SCB เผย ปัจจัยเสี่ยงราคาน้ำตาลทรายขึ้น-ทรุด
SCB EIC คาดว่า รายได้อุตสาหกรรมน้ำตาลในปี 2025 มีแนวโน้มขยายตัวดีโดยมีปัจจัยหนุนจากปริมาณผลผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ซึ่งช่วยหักล้างผลของราคาที่มีแนวโน้มลดลง
ปริมาณผลผลิตน้ำตาลไทยในปีการผลิต 2024/2025 มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น 20.5% จากปีการผลิต 2023/2024 มาอยู่ที่ 10.6 ล้านตัน ตามปริมาณอ้อยเข้าหีบที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 96.7 ล้านตัน จากปัญหาภัยแล้งที่คลี่คลาย ในขณะที่ราคาส่งออกน้ำตาลโดยเฉลี่ยในปี 2025 จะปรับตัวลดลง 2.8%YOY สอดคล้องกับราคาน้ำตาลทรายดิบรวมพรีเมียมที่บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทยทำได้ (ใช้อ้างอิงราคาของผู้ประกอบการรายอื่น ๆ) ที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากปีการผลิตที่ผ่านมา เนื่องจากแม้ราคาน้ำตาลโลกจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2024 เป็นต้นไป จากภาวะขาดดุลของน้ำตาลในตลาดโลก แต่จะยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าราคาน้ำตาลโลกในช่วงปลายปี 2023 และต้นปี 2024 ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการทำราคาน้ำตาลล่วงหน้าของปีการผลิตที่ผ่านมา สำหรับมูลค่าการส่งออกน้ำตาลปี 2025 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 28.7%YOY สอดคล้องกับปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตาความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำตาลโลกและความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่จะกระทบต่อผลผลิตน้ำตาล
อนึ่ง กำไรของธุรกิจโรงงานน้ำตาลโดยรวมในปี 2025 มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับปริมาณผลผลิตอ้อยที่เพิ่มขึ้น ในปัจจุบันอุตสาหกรรมน้ำตาลมีกำลังการผลิตมากกว่าปริมาณอ้อยในประเทศ ส่งผลให้ผู้ประกอบการจะต้องแข่งขันกันจัดหาอ้อยมาป้อนโรงงานให้ได้มากที่สุด เพื่อลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลง ซึ่งปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้นในปีการผลิต 2024/2025 จะส่งผลให้การแข่งขันลดลง ผลผลิตน้ำตาลและผลพลอยได้สูงขึ้น ส่งผลดีต่อกำไรของผู้ประกอบการในปี 2025 ทั้งนี้นอกจากการจัดหาวัตถุดิบแล้ว โรงงานน้ำตาลยังมีการแข่งขันกัน ด้านอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแบรนด์ การยกระดับและพัฒนาคุณภาพสินค้า และการมุ่งสู่ความยั่งยืน ดังนั้น กลุ่มบริษัทที่สามารถสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับเกษตรกร สร้างแบรนด์ มีประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลสูง มีสินค้าที่ตอบโจทย์กระแสรักสุขภาพของผู้บริโภค และมีการดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล จะประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้
Industry overview
อุตสาหกรรมน้ำตาลมีผู้เกี่ยวข้องที่หลากหลายและอยู่ภายใต้การควบคุมที่เข้มงวดโดยภาครัฐ โดยความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศเป็นความท้าทายหลักที่อุตสาหกรรมน้ำตาลต้องเผชิญในช่วงที่ผ่านมา
อุตสาหกรรมน้ำตาลเป็นอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทย โดยอุตสาหกรรมนี้มีความเชื่อมโยงกับเกษตรกรต้นน้ำในระดับสูงเนื่องจากปริมาณผลผลิตอ้อยที่เกษตรกรปลูกได้ จะกระทบโดยตรงต่อปริมาณผลผลิตน้ำตาลที่โรงงานผลิตได้ โดยผลผลิตน้ำตาลที่ได้ส่วนใหญ่ราว 74.9% จะส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ซึ่งในปี 2023 มูลค่าการส่งออกน้ำตาลอยู่ที่ 3,493 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นราว 1.2% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย โดยตลาดส่งออกหลัก คือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ ทั้งนี้ในปี 2023 ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก (รองจากบราซิลและอินเดีย) โดยมีส่วนแบ่งตลาดน้ำตาลโลกอยู่ที่ 9.0% ซึ่งอินโดนีเซีย สหรัฐฯ จีน เป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำตาลมากที่สุด 3 อันดับแรกของโลก (ดูภาคผนวก) สำหรับน้ำตาลที่ไม่ได้ส่งออกจะถูกจำหน่ายในประเทศให้ผู้บริโภคภาคครัวเรือนและผู้ผลิตสินค้าในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งในปี 2023 มูลค่าตลาดน้ำตาลในประเทศอยู่ที่ 49,635 ล้านบาท ซึ่งมูลค่านี้ยังไม่รวมมูลค่าตลาดจากการที่โรงงานน้ำตาลนำผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาลไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอื่น ๆ (รูป 1)
รูปที่ 1 : โครงสร้างอุตสาหกรรมน้ำตาล
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย
อุตสาหกรรมน้ำตาลแตกต่างจากอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรอื่น ๆในไทยค่อนข้างมาก เนื่องจากมีการกำหนดกรอบกติกาการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจนที่ผู้เล่นต้องปฏิบัติตาม ผ่าน พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ 2) ปี 2022 ซึ่งกำหนดให้ภาครัฐมีอำนาจควบคุมจำนวนโรงงานน้ำตาลในประเทศให้เหมาะสมต่อปริมาณการปลูกอ้อย นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดระบบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่อ้อย (70%) และโรงงาน (30%) เพื่อใช้เป็นกลไกอ้างอิงในการคำนวณและกำหนดราคาอ้อยที่โรงงานรับซื้อจากชาวไร่อ้อยในแต่ละปียิ่งไปกว่านั้น โรงงานน้ำตาลไม่สามารถตั้งราคาน้ำตาลหน้าโรงงานได้อย่างเสรี แต่ต้องขึ้นอยู่กับการกำหนดราคาโดยภาครัฐ
ในระยะ 1-3 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมน้ำตาลต้องเผชิญกับความท้าทายหลักจากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน โดยในปีการผลิต 2023/2024 ปริมาณผลผลิตน้ำตาลปรับตัวลดลง 20.1% จากฤดูกาลก่อนหน้า เนื่องจากพื้นที่ปลูกอ้อยในไทยเผชิญปัญหาภัยแล้งรุนแรง แต่อย่างไรก็ตาม ผลผลิตที่ลดลงส่งผลกระทบต่อรายได้ธุรกิจน้ำตาลโดยรวมไม่มากนัก เนื่องจากราคาน้ำตาลปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยราคาน้ำตาลทรายดิบส่งออกที่บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทยทำได้ในปี 2023/2024 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 17.9% จากฤดูกาลก่อนหน้า นอกจากนี้ นับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2023 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีอนุญาตให้ปรับราคาน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์หน้าโรงงานในประเทศขึ้น 10.5% และ 10.0% ตามลำดับ
Industry outlook and trend
ปริมาณผลผลิตน้ำตาลในปี 2024/2025 มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น20.5% จากฤดูการผลิตที่ผ่านมา
SCB EIC คาดว่ารายได้ของอุตสาหกรรมน้ำตาลในปี 2025 มีแนวโน้มขยายตัวดี โดยมีปัจจัยหนุนจากปริมาณผลผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ซึ่งช่วยหักล้างผลของราคาที่มีแนวโน้มลดลงปริมาณผลผลิตน้ำตาลไทยในปีการผลิต 2024/2025 มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น 20.5% จากปีการผลิต 2023/2024 มาอยู่ที่ 10.6 ล้านตัน ตามปริมาณอ้อยเข้าหีบที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 96.7 ล้านตัน ซึ่งเป็นผลจากผลผลิตต่อไร่และพื้นที่เพาะปลูกที่มีแนวโน้มฟื้นตัว จากปัญหาภัยแล้งที่คลี่คลาย (รูปที่ 2) ในขณะที่ราคาส่งออกน้ำตาลโดยเฉลี่ยในปี 2025จะปรับตัวลดลง 2.8%YOY มาอยู่ที่ 561.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน สอดคล้องกับราคาน้ำตาลทรายดิบรวมพรีเมียมที่บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทยทำได้ (ใช้อ้างอิงราคาส่งออกของโรงงานน้ำตาลอื่น ๆ) ที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง 3.1% จากฤดูกาลการผลิตที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 23.0 เซนต์ต่อปอนด์ เนื่องจากแม้ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ของปี 2024 เป็นต้นไป ราคาน้ำตาลโลกจะมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงกลางปี 2024 จากภาวะขาดดุลของน้ำตาลในตลาดโลก แต่ระดับราคาจะยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าราคาน้ำตาลโลกในช่วงปลายปี 2023 และต้นปี 2024 ซึ่งเป็นช่วงเวลาการทำราคาน้ำตาลของฤดูกาลการผลิต 2023/2024(รูปที่ 3) สำหรับมูลค่าการส่งออกน้ำตาลปี 2025 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 28.7%YOY มาอยู่ที่ 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปริมาณการส่งออกที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น 32.4%YOY มาอยู่ที่ 6.5 ล้านตัน ในขณะที่มูลค่าตลาดน้ำตาลในประเทศจะอยู่ที่ 5.6 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 1.0%YOY จากปริมาณการบริโภคในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวตามการเติบโตของเศรษฐกิจไทย
รูปที่ 2 : ปริมาณอ้อยเข้าหีบของไทยในปีการผลิต 2024/2025 มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 96.7 ล้านตัน เนื่องจากผลผลิตต่อไร่และเนื้อที่เก็บเกี่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัว จากปัญหาภัยแล้งที่คลี่คลาย
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ กรมอุตุนิยมวิทยาและสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย
รูปที่ 3 : ราคาน้ำตาลที่ อนท. ทำได้ในปี 2024/2025 มีแนวโน้มลดลง 3.1% จากปีที่ผ่านมา เนื่องจากแม้ราคาน้ำตาลโลกจะมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ระดับราคาจะยังต่ำกว่าช่วงปลายปี 2023 และต้นปี 2024
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ Bloomberg, ISO, World Bank และ FAO-OECD
อนึ่ง การเติบโตของอุตสาหกรรมน้ำตาลในปี 2025 ยังต้องเผชิญความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลก และสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว โดยภาวะเศรษฐกิจโลก จะส่งผลกระทบต่อความต้องการบริโภคน้ำตาลโลก ซึ่งหากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ก็จะส่งผลให้ความต้องการบริโภคน้ำตาลโลกเติบโตต่ำกว่าที่คาด ซึ่งจะส่งผลให้ราคาส่งออกน้ำตาลลดลงมากกว่าที่คาด ในขณะที่ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศและปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ จะส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตอ้อยทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยหากบราซิลซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก เผชิญปัญหาภัยแล้งรุนแรงน้อยกว่าที่คาด ก็จะทำให้ราคาส่งออกน้ำตาลปรับตัวลดลงมากกว่าที่คาด ในขณะเดียวกัน หากไทยเผชิญกับความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศในช่วงเปิดหีบ (ธ.ค. 2024 – เม.ย. 2025) ก็อาจจะทำให้ผลผลิตน้ำตาลปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาด
ในระยะต่อไป อุตสาหกรรมน้ำตาลยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากนโยบายและมาตรการเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำกระแสความยั่งยืนและเทรนด์รักสุขภาพของผู้บริโภค โดยมาตรการต่าง ๆ เช่น มาตรการการค้าระหว่างประเทศ การเก็บภาษีคาร์บอน จะทำให้ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจน้ำตาลปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่เมกะเทรนด์ความยั่งยืน (Sustainability) จะทำให้ผู้บริโภคหรืออุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบมีแนวโน้มที่จะหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาลมากขึ้นในอนาคต ส่วนกระแสรักสุขภาพ จะส่งผลให้ผู้บริโภคที่ใส่ใจการรักษาสุขภาพ หันมาบริโภคสินค้าที่ปราศจากน้ำตาลมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการบริโภคน้ำตาลปรับตัวลดลง
Competitive landscape
โรงงานน้ำตาลจะเน้นการแข่งขันในด้านการจัดหาอ้อยเป็นหลัก โดยปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้การแข่งขันลดลง ผลผลิตน้ำตาลและผลพลอยได้สูงขึ้น ส่งผลดีต่อกำไรของผู้ประกอบการ
อุตสาหกรรมน้ำตาลไทยมีอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดในระดับสูง ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดกระจุกตัวอยู่กับผู้ประกอบการเพียงไม่กี่ราย อุตสาหกรรมน้ำตาลถูกควบคุมอย่างเข้มงวดจากภาครัฐ โดยผู้ที่จะสามารถดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายได้ จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้นโดยภาครัฐ เช่น จุดที่ตั้งโรงงานต้องห่างจากโรงงานน้ำตาลที่ได้รับใบอนุญาตไว้แล้วไม่น้อยกว่า 50 กิโลเมตร หรือต้องมีการเตรียมปริมาณอ้อยเข้าสู่โรงงานไม่น้อยกว่า 50% ของกำลังการผลิต ส่งผลให้การเข้ามาแข่งขันของผู้ประกอบการรายใหม่เป็นไปได้ยาก นอกจากนี้ การเข้ามาประกอบธุรกิจน้ำตาลในไทยของบุคคลต่างด้าวก็จะต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีและการนำเข้าน้ำตาลจะต้องได้รับการอนุมัติจากภาครัฐ ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยไม่ต้องเผชิญการแข่งขันทั้งจากผู้เล่นต่างชาติและผู้เล่นรายใหม่ โดยในปีการผลิต 2023/2024 มีโรงงานน้ำตาลเปิดหีบผลิตน้ำตาลจำนวน 57 โรงงาน (ปีการผลิต 2024/2025 จะมีโรงงานเปิดเพิ่มอีก 1 โรงงาน) โดยกว่า 75% ของโรงงานทั้งหมดหรือ 43 โรงงานอยู่ภายใต้การดำเนินงานของ 13 กลุ่มบริษัท ในขณะที่อีก 14 โรงงานเป็นโรงงานอิสระ ซึ่งในปีการผลิต 2023/2024 กลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ 5 อันดับแรกครองส่วนแบ่งตลาดปริมาณการผลิตน้ำตาลรวมกันสูงถึงราว 54% โดยกลุ่มมิตรผลมีส่วนแบ่งตลาดมากเป็นอันดับ 1 (23.9%) ตามมาด้วยกลุ่มไทยรุ่งเรือง (9.1%) โคราช (8.9%) ท่ามะกาหรือ KSL (6.4%) และไทยเอกลักษณ์หรือ KTIS (5.8%) ในขณะที่น้ำตาลครบุรี (KBS) และน้ำตาลบุรีรัมย์ (BRR) มีส่วนแบ่งตลาด 4.6% และ 3.1% ตามลำดับ
โรงงานน้ำตาลจะเน้นการแข่งขันในด้านการจัดหาวัตถุดิบอ้อยเป็นหลัก โดยปริมาณอ้อยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจะส่งผลให้การแข่งขันลดลง ผลผลิตน้ำตาลและผลพลอยได้สูงขึ้น ส่งผลดีต่อกำไรของผู้ประกอบการในปี 2025 ในปัจจุบันอุตสาหกรรมน้ำตาลมีกำลังการผลิตมากกว่าปริมาณอ้อยในประเทศ ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องแข่งขันกันจัดหาอ้อยมาป้อนโรงงานให้ได้มากที่สุด เพื่อลดต้นทุนในการผลิตต่อหน่วยลง โดยความรุนแรงในการจัดหาอ้อยจะขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิตอ้อยในแต่ละปี ซึ่งในปีการผลิตที่ผ่านมาปริมาณอ้อยปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือ ส่งผลให้การแข่งขันมีความรุนแรง ซึ่งหนึ่งในแนวทางที่ผู้ประกอบการใช้ในการจัดหาอ้อย (นอกจากการทำสัญญาซื้อขายอ้อยล่วงหน้ากับชาวไร่อ้อย) คือ การให้ราคารับซื้ออ้อยที่สูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้นที่ถูกกำหนด โดยแนวทางดังกล่าวประกอบกับผลผลิตน้ำตาลและผลพลอยได้ที่ลดลง จะมีส่วนทำให้กำไรของโรงงานน้ำตาลปรับตัวลดลง ซึ่งจากข้อมูลของผู้ประกอบการธุรกิจน้ำตาลในตลาดหลักทรัพย์(ตารางที่ 1) พบว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ กำไรสุทธิและอัตรากำไรสุทธิของผู้ประกอบการลดลง 19.1%YOY และ 0.8 percentage points ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ผลผลิตอ้อยที่จะเพิ่มขึ้นในปีการผลิต 2024/2025 จะทำให้การแข่งขันลดลง ผลผลิตน้ำตาลและผลพลอยได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อกำไรของผู้ประกอบการ
ตารางที่ 1 : ภาพรวมผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน หมวดธุรกิจน้ำตาล
อนึ่ง ผู้เล่นในตลาดยังมีการแข่งขันในด้านอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแบรนด์ การยกระดับคุณภาพสินค้า การพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์การดูแลสุขภาพ เช่น น้ำตาลแคลอรีต่ำ และการมุ่งสู่ความยั่งยืน เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและงดรับซื้ออ้อยไฟไหม้ ดังนั้น กลุ่มบริษัทที่สามารถสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับเกษตรกร สร้างแบรนด์ มีประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลสูง มีคุณภาพสินค้าที่ดีและตอบโจทย์ผู้บริโภค และมีการดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล จะประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้
ภาคผนวก
ส่วนแบ่งตลาดประเทศผู้ส่งออกและนำเข้าน้ำตาล 5 อันดับแรกของโลกปี 2023
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ Trademap
ดร.เกียรติศักดิ์ คำสี นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : SCB วิเคราะห์ธุรกิจโลจิสติกส์เสี่ยงชะลอตัว