อุตสาหกรรมอัจฉริยะ ตัวช่วยยกระดับเศรษฐกิจ
EICธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ นิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ ตัวช่วยยกระดับภาคเศรษฐกิจและภาคสังคม
นิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะเป็นการนำแนวคิดเมืองอัจฉริยะมาปรับใช้ในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม โดยนอกจากเป็นการลงทุนในเทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการในด้านพลังงาน การขนส่ง สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยและการทำธุรกิจแล้ว ควรจะรวมถึงการลงทุนในด้านอื่น ๆ เพื่อยกระดับปัจจัยแวดล้อมภายในพื้นที่ให้เอื้อประโยชน์ต่อการประกอบธุรกิจ การสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม และการอยู่อาศัยมากยิ่งขึ้น
การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะจะเป็นประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. ผู้พัฒนานิคมฯ จะสามารถเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของนิคมฯ เพื่อดึงดูดอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง เพิ่มช่องทางหารายได้ประจำ และใช้เป็นแผนในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมเดิมและเพิ่มความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 2. ผู้ประกอบการภายในนิคมฯ จะสามารถลดต้นทุนดำเนินการทั้งในด้านพลังงาน การขนส่งและสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมจากการวิจัยและพัฒนา และ 3. บุคลากรที่อาศัยอยู่ในนิคมฯ ผ่านการพัฒนาสภาพแวดล้อมให้น่าอยู่อาศัยซึ่งจะช่วยดึงดูดให้บุคลากรภายนอกเข้ามาทำงานในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ค่อนข้างสูง
อีไอซีประเมินว่า ในช่วงระหว่างปี 2019-2022 มูลค่าการลงทุนการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะในไทยจะมีมูลค่าราว 5.5 หมื่นล้านบาทจากการพัฒนาของทั้งภาครัฐและเอกชน โดยการพัฒนานิคมอุตสาหรรมอัจฉริยะให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนจะต้องอาศัย 3 ปัจจัย ได้แก่ 1. การวางแผนการพัฒนาโครงการให้มีความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 2. การสร้างความร่วมมือทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นในการพัฒนาและนำไปใช้ และ 3. การประสานการทำงาน หรือ synergy ของฐานข้อมูลและเทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อเกิดประโยชน์สูงสุด
นิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะเป็นการนำแนวคิดเมืองอัจฉริยะมาปรับใช้ในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมด้วยการนำเทคโนโลยีอัจฉริยะมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ แนวคิดเมืองอัจฉริยะ (smart city) เป็นแนวคิดในปัจจุบันที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างการเปลี่ยนแปลง (digital transformation) โดยนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น big data, artificial intelligence (AI), internet of thing (IoT) มาใช้เพื่อบริหารจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นในเมือง เช่น มลภาวะและสิ่งแวดล้อม พลังงาน การจราจร ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อันเป็นผลมาจากการขยายตัวของความเป็นเมือง (urbanization) ที่ทำให้โครงสร้างพื้นฐานเดิมของเมืองไม่สามารถรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นได้อย่างเพียงพอ เพื่อพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ ทันสมัยและเติบโตอย่างยั่งยืน แนวคิด smart city ประกอบด้วยองค์ประกอบ 7 ด้านในการพัฒนา ได้แก่ สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (smart environment), เศรษฐกิจอัจฉริยะ (smart economy), การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (smart mobility), พลังงานอัจฉริยะ (smart energy), พลเมืองอัจฉริยะ (smart people), การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (smart living), และการบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (smart governance) โดยเทคโนโลยีอัจฉริยะ (smart solution) เหล่านี้ส่วนใหญ่จะเน้นช่วยลดเวลาและอำนวยความสะดวกในการเดินทาง ลดการใช้พลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มความปลอดภัยและสุขอนามัย ตลอดจนเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน นอกจากนี้ แนวคิด smart city ยังสามารถนำไปปรับใช้พัฒนากับพื้นที่หลากหลายขนาด เช่น นิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (smart industrial estate) มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ (smart campus) และประเทศอัจฉริยะ (smart nation) เป็นต้น โดยวัตถุประสงค์การพัฒนาปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการของแต่ละพื้นที่
การลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ นอกจากจะเป็นการลงทุนในเทคโนโลยีอัจฉริยะแล้ว ควรจะมีการลงทุนในด้านอื่น ๆ เพื่อยกระดับปัจจัยแวดล้อมภายในพื้นที่ให้เอื้อประโยชน์ต่อการประกอบธุรกิจ การสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม และการอยู่อาศัยมากยิ่งขึ้น เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ทันสมัยและศูนย์ข้อมูลและฐานข้อมูลกลางในการควบคุม (data center & database) เพื่อรองรับโรงงานอัจฉริยะ (smart factory) การจัดตั้งศูนย์บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (one-stop service) เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อภาครัฐ การจัดตั้งหรือร่วมมือกับมหาวิทยาหรือสถาบันวิจัยและการกำหนดพื้นที่ทดลอง (experimental zone) เพื่อการวิจัยและพัฒนาซึ่งนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม นอกจากนี้ ภายในนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะต้องมีการยกระดับพื้นที่เชิงพาณิชย์และที่อยู่อาศัย เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ บ้าน คอนโดมิเนียมให้เหมาะสมกับผู้ที่เข้ามาอยู่อาศัยซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลรายได้ค่อนข้างสูงมากขึ้น
ทั้งนี้จากเทคโนโลยีอัจฉริยะทั้ง 7 ด้าน เทคโนโลยี smart environment, smart energy และ smart governance จะเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยลดต้นทุนดำเนินการแก่ผู้ประกอบการในนิคมฯ มากกว่าด้านอื่น ๆ โดย smart environment ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อมที่นับวันจะมีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น เช่น ระบบดิจิทัลในการบันทึกการปล่อยของเสียเพื่อที่จะทำให้โรงงานจ่ายเฉพาะปริมาณการใช้ ส่วนการพัฒนา smart energy จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลือง เช่น ระบบ smart building, smart meter และการพัฒนาระบบด้าน smart governance จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ธุรกิจในการติดต่อกับราชการ และลดปัญหากฎระเบียบที่ทำให้ยุ่งยากและทำให้ล่าช้า (red tape) เช่น ระบบดิจิทัลสำหรับการขออนุญาตจากภาครัฐ เช่น การใช้ที่ดิน การก่อสร้าง การจัดตั้งบริษัท เป็นต้น นอกจากนี้ เทคโนโลยีอัจฉริยะในด้านอื่น ๆ จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตแก่ผู้ที่อาศัยภายใน เมืองอุตสาหรรมอัจฉริยะ เช่น smart mobility ในด้านการเดินทาง และ smart living ในด้านสุขภาพและความปลอดภัย
อย่างไรก็ดี อีไอซีประเมินว่า การวางแผนการพัฒนาโครงการ การสร้างความร่วมมือ และการ ประสานการทำงาน หรือ synergy เป็น 3 ปัจจัยหลักในการพัฒนานิคมอุตสาหรรมอัจฉริยะให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน จากบทเรียนการพัฒนานิคมฯ ในจีน การพัฒนาโครงการจะต้องวางแผนที่ครอบคลุมผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ มีความสมดุลระหว่างการพัฒนาเมืองกับอุตสาหกรรม และเลือกใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะตามประโยชน์ที่เกิดขึ้นมากกว่าการเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย (cutting-edge technology) ส่วนการสร้างความร่วมมือ (collaboration) และหุ้นส่วน (partnership) เป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีอัจฉริยะ เนื่องจากการลงทุนเทคโนโลยีอัจฉริยะต้องอาศัยทั้งความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและเงินลงทุนที่สูง อีกทั้ง ผู้พัฒนานิคมฯ ยังต้องลงทุนเทคโนโลยีอัจฉริยะอีกหลายเทคโนโลยี ซึ่งเกินขีดความสามารถของผู้พัฒนานิคมฯ ดังนั้นการสร้างความร่วมมือกับกลุ่มต่าง ๆ จะช่วยลดข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีและปัญหาด้านการเงิน ซึ่งส่งผลให้โครงการมีโอกาสประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ความร่วมมือสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายรูปแบบ ได้แก่ 1. ความร่วมมือระดับประเทศเพื่อถ่ายทอดความรู้กับเทคโนโลยีและช่วยเหลือด้านการเงิน เช่น ความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นกับจีนในการลงทุนที่นิคมฯ อมตะในไทย 2. ความร่วมมือระหว่างผู้พัฒนานิคมฯ กับผู้พัฒนาเทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อร่วมลงทุนโครงการ อาทิ การลงทุนฐานข้อมูลของ IBM ในสวนอุตสาหกรรมซูโจว 3. ความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการในนิคมฯ กับสถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัยในการทำวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ นอกจากนี้ ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากคนในท้องถิ่นเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอัจฉริยะได้จริง
สุดท้าย การ synergy ประโยชน์จากฐานข้อมูลและเทคโนโลยีอัจฉริยะจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดำเนินการและทำให้การใช้เทคโนโลยีมีความคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น เนื่องจากโดยทั่วไปการดำเนินการในด้านต่าง ๆ เช่น จราจร ความปลอดภัย สุขภาพ พลังงาน สิ่งแวดล้อม มักจะให้บริการภายใต้หน่วยงานที่แตกต่างกันโดยแต่ละหน่วยงานก็มักจะมีฐานข้อมูลของตนเอง ซึ่งสร้างปัญหาไซโลระหว่างหน่วยงาน ฉะนั้นจึงควรมีการ synergy ข้อมูลจากแต่ละหน่วยงานภายใต้ฐานข้อมูลเดียวเพื่อทำให้ดำเนินนโยบายหรือมาตรการต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพ เช่น การลดมลภาวะที่เกิดจากทั้งโรงงานอุตสาหกรรม ตึก จราจรและของเสีย ควรจะต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบภายใต้ฐานข้อมูลเดียว อีกทั้งควรจะต้อง synergy ประโยชน์ของเทคโนโลยีอัจฉริยะมาใช้ร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ความร่วมมือระหว่างระบบนำทางอัจฉริยะ ระบบไฟจราจรอัจฉริยะและระบบรองรับอุบัติเหตุฉุกเฉิน จะทำให้มีการวางแผนเส้นทางและจัดจราจรที่เหมาะสมและทันท่วงทีเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น ส่งผลให้การเข้าช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุทำได้รวดเร็วขึ้นและลดอัตราการเสียชีวิต เป็นต้น