 24 พฤษภาคม 2562
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (13 – 17 พฤษภาคม) ตลาดหุ้นทั่วโลกปิดปรับตัวผสมผสาน โดยตลาดหุ้นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ปรับเพิ่มขึ้น หลังประธานาธิบดี ทรัมป์ จะชะลอการเรียกเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์จากยุโรป และญี่ปุ่นออกไปอีก 6 เดือน นอกจากนี้ ตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังได้แรงหนุนจาก GDP ในไตรมาส 1/2562 ของญี่ปุ่นที่ขยายตัวมากกว่าคาด ด้านตลาดหุ้นโซนเอเชียปรับลดลง นำโดยตลาดหุ้นจีน เนื่องจาก ความกังวลเกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่รุนแรงขึ้น หลังจีนประกาศปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ และบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของสหรัฐฯ ทยอยประกาศระงับการทำธุรกิจกับบริษัทหัวเว่ย ด้านราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น จากการคาดการณ์ที่ว่า อุปทานน้ำมันตลาดโลกอาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง และกลุ่มโอเปกได้แสดงความต้องการขยายเวลาปรับลดการผลิตไปจนถึงปลายปีนี้ ในขณะที่ ราคาทองคำปรับลดลง เนื่องจาก สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้น
นักลงทุนรอติดตามประเด็นการเมืองในประเทศ หลังคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรายชื่อ และรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่ออย่างเป็นทางการแล้ว โดยจะมีการเรียกประชุมรัฐสภาในวันที่ 22 พ.ค.นี้ หลังจากนั้น จึงมีการเลือกประธานสภา และประธานวุฒิสภา แล้วจึงสรรหานายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศต่อไป
ตลาดหุ้นไทย ปิดลบตามตลาดหุ้นหลัก ๆ ของโลก จากปัจจัยภายนอกประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน และ จากความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น
มุมมองของเราในสัปดาห์นี้ ในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นทั่วโลกยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน ได้รับปัจจัยกดดันจากประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน โดยตลาดหุ้นยังมีความเสี่ยงที่จะปรับลดลง หากการเจรจาการค้าระหว่างทั้ง 2 ประเทศไม่สามารถตกลงกันได้ และจีนออกมาตรการตอบโต้สหรัฐฯเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังมีความกังวลต่อประเด็น Brexit หลังการเจรจาระหว่างพรรคอนุรักษ์นิยมของ นางเทเรซา เมย์ และพรรคแรงงานของนายเจเรมี คอร์บิน (พรรคฝ่ายค้าน) ประสบความล้มเหลว และ ติดตามผลการเลือกตั้งของสภายุโรป อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมัน และหุ้นกลุ่มพลังงานมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น จาก ความกังวลอุปทานน้ำมันตึงตัว หลังความตึงเครียดในอ่าวเปอร์เซียสูงขึ้น
ตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ GDP ในไตรมาส 1/2562 ของญี่ปุ่น และไทย / ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของยูโรโซน / รายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ / ยอดส่งออก-นำเข้าของไทย และญี่ปุ่น / ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของสหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น / ดัชนีราคาผู้บริโภคของญี่ปุ่น
เหตุการณ์สาคัญ ได้แก่ ความคืบหน้าประเด็นการค้าระหว่างสหรัฐฯ- จีน/การเลือกตั้งสภายุโรป/การเลือกประธานสภาและประธานวุฒิสภา ของไทย