โครงการประกันรายได้ บรรเทาความเดือดร้อน
EICธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ โครงการประกันรายได้จะบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวนาได้บางส่วน แต่การบริหารจัดการภัยแล้งยังเป็นประเด็นสำคัญเร่งด่วน
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/2563 รอบที่ 1 วงเงินรวมทั้งสิ้น 21,496 ล้านบาท โดยกำหนดราคาและปริมาณประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15% ไม่เกินครัวเรือนละ 40 ไร่ โดยชดเชยเป็นจำนวนตัน ดังนี้
1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ 15,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน
2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 14,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน
3) ข้าวเปลือกเจ้า 10,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน
4) ข้าวเปลือกหอมปทุม 11,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน
5) ข้าวเปลือกเหนียว 12,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน
ทั้งนี้การคำนวณปริมาณผลผลิตของเกษตรกรที่จะได้รับสิทธิในการชดเชย ให้ใช้ปริมาณผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ ตามที่คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวกำหนด และในกรณีเกษตรกรเพาะปลูกข้าวมากกว่า 1 ชนิด ให้ใช้สิทธิ์ได้ไม่เกินจำนวนขั้นสูงของข้าวแต่ละชนิด และเมื่อรวมกันต้องไม่เกินขั้นสูงของชนิดข้าวที่กำหนดไว้สูงสุด
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปี 2562/2563 และอนุมัติงบประมาณในการดำเนินโครงการวงเงินไม่เกิน 25,482 ล้านบาท โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ปลูกข้าวปี 2019 กับกรมส่งเสริมการเกษตรจำนวน 4.31 ล้านครัวเรือน ซึ่งจะได้รับเงินช่วยเหลือไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่
อีไอซีมองว่า ชาวนาที่ปลูกข้าวเจ้า น่าจะได้รับผลประโยชน์จากโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวมากที่สุด โดยได้รับเงินชดเชยส่วนต่างราคาข้าวเพิ่มขึ้นประมาณ 30% จากราคาตลาดโดยเฉลี่ยในปัจจุบัน ในขณะที่ชาวนาผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียวจะได้รับผลประโยชน์จากโครงการนี้น้อยกว่า เนื่องจากราคาตลาดโดยเฉลี่ยในปัจจุบันของข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียวใกล้เคียงกับราคาประกันแล้ว อีกทั้งราคาตลาดของข้าวเหนียวก็ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2019 เป็นต้นไป ราคาตลาดโดยเฉลี่ยของข้าวเหนียวน่าจะปรับตัวสูงขึ้นเกินกว่า 12,000 บาท/ตัน ซึ่งเป็นราคาประกัน ทั้งนี้อีไอซีคาดว่า หากสถานการณ์ภัยแล้งยังไม่รุนแรงขึ้นกว่า ณ ปัจจุบัน โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/2563
รอบที่ 1 นี้ น่าจะใช้งบประมาณ 19,000 ล้านบาท แต่หากสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงขึ้น โครงการนี้ก็น่าจะใช้งบประมาณลดลง เนื่องจากผลผลิตข้าวลดลง
ทั้งนี้ราคาข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียวที่อยู่ในระดับสูงนี้ เป็นผลมาจากปริมาณผลผลิตที่ลดลงจากสถานการณ์ภัยแล้งตั้งแต่ต้นปี 2019 อีกทั้งยังเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงในฤดูฝนที่ผ่านมา โดยปริมาณน้ำในเขื่อนในช่วงฤดูฝนในปี 2019 ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียวที่สำคัญ มีปริมาณน้ำน้อยใกล้เคียงกับปี 2014 ซึ่งเป็นปีที่แล้งที่สุดในรอบ 10 ปี ส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตข้าวได้รับความเสียหายจำนวนมาก โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่า ณ เดือนสิงหาคม 2019 นาข้าวเสียหายสิ้นเชิงจากภัยแล้ง 600,000 ไร่ คิดเป็น 9% ของพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ
อีไอซีมองว่า โครงการประกันรายได้น่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวนาได้บางส่วน อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการภาวะภัยแล้งยังเป็นประเด็นสำคัญเร่งด่วนมากกว่า โดยยังต้องจับตาในช่วงที่เหลือของปี 2019 หากสถานการณ์ภัยแล้งในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความรุนแรงขึ้น จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตข้าวนาปีในปี 2562/2563 อย่างต่อเนื่อง และส่งผลให้ปริมาณผลผลิตข้าวที่จะมาเข้าโครงการประกันรายได้ในรอบนี้อาจไม่สูงมากนัก ซึ่งจะทำให้โครงการนี้ไม่ได้ช่วยยกระดับรายได้ให้กับชาวนาได้อย่างเต็มที่ ปริมาณผลผลิตข้าวที่ลดลงจากภาวะภัยแล้ง รวมทั้งความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของข้าวไทยที่ลดลงตามราคาข้าวในประเทศที่สูงขึ้น และค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น ส่งผลให้การส่งออกข้าวไทยในปี 2019 หดตัว อีไอซีคาดว่า ปริมาณส่งออกข้าวไทยปี 2019 น่าจะอยู่ที่ 8.5 ล้านตัน ลดลง 23% จากปี 2018 โดยในช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2019 ปริมาณการส่งออกข้าวไทยอยู่ที่ 4.9 ล้านตัน ลดลง 22% เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปี 2018 คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 2,597 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 19% เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปี 2018
แม้จะมีโครงการประกันรายได้ และเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิต ซึ่งช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวนาในระยะสั้น แต่ยังต้องให้ความสำคัญกับมาตรการระยะยาวควบคู่กันไป ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบในพื้นที่แหล่งเพาะปลูกข้าวที่สำคัญ รวมถึงการขยายพื้นที่ชลประทานให้เพียงพอ นอกจากนี้ ภาครัฐยังต้องส่งเสริมการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ เพื่อรับมือต่อการแข่งขันส่งออกข้าวในตลาดโลกที่รุนแรง รวมถึงส่งเสริมการเพาะปลูกข้าวราคาสูงที่ตอบโจทย์ความต้องการบริโภคข้าวของตลาดโลก เช่น ข้าวกล้อง ข้าวออร์แกนิค ข้าวสี ข้าวดัชนีน้ำตาลต่ำ กข.43 เป็นต้น มากขึ้น ซึ่งข้าวกลุ่มดังกล่าวยังต้องการการยกระดับประสิทธิภาพการเพาะปลูก เพื่อลดต้นทุนและได้ผลผลิตเพียงพอต่อการส่งออกอีกด้วย