ไทยพาณิชย์หวั่นปีหน้าสงครามการค้ากระทบไทย
มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยเดือน พ.ย. 2024 อยู่ที่ 25,608.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 8.2%YOY (เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน) สูงกว่าคาดการณ์ (SCB EIC ประเมินไว้ 6.5%) หากไม่รวมทองคำจะยังขยายตัวได้ 6.4% ภาพรวมมูลค่าการส่งออกไทย 11 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 275,767 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 5.1% (ตัวเลขระบบศุลกากร)
ภาพรวมการส่งออกไทยเดือน พ.ย. ขยายตัวดีต่อเนื่อง แม้หดตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อนแบบปรับฤดูกาล -0.5%MOM_SA ผลจาก (1) อานิสงส์วัฏจักรขาขึ้นของสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยให้การส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ขยายตัวสูงสองหลักติดต่อกัน (สินค้ากลุ่มนี้มีส่วนทำให้มูลค่าการส่งออกเดือนนี้เพิ่มขึ้นมากถึง 2.5%) (2) ส่งออกทองคำขยายตัวสูง (ทองคำมีส่วนทำให้มูลค่าการส่งออกเดือนนี้เพิ่มขึ้น 2.2%) ผลจากราคาทองคำอยู่ในระดับสูง และความต้องการสะสมทองคำเพื่อรองรับจากความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น และ (3) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตบางชนิดเริ่มกลับมาขยายตัว เช่น รถยนต์และส่วนประกอบกลับมาขยายตัว 4.8% หลังหดตัวนาน 3-4 เดือนก่อน
ส่งออกเดือน พ.ย. ได้แรงขับเคลื่อนจากทุกหมวด ยกเว้นแร่และเชื้อเพลิง
หากพิจารณารายหมวด พบว่า (1) สินค้าอุตสาหกรรมเติบโต 9.5% ชะลอลงเทียบ 18.6% ในเดือนก่อน โดยเฉพาะทองคำยังไม่ขึ้นรูป เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เครื่องปรับอากาศ และผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่เหล็ก เครื่องยนต์สันดาป และอุปกรณ์
กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอดเป็นสินค้าหลักที่หดตัว (2) สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรขยายตัวต่อเนื่อง 7.7% ใกล้เคียงเดือนก่อน โดยอาหารสัตว์เลี้ยง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และเครื่องดื่ม ยังขยายตัวดี ขณะที่ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์และน้ำตาลทรายเป็นสินค้าสำคัญที่หดตัว (3) สินค้าเกษตรขยายตัวชะลอลงเหลือ 4.1% จาก 6.8% ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือนติดต่อกัน โดยเฉพาะผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง และยางพารา ขณะที่ข้าวและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเป็นสินค้าสำคัญที่หดตัว และ(4) สินค้าแร่และเชื้อเพลิงยังคงหดตัว -7.1% แม้จะหดตัวน้อยลงเทียบ -22.2%ในเดือนก่อน ตามการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปที่หดตัวถึง -16.3% (รูปที่ 1 และ 2)
ส่งออกไปจีนขยายตัวดี ขณะที่ตลาดส่งออกสำคัญส่วนมากชะลอตัว
หากพิจารณารายตลาดหลัก พบว่า (1) ตลาดจีน ขยายตัว 16.9% มากกว่าเดือนก่อนสองเท่า โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ,ผลิตภัณฑ์ยาง และเคมีภัณฑ์ ที่ขยายตัว 126.8%, 94.6% และ 59.9% ตามลำดับ(2) ตลาดสหรัฐฯ ชะลอลงเหลือ 9.5% จาก 25.3% ในเดือนก่อน โดยมีเพียง 12 ใน 15 สินค้าส่งออกสำคัญที่ยังขยายตัว (เทียบ 14 ใน 15 รายการที่ขยายตัวได้ในเดือนก่อน) โดยเฉพาะเครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบที่หดตัว -13.5% นับเป็นการหดตัวครั้งแรกภายในปีนี้ (3) ตลาดยุโรป ชะลอตัวลงเหลือ 11.2% จาก 27.3% ในเดือนก่อน นำโดยรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบที่พลิกกลับมาหดตัว -37.2% ขณะที่แผงวงจรไฟฟ้าหดตัวต่อเนื่องทั้งปี (4) ตลาดญี่ปุ่น พลิกกลับมาหดตัว -3.7% โดยกว่าครึ่ง 8 ใน 15 สินค้าส่งออกสำคัญไปตลาดญี่ปุ่นหดตัว (5) ตลาดสวิตเซอร์แลนด์ ชะลอตัวมากเหลือ 28.7% จาก 127.1% ในเดือนก่อน สาเหตุหลักจากการส่งออกทองคำเติบโตชะลอลง เหลือเพียง 63.1% จาก 164.4% และ (6) ตลาด CLMV ชะลอตัวลงเล็กน้อยเหลือ 21.0% จาก 27.9% เนื่องจากการส่งออกไปกัมพูชาชะลอลงบ้าง ขณะที่การส่งออกไปเวียดนาม เมียนมา และ สปป.ลาว ยังขยายตัวต่อเนื่อง
ดุลการค้ากลับมาขาดดุล หลังเกินดุลมา 3 เดือนติดต่อกัน
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไทยเดือน พ.ย. อยู่ที่ 25,832.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ชะลอตัวเหลือ 0.9% เทียบ 15.9% เดือนก่อน การนำเข้าไทยขยายตัวติดต่อกัน 6 เดือน โดยการนำเข้าอาวุธและยุทธปัจจัยกลับมาขยายตัว 16.1% จากที่หดตัวแรง -13.2% ในเดือนก่อน นอกจากนี้ สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป และสินค้าอุปโภคบริโภคยังคงขยายตัวต่อเนื่อง 14.0% และ 8.9% ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ยานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง สินค้าเชื้อเพลิง และสินค้าทุนหดตัว -25.3% -21.1% และ -1.5% ตามลำดับ ดุลการค้าระบบศุลกากรเดือน พ.ย. ขาดดุล -224.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาพรวม 11 เดือนแรกของปี 2024 ดุลการค้าไทยขาดดุล -6,269.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ตัวเลขระบบศุลกากร)
SCB EIC มองทั้งปี 2024 ส่งออกไทยอาจโตสูงเกิน 4% หากตัวเลขเดือน ธ.ค. ดีต่อเนื่อง
SCB EIC มองว่ามูลค่าการส่งออกไทยขยายตัวสูงต่อเนื่องช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งปี 2024 มีโอกาสขยายตัวสูงกว่า 4% แม้ที่ผ่านมาส่งออกไทยจะเผชิญอุปสรรคตั้งแต่ต้นปีจากเศรษฐกิจโลกที่คาดการณ์ว่าจะชะลอลงและอุปสรรคการขนส่งทางเรือในโลกหลายที่ แต่ส่งออกไทยกลับได้แรงหนุนจากหลายปัจจัยบวกที่ชัดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี เช่น เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว Soft landing ได้ การส่งออกทองคำสูงขึ้นมาก อานิสงส์วัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และอุปสงค์ต่างประเทศเริ่มเร่งตัวจากความกังวลประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่อาจเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มในปี 2025 ประกอบกับปัจจัยฐานต่ำในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2023 ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของไทย 11 เดือนขยายตัวมากถึง 5.2% จึงมีความเป็นไปได้สูงมากที่ตัวเลขการส่งออกของไทยทั้งปีอาจจะออกมาขยายตัวเกิน 4% สูงกว่าที่ SCB EIC และกระทรวงพาณิชย์ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ที่ 3.9% และ 4% ตามลำดับ
ส่งออกไทยปี 2025 อาจไม่ง่าย ผลกระทบสงครามการค้าจะเริ่มเห็นชัดขึ้นครึ่งหลังปี 2025
แม้ส่งออกดูจะขยายตัวดีในช่วงท้ายปี 2024 และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องไปช่วงต้นปี 2025 SCB EIC ประเมินว่าการส่งออกของไทยระยะต่อไปจะเริ่มเจอแรงกดดันจากนโยบายกีดกันการค้ามากขึ้น โดยเฉพาะช่วงครึ่งหลังของปี 2025 ที่มาตรการกีดกันการค้าประเทศต่าง ๆ นอกจากจีนจะเริ่มมีผลบังคับใช้ โดยประเมินว่าประเทศไทยเสี่ยงสูงที่จะเจอนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าจาก Trump 2.0 เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบผ่านช่องทางการค้าเป็นหลักสะท้อนจาก
1. สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับไทยมากขึ้นเทียบช่วงทรัมป์ 1.0 : แม้สหรัฐฯจะขาดดุลการค้ากับไทยมานานต่อเนื่อง แต่การขาดดุลยิ่งสูงขึ้นก้าวกระโดดนับตั้งแต่ปี 2021 โดยมูลค่าการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ
กับไทยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจาก -2.28 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปี 2017-2020 (Trump 1.0) เป็น -4.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2023 ซึ่งไทยจัดเป็นประเทศเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ อันดับ 12 จาก 99 ประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ ในปี 2023 (รูปที่ 4 ซ้าย)
2. หลายงานศึกษาประเมินว่า ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจาก Trump 2.0 มาก สะท้อนจาก Trump Risk Index สูง และอาจติดเกณฑ์ประเทศเข้าข่าย “Unfair Trade” กับสหรัฐฯ : จากผลศึกษาของ Information Technology and Innovation Foundation (ITIF) (รูปที่ 4 ขวา) พบว่าประเทศไทยมีคะแนน Trump Risk Index ติดอันดับ 2 ของโลก รองจากเม็กซิโก และเป็นอันดับ 1 ของเอเชียจาก 38 ประเทศพันธมิตรทั้งหมดของสหรัฐฯ สอดคล้องกับผลศึกษา Unfair Trade ของ Global Trade Alert (Nov 2024) ที่พบว่า ประเทศไทยจะติด 3 ใน 5 เกณฑ์ หากพิจารณาเกณฑ์เดียวกับที่ Trump 1.0 เคยใช้มาก่อน
โดยไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศคู่ค้าสหรัฐฯ ที่จะติดเกณฑ์นี้ (รูปที่ 4 ซ้าย)
3. สินค้าส่งออกสำคัญของไทยมีความเสี่ยงถูกตั้งกำแพงภาษีจากนโยบายTrump 2.0 : SCB EIC ประเมินว่ากว่า 70% ของสินค้าส่งออกหลักของไทยเป็นกลุ่มสินค้าที่สหรัฐฯ มีแนวโน้มตั้งเป้าลดการขาดดุลการค้ากับโลก และต้องการส่งเสริม Local supply chain อาทิ สินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักรและคอมพิวเตอร์ (รูปที่ 5 ขวา)
ทั้งนี้นโยบายจาก Trump 2.0 มีแนวโน้มจะกระทบภาคส่งออกไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม
1. ผลกระทบทางตรง (Direct impacts) : สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย (17% ของมูลค่าส่งออกไทยทั้งหมด) และไทยยังสร้างมูลค่าเพิ่มจากการส่งออกไปสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP ค่อนข้างสูง (รูปที่ 5 ซ้าย) ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อการส่งออกไทยโดยตรง จากนโยบายภาษีสินค้านำเข้า Trump 2.0 อย่างไรก็ดี ผลกระทบอาจจำกัดในบางกลุ่มสินค้า เนื่องจากสหรัฐฯ ยังจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าบางชนิดจากไทย เนื่องจากผลิตในประเทศไม่พอความต้องการ
2. ผลกระทบทางอ้อม (Indirect impacts) : ความต้องการสินค้าขั้นกลางที่ไทยส่งออกไปจีนเพื่อผลิตเป็นสินค้าขั้นปลายอาจชะลอตัว โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าขั้นปลายที่จีนส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ และปัญหาจีนผลิตล้นตลาด (China’s overcapacity) มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียน (รูปที่ 6 ขวา) จะกดดันความสามารถการแข่งขันของสินค้าไทยทั้งตลาดในและนอกประเทศ ส่งผลให้การส่งออกไทยเริ่มชะลอตัว ซ้ำเติมภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่ยังไม่ฟื้นตัว
ปี 2025 อาจไม่ง่ายสำหรับภาคส่งออกไทย จากแรงกดดันภายนอกประเทศที่ท้าทายขึ้น โดย SCB EIC ประเมินว่ามูลค่าส่งออกสินค้าไทยจะขยายตัวได้ราว2% (ตัวเลขระบบดุลการชำระเงิน) ลดลงกว่าครึ่งหนึ่งเทียบการเติบโตของการส่งออกในปี 2024 ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ภาครัฐจำเป็นต้องเตรียมแนวทางเจรจา/ต่อรองกับสหรัฐฯ เพื่อหาวิธีลดความเสี่ยงต่อนโยบายภาษีนำเข้า Trump 2.0 ในช่วงปี2025 โดยเฉพาะประเด็นการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ รวมถึงมาตรการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของภาคการผลิตและภาคส่งออกไทยตั้งแต่ก่อนสงครามการค้ารอบใหม่จะเริ่มมีผลชัดเจนขึ้น ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นช่วงครึ่งหลังของปี
รูปที่ 1 : มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทย รายสินค้าและรายตลาดสำคัญ
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์
รูปที่ 2 : มูลค่าการนำเข้าสินค้าของไทย รายสินค้าและรายตลาดสำคัญ
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์
รูปที่ 3 : คอมพิวเตอร์ฯ ทองคำ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นสินค้าขับเคลื่อนการส่งออกไทยที่สำคัญ
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์
รูปที่ 4 : ไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าจาก Trump 2.0
ที่มา : ที่มา: การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ Global Trade Alert (Nov24) “Attracting the Ire of the Next US Administration: A Red Flag Analysis based on recent policy & market outcomes” และ Information Technology and Innovation Foundation (Dec 2024) “Which US Allies Are Most Likely to Face Trump Tariffs—and How Can They Avoid the Wrath of an “America First” Doctrine?”
รูปที่ 5 : สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าไทยเพิ่มขึ้นมาก ส่วนใหญ่เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย
หมายเหตุ : (*) หากความต่างเป็นบวก หมายถึง การนำเข้าขยายตัวได้สูงกว่าอัตราการเติบโตของการผลิตในประเทศหรือหดตัวน้อยกว่าการหดตัวของการผลิตในประเทศ ขณะที่ความต่างที่ติดลบ หมายถึง การนำเข้าขยายตัวต่ำกว่าอัตราการเติบโตของการผลิตในประเทศหรือหดตัวต่ำกว่าการลดลงของปริมาณการผลิตในประเทศ (**) ระดับความเสี่ยงประเมินจากลำดับมูลค่าการขาดดุลของ US จากสินค้าทั้งหมด 97 ประเภท โดย US ขาดดุลมากถึง 75 ประเภทสินค้า และมูลค่าสินค้าที่ขาดดุลมากที่สุดอันดับ 1 คือ หมวดอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ สินค้าที่เสี่ยงสูง (สีแดงหรือส้มเข้ม) คือ สินค้า 8 อันดับแรกที่ US มีการขาดดุลการค้ามากที่สุด ณ ปี 2023 (Percentile ที่ 10) (***) สินค้าต้องจับตาเป็นพิเศษ เพราะเมื่อปี 2023 ได้ถูกสหรัฐกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมทุ่มตลาด โดยเฉพาะยางรถบรรทุกและรถบัส
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ Trademaps
รูปที่ 6 : ไทยมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากนโยบาย Trump 2.0 ทั้งทางตรงและทางอ้อม
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ Trademaps, Haver Analytics และ Goldman Sachs
บทวิเคราะห์โดย… https://www.scbeic.com/th/detail/product/trade-251224
ผู้เขียนบทวิเคราะห์
ภาวัต แสวงสัตย์ (pawat.sawaengsat@scb.co.th)นักเศรษฐศาสตร์
ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ (poonyawat.sreesing@scb.co.th) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
ณฐพงศ์ ตันติจิรานนท์ (nathapong.tuntichiranon@scb.co.th) นักเศรษฐศาสตร์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ไทยพาณิชย์ คาด กนง.ลดดอกเบี้ยลงอีกในปีนี้