ECB ออกมาตรการผ่อนคลายชุดใหญ่
EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ ECB ออกมาตรการผ่อนคลายชุดใหญ่พร้อมกลับมาทำ QE และอีไอซีคาด Fed จะลดดอกเบี้ยได้อีก
เศรษฐกิจยูโรโซนและประเทศหลักอย่างเยอรมนีและอิตาลีมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย จากปัจจัยความไม่แน่นอนด้านการค้าและการเมืองภายในภูมิภาค ECB ได้ลดประมาณการทางเศรษฐกิจยูโรโซนลงในปี 2019, 2020 และ 2021 คาดว่าจะเติบโต 1.1%, 1.2% และ 1.4% จากประมาณการเดิมที่ 1.2%, 1.4% และ 1.4% ตามลำดับ
ECB ประกาศมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงินชุดใหญ่ เพื่อป้องกันภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วยูโรโซน 1)ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้านเงินฝากลงอีก 0.1% 2)เริ่มใช้ระบบการคิดอัตราดอกเบี้ยแบบลำดับขั้น 3)กลับมาทำโครงการเข้าซื้อพันธบัตร (QE) รอบใหม่วงเงิน 2 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน 4)ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้โครงการ TLTRO และ 5) เปลี่ยนการสื่อสารทิศทางนโยบายการเงินใหม่โดยเน้นย้ำถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อแทนการกำหนดช่วงเวลา
อีไอซีปรับมุมมองว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 2 ครั้ง (จากเดิม 1 ครั้ง) ในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยการปรับลดครั้งต่อไปน่าจะเกิดขึ้นในการประชุมครั้งถัดไป (วันที่ 17-18 ก.ย.) โดยมีปัจจัยสำคัญจาก 1) เศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งเครื่องชี้ความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน 2) แนวโน้มการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสที่ผ่านมา กอปรกับแรงกดดันจากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลงของธนาคารกลางอื่นๆ
ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ออกมาตรการผ่อนคลายชุดใหญ่
เศรษฐกิจยูโรโซนและประเทศหลักอย่างเยอรมนีและอิตาลีมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย จากปัจจัยความไม่แน่นอนด้านการค้าและการเมืองภายในภูมิภาค ECB ได้ลดประมาณการทางเศรษฐกิจยูโรโซนลง รวมถึงอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเงินเฟ้อที่ 2% ทำให้ ECB ประกาศมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงินชุดใหญ่ เพื่อป้องกันภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วยูโรโซน โดยลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.1% เริ่มต้นใช้ระบบการคิดอัตราดอกเบี้ยแบบลำดับขั้น เริ่มโครงการเข้าซื้อพันธบัตรรอบใหม่วงเงิน 2 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้โครงการ TLTRO และเปลี่ยนการสื่อสารทิศทางนโยบายการเงินใหม่โดยเน้นย้ำถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อแทนการกำหนดช่วงเวลา
ECB ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจยูโรโซนลง จากความไม่แน่นอนด้านการค้าและการเมืองภายในภูมิภาค ล่าสุด ECB ออกประมาณการเศรษฐกิจในเดือนกันยายน โดยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจยูโรโซนปี 2019 2020 และ 2021 คาดว่าจะเติบโต 1.1% 1.2% และ 1.4% ตามลำดับ จากประมาณการเดิมที่ 1.2% 1.4% และ 1.4%ตามลำดับ เนื่องจากเศรษฐกิจยูโรโซนตั้งแต่ต้นปี 2019 เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวและเผชิญกับความเสี่ยงจากปัจจัยทั้งจากภายในและภายนอกสูงขึ้น ประกอบด้วย 1) สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่ยืดเยื้อต่อเนื่อง เป็นผลให้ความไม่แน่นอนทางการค้าสูงขึ้นและภาวะการค้าโลกซบเซาลงต่อเนื่อง 2) ความไม่แน่นอนจาก Brexit ในเรื่องรูปแบบการแยกตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปที่ยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจน และ 3) ปัญหาทางการเมืองภายในภูมิภาค โดยเฉพาะความไม่แน่นอนทางการเมืองในอิตาลี ความเสี่ยงดังกล่าวทำให้ประเทศเศรษฐกิจหลักที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับหนึ่งและสามอย่างเยอรมนีและอิตาลีกำลังเข้าใกล้ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเยอรมนีเป็นเศรษฐกิจเปิดขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าการค้าถึง 87% ของ GDP จึงได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านการค้าสูงและส่งผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนของภาคการผลิต รวมถึงอิตาลีที่มีปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศเป็นระยะ ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจเกิดภาวะชะงักงันจากปัญหาเสถียรภาพของรัฐบาล
อีไอซีปรับมุมมองว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ (จากเดิม 1 ครั้ง) โดยมีปัจจัยสำคัญจาก 1) เศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งเครื่องชี้ความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน 2) แนวโน้มการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสที่ผ่านมา กอปรกับแรงกดดันจากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลงของธนาคารกลางอื่น ๆ นอกจากนี้ อีไอซีมองว่าหากในระยะข้างหน้าเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยขึ้นจริง การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการผ่อนคลายนโยบายการเงินของทั้ง Fed และ ECB จะมีข้อจำกัดมากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต
อีไอซีมองว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยการปรับลดครั้งต่อไปน่าจะเกิดขึ้นในการประชุมครั้งถัดไป (วันที่ 17-18 กันยายน 2019) ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ย Fed fund rate อยู่ในช่วง 1.75-2.00% โดยปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก คือ
1. เศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งเครื่องชี้ความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของสหรัฐฯ (ISM-PMI) ล่าสุดปรับลดลงเหลือ 49.1 ในเดือนสิงหาคม (โดยตัวเลขต่ำกว่า 50 แสดงถึงการหดตัว) ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2016 ด้านดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ในระยะข้างหน้าของผู้ประกอบการ (ISM’s forward-looking new orders index) ก็ปรับลดลงจากเดือนกรกฎาคมที่ 50.8 มาอยู่ที่ 47.2 ในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2009 นอกจากนี้ การจ้างงานของธุรกิจนอกภาคการเกษตรยังมีแนวโน้มชะลอตัวลงมาตั้งแต่ต้นปี โดยตัวเลขเดือนสิงหาคม อยู่ที่ 9.6 หมื่นคน ปรับลดลงจากเดือนก่อนที่ 1.3 แสนคน (รูป 4) เครื่องชี้เหล่านี้จึงอาจเป็นสิ่งสะท้อนได้ว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมายังไม่เพียงพอ ทำให้สหรัฐฯ เผชิญกับความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเพิ่มขึ้น โดยเครื่องชี้โอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ 1 ปีข้างหน้า ซึ่งคำนวนโดย Fed New York จากข้อมูลส่วนต่างของอัตราผลตอบแทบพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีและอายุ 3 เดือน อยู่ที่ 37.9% นอกจากนี้ คาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ ในระยะ 4 ไตรมาสข้างหน้าซึ่งมาจากผลสำรวจความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจ (สำรวจโดย Fed Philadelphia) อยู่ที่ 26.1% โดยการคาดการณ์ทั้งสองอยู่ในระดับระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่ก่อนวิกฤติในปี 2008 (รูป 5)
2. แนวโน้มการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสที่ผ่านมา กอปรกับแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลงของธนาคารกลางอื่นๆ เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ Fed ต้องปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ แม้ว่าตลาดคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอลงและ Fed มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกถึง 2 ครั้งในปีนี้ แต่ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงมีแนวโน้มแข็งค่า เนื่องจาก ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกชะลอลงเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่องทำให้มีความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น US treasury มากขึ้น นอกจากนี้ ธนาคารกลางอื่น ๆ ยังมีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมเช่นกัน สะท้อนจากอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อขายล่วงหน้า (forward) (รูป 6) ดังนั้น หาก Fed ไม่สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ใกล้เคียงกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ก็มีโอกาสที่จะทำให้ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเพิ่มขึ้นได้อีก ซึ่งเป็นสิ่งที่ Fed กังวล เพราะอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากขึ้น โดยอีไอซีมองว่าคณะกรรมการ FOMC ในยุคของนาย Powell ได้ให้ความสำคัญต่อตลาดการเงินมากขึ้น การปล่อยให้ดัชนีค่าเงินแข็งค่าและอัตราผลตอบแทนในตลาดเงินเพิ่มสูงขึ้น จะยิ่งทำให้ภาวะการเงิน (financial condition) กลับมาตึงตัวและส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจได้.