ตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น
SCB CIO Office ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังธนาคารกลางหลักๆ ส่งสัญญาณการผ่อนคลายนโยบายการเงิน
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (2 – 6 ก.ย.) ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น หลังจากสหรัฐฯ และจีนเห็นพ้องที่จะจัดการเจรจาการค้ากันรอบต่อไปช่วงต้นเดือน ต.ค.ที่กรุงวอชิงตัน ประกอบกับนักลงทุนคาดการณ์แนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนนี้ และตลาดหุ้นยุโรป ปิดบวกเช่นกัน โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจจะผ่อนคลายนโยบายการเงินในสัปดาห์นี้ รวมทั้ง นักลงทุนคลายความกังวลประเด็นความตึงเครียดทางการเมือง ในประเทศฮ่องกง อังกฤษ และอิตาลี ส่วนตลาดหุ้นจีน (A-Share) ปรับเพิ่มขึ้น ขานรับตัวเลข PMI ภาคการผลิตและบริการของจีนที่เพิ่มขึ้น และ ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศจะปรับลดสัดส่วนการกันสำรอง (RRR) ของสถาบันการเงินลง 0.50% ซึ่งจะมีผลวันที่ 16 ก.ย.นี้ เป็นต้นไป ด้านตลาดหุ้นไทย ปิดบวก เนื่องจาก Moody’s ยังคงมุมมอง “เชิงบวก” ต่อเศรษฐกิจไทย และมีโอกาสจะได้รับการปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือในระยะถัดไป สำหรับราคาน้ำมัน ปิดบวก หลังสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 3 และลดลงมากกว่าที่ตลาดคาด ขณะที่ ราคาทองคำ ปรับลดลง จากสัญญาณบวกเกี่ยวกับการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่แข็งแกร่ง และเงินสกุลดอลลาร์ สหรัฐฯที่แข็งค่าขึ้นเทียบเงินสกุลหลัก
ในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นส่วนใหญ่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจาก นักลงทุนคาดหวังว่า ECB จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง พร้อมทั้งออกมาตรการทางการเงินเชิงผ่อนคลายเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้สภาพคล่องในตลาดมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังได้รับ Sentiment เชิงบวก หลังจากปัจจัยเสี่ยงที่เคยเป็นประเด็นกดดันการลงทุนในตลาดหุ้น เริ่มผ่อนคลายความตึงเครียดลงชั่วคราว ได้แก่ 1) สหรัฐฯ-จีน จะมีการเจรจาการค้าระหว่างกันอีกครั้ง ในช่วงเดือน ต.ค.นี้ 2) ความเสี่ยงประเด็น Brexit แบบไร้ข้อตกลง (no-deal) ลดลง หลังจากร่างกฎหมายป้องกันการเกิด no-deal Brexit ผ่านสภาของอังกฤษ และ 3) สถานการณ์ความวุ่นวายในฮ่องกงบรรเทาลง หลังจากนาง แคร์รี่ ลัม ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง ประกาศยกเลิกกฎหมายส่งตัวผู้ต้องหาข้ามแดนไปจีนอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม ความวิตกกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีอยู่ การผ่อนคลายนโยบายการเงินของ ECB ที่อาจน้อยกว่าตลาดคาดการณ์ และความไม่แน่นอนเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน รวมทั้ง ประเด็น Brexit ที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ อาจทำให้ตลาดหุ้นปรับเพิ่มขึ้นได้อย่างจำกัด
เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS)การประชุม ECB ในวันที่ 12 ก.ย.นี้ เราคาดว่า ECB มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลง 0.10% จาก -0.40% เป็น -0.50% และจะดำเนินโครงการซื้อสินทรัพย์ (APP) มูลค่า 30-40 พันล้านยูโรต่อเดือน รวมถึง ECB น่าจะออกมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยติดลบ เช่น การใช้ระบบ Tiering (กำหนดเงินฝากขั้นต่ำกับธนาคารกลางซึ่งจะไม่ถูกคิดดอกเบี้ย) หลังเศรษฐกิจยูโรโซนส่งสัญญาณชะลอตัวลง และเราคาดว่า ECB จะปรับลดคาดการณ์ GDP ยูโรโซนปีนี้ ในการประชุมครั้งนี้ด้วย
ติดตามประเด็น Brexit หลังสภาสามัญชนและสภาขุนนางได้ลงมติผ่านร่างกฎหมายป้องกันการเกิด Brexit แบบ no-deal โดยร่างกฎหมายนี้ จะกดดันให้รัฐบาลของนายบอริส จอห์นสัน ไปขอขยายเวลาเส้นตาย Brexit กับ สหภาพยุโรป (EU) เป็นวันที่ 31 ม.ค.2563 หากรัฐบาลไม่สามารถยื่นข้อตกลง Brexit ฉบับใหม่เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา และได้รับการอนุมัติภายในวันที่ 19 ต.ค.นี้
ซึ่งนายบอริส จอห์นสัน คัดค้านการเรียกร้องให้ EU ขยายเส้นตาย และคาดว่าเขาจะใช้ความพยายามอีกครั้ง ในวันที่ 9 ก.ย.นี้ เพื่อยุบสภา และจัดการเลือกตั้งใหม่
ปัจจัยจับตาสัปดาห์นี้ ตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ การผลิตภาคอุตสาหกรรม และ ดุลการค้า ของยุโรปและญี่ปุ่น / ดัชนีราคาผู้บริโภค ยอดขายปลีก และ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ / ดัชนีราคาผู้บริโภค และยอดสินเชื่อใหม่ของเหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ ผลการประชุม ECB/ ความคืบหน้าการเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีน/ ความคืบหน้าประเด็น Brexit/ การประชุม ASEAN ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ