จับตาผลกระทบอุตสาหกรรมเหล็กไทย
EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ จับตาผลกระทบมาตรการ Anti Circumvention ต่ออุตสาหกรรมเหล็กไทย
ผลิตภัณฑ์เหล็กเป็นสินค้าประเภทหนึ่งที่ประสบกับปัญหาการทุ่มตลาดและปัญหาการอุดหนุน ประกอบกับสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนในปัจจุบันที่ทวีความรุนแรงขึ้น โดยจากต้นปี 2018 สหรัฐฯ ได้ตั้งกำแพงภาษีผลิตภัณฑ์เหล็กจากจีนเพิ่มขึ้นอีกราว 25%-50% จากอัตราภาษีนำเข้าปกติ ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์เหล็กจากจีนที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดลงและมีโอกาสที่จะถูกนำเข้าสู่ไทยมากขึ้น
ปริมาณผลิตภัณฑ์เหล็กทรงแบน (ไม่รวม stainless steel) เฉลี่ยจากจีนที่มีการนำเข้าที่คล้ายคลึงกับการหลีกเลี่ยง AD และ CVD (circumvention) ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา (2013-2018) โดยมีปริมาณอย่างน้อย 193,000 ตัน/ปีแบ่งเป็น ผลิตภัณฑ์เหล็กทรงแบนจากการทำ slight modification ราว 20,000 ตัน/ปี และผลิตภัณฑ์เหล็กทรงแบนจากการทำ transshipment ราว 173,000 ตัน/ปี หรือคิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยราว 6% ของปริมาณการผลิตเหล็กทรงแบนทั้งหมดในไทย ทั้งนี้ อีไอซี ประเมินว่า การนำเข้าที่คล้ายคลึงกับการหลีกเลี่ยง AD และ CVD (circumvention) ในอนาคต มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน
การทุ่มตลาด (Dumping) และ การอุดหนุน (Subsidy) เป็นการแทรกแซงราคาสินค้าส่งออกจากประเทศผู้ส่งออกให้ต่ำกว่าราคาปกติ การทุ่มตลาด (Dumping) คือการส่งออกสินค้าจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่งเพื่อประโยชน์ในทางพาณิชย์ โดยที่ราคาส่งออกต่ำกว่าราคาปกติของสินค้าชนิดเดียวกันที่จำหน่ายเพื่อการบริโภคภายในประเทศของผู้ส่งออก ขณะที่การอุดหนุน (Subsidy) คือการที่รัฐ
ให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อภาคเอกชน เช่น การลดหย่อน หรือยกเว้นอากรนำเข้าวัตถุดิบ/เครื่องจักร การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม การลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มปริมาณการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศหรือลดปริมาณการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศซึ่งทั้งการทุ่มตลาดและการอุดหนุนราคาสินค้าทำให้ราคาสินค้าส่งออกต่ำกว่าราคาส่งออกปกติส่งผลให้ประเทศผู้นำเข้าจัดเก็บภาษีอากรนำเข้าได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น นอกจากนี้การบิดเบือนราคาสินค้าสินค้านำเข้าให้ถูกลงกว่าสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ ย่อมส่งผลลบต่อผู้ผลิตสินค้าภายในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จากเหตุผลดังกล่าว ภาครัฐของประเทศผู้นำเข้าสินค้าจึงได้ทำการออกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping: AD) และมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty: CVD) เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศจากความเสียหายโดยการเก็บภาษีเพิ่มเติมจากอัตราภาษีนำเข้าปกติ
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไทยมีการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดกับประเทศคู่ค้าโดยการเพิ่มภาษีนำเข้าในสินค้าผลิตภัณฑ์เหล็กในหลากหลายประเภท ยกตัวอย่างเช่น เหล็กกล้าไร้สนิมรีดเย็น, เหล็กแผ่นรีดร้อน, เหล็กแผ่นรีดเย็น, เหล็กแผ่นรีดเย็นชุบหรือเคลือบ, และเหล็กลวดคาร์บอนสูง เป็นต้น เพื่อเป็นการปกป้องผู้ประกอบการผลิตเหล็กไทยจากการไหลทะลักเข้าของผลิตภัณฑ์เหล็กเหล่านี้ แต่มาตรการการ AD/CVD อาจยังมีช่องโหว่ในการหลบเลี่ยง (circumvention) เพื่อนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่ค้า ยิ่งเมื่อสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนปะทุขึ้น ผลิตภัณฑ์เหล็กเป็นสินค้าอีกประเภทหนึ่งที่มีโอกาสที่จะถูกนำเข้าจากจีนสู่ไทยมากขึ้น เนื่องจากสหรัฐฯ ได้ตั้งกำแพงภาษีผลิตภัณฑ์เหล็กจากจีนเพิ่มขึ้นอีกราว 25%-50% จากอัตราภาษีนำเข้าปกติ ทำให้การส่งออกเหล็กจากจีนไปยังสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดลง ซึ่งเหล็กที่ไม่สามารถส่งออกไปยังสหรัฐฯ เหล่านี้มีโอกาสที่จะ
ไหลเข้าสู่ไทยเนื่องจากการทุ่มตลาดและ/หรือการอุดหนุนทำให้ราคาขายเหล็กบวกกับค่าขนส่งเหล็กยังสามารถแข่งขันกับผลิตภัณฑ์เหล็กที่ผลิตหรือแปรรูปในไทยได้
Anti circumvention (AC) เป็นมาตรการเพิ่มเติมใน พ.ร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542 ซึ่งจะช่วยอุดช่องโหว่ของกฎหมายและก่อให้เกิดการค้าที่เป็นธรรม การใช้มาตรการ AC เป็นการขยายขอบเขตออกไปมากกว่ามาตรการการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) และภาษีการตอบโต้การอุดหนุน (CVD) ซึ่งมาตรการ AC ครอบคลุมถึงการหลบเลี่ยง (circumventions) ใน 4 รูปแบบ ได้แก่ 1.การดัดแปลงสินค้าเพียงเล็กน้อย โดยไม่มีผลต่อลักษณะหรือคุณสมบัติที่สำคัญหรือการนำไปใช้งานของสินค้า (Slight modification) เช่น การเปลี่ยนแปลงขนาดของสินค้า การเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติหรือเจือแร่ธาตุเพื่อเปลี่ยนพิกัดศุลกากร 2.การส่งสินค้าผ่านประเทศตัวกลาง (Transshipment) คือการส่งสินค้าที่ถูกใช้ AD/CVD ผ่านประเทศที่ไม่ถูกใช้มาตรการ AD/CVD ก่อนที่จะส่งไปยังประเทศปลายทาง 3.การส่งสินค้าผ่านผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกที่ถูกเรียกเก็บอากร AD ในอัตราที่ต่ำกว่าอากรของบริษัทตนเอง (Channeling) และ
4.การนำชิ้นส่วนจากประเทศที่ถูกใช้มาตรการ AD มาประกอบเป็นสินค้าสำเร็จรูปในประเทศไทยหรือในประเทศ
ที่สาม (Completion และ Assembly operation) โดยนำสินค้าที่โดน AD/CVD ที่ยังทำไม่สำเร็จมาทำให้สำเร็จในไทยหรือประเทศอื่นที่ไม่ถูกเก็บอากร และการนำชิ้นส่วนของสินค้าที่ถูกใช้ AD/CVD ที่ผลิตจากประเทศที่ถูกใช้มาตรการ มาประกอบเป็นสินค้าในไทยหรือประเทศอื่นที่ไม่ถูกเก็บอากร โดยการหลบเลี่ยงทั้ง 4 รูปแบบจะทำให้ผู้นำเข้าสินค้าเสียภาษีนำเข้าที่ถูกกว่าปกติและส่งผลให้เกิดการค้าที่ไม่เป็นธรรมตามมากรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการภายในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าที่หลบเลี่ยงการถูกใช้มาตรการ AD/CVD สามารถยื่นเรื่องให้กรมการค้าต่างประเทศพิจารณาเปิดไต่สวนบริษัทต้องสงสัยได้ โดยจะใช้ระยะเวลาไต่สวน 9-12 เดือน และหากพบว่ามีการกระทำผิดจริง บริษัทที่กระทำผิดต้องจ่ายอากรย้อนหลังนับตั้งแต่วันที่มีการนำเข้า โดยอัตราอากรที่เรียกเก็บจะไม่เกินอัตราสูงสุดที่เรียกเก็บกับสินค้าที่ถูกใช้มาตรการ AD/CVD จากประเทศผู้ส่งออกในการไต่สวน AD/CVD เดิม2
เหล็กทรงแบนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีแนวโน้มถูกบังคับใช้มาตรการ AC ผลิตภัณฑ์เหล็กเป็นสินค้าประเภทหนึ่งที่ประสบกับปัญหาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน โดยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2019 ที่ผ่านมา สมาคมผู้ประกอบการเหล็กทั้ง 7 สมาคม (สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย, สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย, สมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น, สมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า, สมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน, สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี และสมาคมโลหะไทย) ได้ทำการผลักดันมาตรการ AC กับกระทรวงพาณิชย์และประสบผลสำเร็จในการบังคับใช้กฎหมายในเดือนกันยายน 2019 โดยผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ที่ถูกบังคับใช้มาตรการ AD และมีแนวโน้มที่จะถูกใช้มาตรการ AC เพิ่มเติมด้วยเป็นเหล็กทรงแบน เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กแผ่นรีดร้อนเจือโบรอน เหล็กแผ่นรีดเย็น ชุบ/เคลือบอะลูมิเนียมและสังกะสีแบบจุ่มร้อน เหล็กแผ่นรีดเย็นเคลือบสังกะสีจุ่มร้อนแล้วทาสี เหล็กแผ่นรีดเย็น หลอดและท่อเหล็กกล้า เป็นต้น
ปริมาณผลิตภัณฑ์เหล็กทรงแบน (ไม่รวม stainless steel) เฉลี่ยจากจีนที่มีการนำเข้าที่คล้ายคลึงกับการหลีกเลี่ยง AD และ CVD (circumvention) ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา (2013-2018) โดยมีปริมาณอย่างน้อย 193,000 ตัน/ปีแบ่งเป็น ผลิตภัณฑ์เหล็กทรงแบนจากการทำ slight modification ราว 20,000 ตัน/ปี และผลิตภัณฑ์เหล็กทรงแบนจากการทำ transshipment ราว 173,000 ตัน/ปี หรือคิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยราว 6% ของปริมาณการผลิตเหล็กทรงแบนทั้งหมดในไทย ทั้งนี้ อีไอซี ประเมินว่า การนำเข้าที่คล้ายคลึงกับการหลีกเลี่ยง AD และ CVD (circumvention) ในอนาคต มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน
การบังคับใช้มาตรการ AC จะส่งผลบวกต่อผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เหล็กทรงแบนภายในประเทศ ขณะที่ผู้ค้าเหล็กและผู้บริโภคเหล็กมีโอกาสได้รับผลลบ
เนื่องจากผลิตภัณฑ์เหล็กทรงแบนที่ถูกทำ circumvention ไม่สามารถนำเข้ามาได้ บริษัทหรือผู้บริโภคที่ต้องการใช้เหล็กจึงจำเป็นต้องหาผลิตภัณฑ์ภายในประเทศเพื่อทดแทน ซึ่งจะส่งผลเชิงบวกต่อผู้ผลิตเหล็กทรงแบนภายในประเทศ ในทางตรงกันข้าม ผู้ค้าเหล็ก (steel trader) ที่เคยนำเข้าสินค้าที่มีการทำ circumvention มีโอกาสที่จะได้รับผลลบจากราคาผลิตภัณฑ์เหล็กที่อาจเพิ่มขึ้น ผู้ค้าเหล็กจึงควรเตรียมการบริหารคงคลังให้เหมาะสมกับความผันผวนของราคาเหล็ก ซึ่งส่งผลต่อกำไรจากการค้าเหล็ก ขณะที่บริษัทหรือผู้บริโภคที่ต้องการใช้เหล็กอาจประสบกับราคาของเหล็กทรงแบนที่มีการปรับตัวขึ้น จึงควรทำการประเมินปริมาณการใช้งานเหล็กอย่างรอบคอบ ก่อนที่จะจัดหาและบริหารการใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กให้สอดคล้องกับการใช้งาน