โปรตีนจากพืช โอกาสทางการผลิตคนรักสุขภาพ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ความนิยมในการบริโภคโปรตีนจากพืช (Plant-based protein) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามกระแสรักสุขภาพ และการบริโภคอาหารที่ผลิตจากพืชล้วนซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณว่า มูลค่าการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพในปี 2561 มีมูลค่าประมาณ 86,648 ล้านบาท โดยกลุ่มโปรตีนจากพืชและนมพืช ซึ่งเป็นอาหารทดแทนเนื้อสัตว์ที่ผลิตจากพืชตระกูลถั่ว เห็ด และสาหร่าย รวมถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากพืชเมล็ดถั่ว ตลอดจนโปรตีนจากการหมักเชื้อจุลินทรีย์ มีมูลค่าประมาณ 6,321 ล้านบาท
มูลค่าการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพในปี 2562 จะมีมูลค่าประมาณ 88,731 ล้านบาท หรือมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบจากปี 2561 โดยกลุ่มโปรตีนจากพืชและนมพืช จะมีมูลค่าประมาณ 6,725 ล้านบาท และมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 6.4 ตามความนิยมบริโภคอาหารโปรตีนสูงเพื่อสร้างสมดุลทางโภชนาการทดแทนเนื้อสัตว์ การเสริมสร้างกล้ามเนื้อ รวมถึงการรักษาสุขภาพเพื่อลดความเสี่ยงของโรคที่เกิดจากการบริโภคอาหารประเภทเนื้อสัตว์
โปรตีนจากพืช (Plant-based protein) ซึ่งผลิตจากพืชตระกูลถั่ว รวมถึงเห็ด และสาหร่าย กำลังได้รับความนิยมในการบริโภคเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามกระแสที่ผู้คนหันมาใส่ใจกับอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและดูแลสุขภาพของตนเองมากยิ่งขึ้น รวมถึงกระแสบริโภคอาหารที่ผลิตจากพืชล้วนทดแทนเนื้อสัตว์ เนื่องจากการปศุสัตว์ก่อให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจก การบริโภคโปรตีนจากพืชจึงถือว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค ส่งผลให้ความต้องการบริโภคอาหารประเภทเนื้อสัตว์มีแนวโน้มลดลง ขณะที่ความต้องการบริโภคอาหารประเภทถั่ว รวมถึงพืชที่ให้โปรตีนสูงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นทางเลือกสำหรับเกษตรกรในการเพาะปลูกพืชประเภทถั่ว หรือเพาะเลี้ยงเห็ด รวมถึงอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารจากพืชตระกูลถั่ว ตลอดจน การประกอบธุรกิจอาหารที่มีคุณค่าทางโปรตีนสูง ดังตัวอย่างของ ธุรกิจสตาร์ทอัพที่ผลิตเบอร์เกอร์โดยใช้วัตถุดิบจากพืชทั้งหมด ส่วนประกอบของเนื้อเบอร์เกอร์ใช้โปรตีนจากพืช แต่พัฒนาให้มีกลิ่นและรสชาติแบบเดียวกับเนื้อ ซึ่งประสบความสำเร็จในการวางจำหน่ายในตลาดสหรัฐอเมริกา รวมทั้งสามาถระดมทุนขยายกิจการให้เติบโตตามกระแสความนิยมที่เพิ่มมากขึ้น กระแสการบริโภคโปรตีนจากพืช จึงอาจจะกลายเป็นโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร รวมถึงการขยายการเพาะปลูกพืชประเภทถั่วและเห็ด รวมถึงการแปรรูปให้เป็นอาหารโปรตีนให้เติบโตต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมองว่า การผลิตโปรตีนจากพืช อาจต้องเผชิญกับความท้าทาย เนื่องจากปริมาณการเพาะปลูกถั่วเหลือง ซึ่งเป็นพืชโปรตีนสูงสำคัญที่ใช้เป็นวัตถุดิบ ยังไม่เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รายงานว่า ในปี 2561 ที่ผ่านมา มีปริมาณผลผลิตถั่วเหลือง 45,413 ตัน ขณะที่มีความต้องการถั่วเหลืองถึง 2,955,863 ตัน ในจำนวนนี้ใช้เพื่อการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร 1,011,425 ตัน จึงยังจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าถั่วเหลืองจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากบราซิล สหรัฐอเมริกา และแคนาดา การผลิตโปรตีนจากพืชโดยใช้ถั่วเหลืองนำเข้าจึงอาจเผชิญกับความผันผวนทั้งในด้านปริมาณผลผลิตและราคาในตลาดโลก นอกจากนี้ ราคาจำหน่ายโปรตีนจากพืชยังมีราคาค่อนข้างสูง สิ่งเหล่านี้อาจเป็นข้อจำกัดในการผลิตโปรตีนจากพืช
กล่าวโดยสรุป กระแสรักสุขภาพที่กำลังมีบทบาทมากขึ้น อาจเป็นปัจจัยผลักดันความต้องการอาหารประเภทโปรตีนจากพืชให้เติบโตต่อไปอย่างต่อเนื่อง หากมองไปข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคาดว่า การผลิตโปรตีนจากพืชอาจจะยังคงขยายตัว รวมทั้งจะเกื้อหนุนให้การเพาะปลูกพืชที่ให้โปรตีนสูง เช่น พืชตระกูลถั่วและเห็ด เติบโตควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมแปรรูปเพื่อผลิตโปรตีนจากพืช นอกจากนี้ อุปสงค์สำหรับอาหารที่ผลิตจากโปรตีนพืชยังอาจจะขยายตัวตามพฤคิกรรมการบริโภคสินค้าออนไลน์ รวมถึงความสะดวกจากการซื้อผ่านโมเดิร์นเทรด ที่สอดคล้องกับการบริโภคอาหารแบบคำนวณค่าทางโภชนาการแบบแม่นยำ เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่พอดีกับความต้องการของร่างกายในขณะนั้น อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมการผลิตอาหารโปรตีนสูง ยังอาจมีประเด็นที่ต้องคำนึงถึง การควบคุมคุณภาพ และการเปลี่ยนแปลเหงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งผู้ผลิตจะต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับนวัตกรรมเหล่านี้ตลอดเวลา.