SCB CIO ประเมินความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก แนะทยอยซื้อทองสะสม
SCB CIO ประเมินสงครามอิสราเอล-อิหร่านส่งผลกระทบวงจำกัด แนะรอจังหวะเข้าลงทุนตลาดหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดีช่วงปรับฐานพร้อมสะสมทองคำ
SCB CIO จับตา 3 ปัจจัยเสี่ยง ที่อาจกระทบการลงทุนหากเกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศ ทั้งสงครามจริง และสงครามทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ราคาพลังงาน ห่วงโซ่อุปทานของโลก และความเชื่อมั่นต่อการลงทุน โดย ณ ปัจจุบันความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน คาดว่าความรุนแรงจะอยู่ในวงจำกัด แม้ราคาน้ำมันจะปรับตัวขึ้น อยู่ในช่วง 80-90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ประเทศต่างๆ ยังพอจะรับมือกับความเสี่ยงของเงินเฟ้อได้ ซึ่งไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะช้าลงกว่าเดิม ด้านตลาดหุ้นทั่วโลกได้รับผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในระยะสั้นเท่านั้น จึงแนะนำให้ทยอยลงทุนในตลาดหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี เช่น ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ตลาดหุ้นเวียดนาม และกองทุนผสม (multi asset) ที่มีความยืดหยุ่น ผู้จัดการกองทุนปรับตามสถานการณ์ของตลาดได้ดี แนะนำเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในทองคำ จับจังหวะช่วงราคาปรับตัวลง แนะนำมีในพอร์ต 5-10% ตามความเสี่ยงที่รับได้ เพื่อกระจายความเสี่ยง ลดความผันผวนของพอร์ตลงทุน หากเกิดภาวะไม่ปกติขึ้นอีกในอนาคต
นายศรชัย สุเนต์ตา, CFA รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภาพรวมเหตุการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากข้อมูลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ความถี่ของเหตุการณ์สูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยมีทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ -จีน และ สงครามที่เกิดความรุนแรง ได้แก่ สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ,อิสราเอล-ฮามาส (ปาเลสไตน์) และล่าสุดอิสราเอล-อิหร่าน ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้เป็นหนึ่งในปัจจัยลบ ที่ทำให้นักลงทุนมีความกังวลเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ SCB CIO แนะนำให้ผู้ลงทุนจับตาว่า ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk ) จะมีผลกระทบต่อการลงทุนมากน้อยเพียงใด ผ่านปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา 3 ด้าน ได้แก่ 1) ผลกระทบจากราคาพลังงาน โดยเฉพาะความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ที่เป็นแหล่งผลิตน้ำมันและก๊าซหลักของโลก 2) ผลกระทบจากห่วงโซ่อุปทานของโลกหยุดชะงัก ซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจ และ 3) ผลกระทบต่อ Sentiment การลงทุนในตลาด โดยอาจพิจารณาได้จาก ความขัดแย้งจะรุนแรงและขยายวงหรือไม่ เนื่องจากสงครามทำให้เกิดต้นทุนทางเศรษฐกิจ หากมีความรุนแรง และยืดเยื้อ ก็จะสร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจประเทศต่างๆ รวมถึงเศรษฐกิจโลกได้ แต่ในกรณีที่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อ 3 ด้านนี้ ผลกระทบต่อตลาดการลงทุนก็อาจจะมีไม่มาก
ตัวอย่างเช่น กรณีศึกษาในอดีตจาก สงครามคูเวต ที่อิรักมีการบุกเข้ายึดครองคูเวตที่มีน้ำมันมหาศาล และมีการต่อสู้กับกองกำลังประเทศพันธมิตรตะวันตก ซึ่งอิรักตอบโต้กลับด้วยการระเบิดบ่อน้ำมันในคูเวต พร้อมเทน้ำมันจำนวนมหาศาลลงในอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ราคาน้ำมันมีการปรับขึ้นไปถึง 50% ส่งผลต่อ Sentiment ของตลาด จึงทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วง 3 เดือนหลังเกิดเหตุการณ์ ปรับตัวลดลงถ้วนหน้า โดยดัชนี MSCI World ตัวแทนดัชนีตลาดหุ้นโลก โดยเฉพาะตลาดพัฒนาแล้ว ปรับลดลง 9.69% ส่วนดัชนี MSCI EM ตัวแทนดัชนีตลาดหุ้นเกิดใหม่ ปรับลดลง 26.27% หรือกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กระทบราคาอาหาร เมล็ดพันธุ์พืช และพลังงานอย่างมาก เนื่องจากชาติตะวันตกคว่ำบาตรน้ำมันจากรัสเซีย ขณะที่ รัสเซียตอบโต้กลับโดยการปิดท่อส่งก๊าซ นอร์ต สตรีม 1 ไปยังสหภาพยุโรป โดยราคาน้ำมันปรับขึ้นไป 15% ซึ่งเหตุการณ์นี้มีผลกระทบต่อตลาดหุ้นโลกค่อนข้างสูง โดยพบว่า ดัชนี MSCI World ปรับลดลง 7.08% ส่วนดัชนี MSCI EM ปรับลดลง 11.71%
ขณะที่ สงครามรัสเซีย-ไครเมีย ที่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน ตลาดหุ้นก็ยังทำผลงานได้ตามปกติ หรือช่วงอิสราเอลโจมตีปาเลสไตน์ในเขตกาซา และไม่ขยายวงไปยังประเทศผู้ผลิตน้ำมันในตะวันออกกลาง ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันมากนัก ตลาดหุ้นยังสามารถเป็นบวกได้
สำหรับ สถานการณ์สงครามอิสราเอล-อิหร่าน ที่เกิดขึ้นล่าสุด ช่วงกลางเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา เรามองว่า ความขัดแย้ง ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่มีมานับตั้งแต่ปี 2522 แล้ว เพียงแต่ในอดีตเป็นการทำสงครามตัวแทน (Proxy war) ผ่านกลุ่มต่างๆ ที่อิหร่านสนับสนุน เช่น กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ (เลบานอน) กลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ ฮามาส (ฉนวนกาซา) และกลุ่มฮูตี (เยเมน) แต่ขณะนี้เริ่มกลายเป็นสงครามระหว่างกันโดยตรง (Direct war) ที่ความรุนแรงเริ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เราประเมินว่า ความเสียหายยังอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ได้เล็งเป้าหมายสำคัญทางยุทธศาสตร์ที่จะทำให้เกิดความเสียหายจำนวนมาก เพราะทราบดีว่า หากลุกลามบานปลายจะทำให้เกิดผลเสียทั้งคู่ อีกทั้งสหรัฐฯ ก็ไม่ได้สนับสนุนอิสราเอลในการทำสงครามกับอิหร่าน
ทั้งนี้ เราประเมินผลกระทบจากสงครามอิสราเอล-อิหร่าน เป็น 3 กรณี คือ 1) Baseline กรณีสงครามอยู่ในวงจำกัด ซึ่งปัจจุบันเรามองว่ายังอยู่ในกรณีนี้ จะทำให้ราคาน้ำมันปรับขึ้นบ้าง แต่ไม่ทะลุ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่อาจยืนอยู่ในระดับ 80-90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับที่ประเทศต่างๆ ยังรับมือกับเงินเฟ้อได้และทำให้ยังไม่มีความจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะช้าลงกว่าเดิม ตลาดหุ้นทั่วโลกอาจได้รับผลกระทบเชิง Sentiment ระยะสั้น ซึ่งที่ผ่านมาตลาดหุ้นทั่วโลกปรับฐานมาระยะหนึ่งแล้ว แต่เมื่อตลาดเริ่มคลายกังวล ปรับตัวได้ ก็จะกลับมาพิจารณาปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก จึงแนะนำให้ทยอยลงทุนในตลาดหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี เช่น ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ตลาดหุ้นเวียดนาม และกองทุนผสม (multi asset) ที่มีความยืดหยุ่น ผู้จัดการกองทุนปรับตามสถานการณ์ของตลาดได้ดี
2) Challenging กรณีสงครามยืดเยื้อ การสู้รบเป็นแบบเอาจริงเอาจังมากขึ้น มีการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานการผลิตพลังงานของแต่ละประเทศ โจมตีจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่มีประชากรอาศัยอยู่มาก จะส่งผลให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 100-120 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางอื่นๆ อาจจะยังไม่ปรับลดดอกเบี้ย ซึ่งกรณีนี้จะทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลก ไม่สามารถยืนอยู่ในระดับปัจจุบันได้ อาจปรับฐานมากขึ้น เนื่องจากนักลงทุนยังรับรู้ผลกระทบเป็นเพียงแค่กรณี Baseline จึงแนะนำให้หยุดลงทุนในหุ้นเพิ่มเติม พร้อมเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในทองคำ แต่เรามองว่า โอกาสเกิดกรณีนี้ยังมีไม่มากนัก
3) Extreme กรณีสงครามเกิดขึ้นจริง และ ขยายวงเป็นสงครามภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่มีความรุนแรงมากขึ้น จะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันอย่างมาก เนื่องจากในภูมิภาคตะวันออกกลางมีผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกรวมตัวกันอยู่ หากห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงักมากยิ่งขึ้นก็จะยิ่งน่ากังวล โดยเฉพาะ หากอิหร่านปิดช่องแคบเฮอร์มุซ ซึ่งมีปริมาณน้ำมันไหลเวียนถึง 20% ของตลาดน้ำมันโลก ทำให้ผู้ผลิตน้ำมันที่อยู่รอบช่องแคบนี้ ส่งออกน้ำมันไม่ได้ หรือการผลิตทำได้น้อยลง ราคาน้ำมันอาจปรับขึ้นไปไกลมากกว่า 150 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากเดิมธนาคารกลางหลักๆ ของโลกอาจจะมีนโยบายลดดอกเบี้ย ก็อาจต้องเปลี่ยนมาเป็นปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ เนื่องจากเกิดผลกระทบต้นทุนราคาน้ำมันที่ส่งผลผ่านไปยังเงินเฟ้อนานกว่าที่ประเมินไว้ ซึ่งสถานการณ์นี้จะส่งผลกระทบการลงทุนมาก หากนักลงทุนมีกำไรจากการลงทุนในตลาดหุ้น แนะนำให้ขายเพื่อทำกำไร แล้วซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐ และทองคำ เนื่องจาก เงินดอลลาร์สหรัฐ เป็นสกุลเงินที่อยู่ในทุนสำรองทั่วโลก ดังนั้นค่าเงินก็อาจจะแข็งค่าขึ้นได้
ขณะที่ ทองคำ มีความน่าสนใจ เนื่องจาก เป็นสินทรัพย์ที่นักลงทุนมองว่าปลอดภัย (Safe Haven) เพราะสู้เงินเฟ้อได้ และสู้กับความเสี่ยงภาวะสงครามได้ ในช่วงที่สงครามรุนแรงมากขึ้น ประกอบกับ คนเริ่มมีความกังวลประเด็นหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่สูงเป็นประวัติการณ์ อีกทั้ง ประเทศหลักๆ ที่มีความขัดแย้งกับสหรัฐฯ ได้กระจายความเสี่ยง ลดการถือเงินดอลลาร์สหรัฐในทุนสำรอง แล้วหันไปถือทองคำมากขึ้น ทำให้ความต้องการซื้อทองคำเพิ่มขึ้น ดังนั้น ราคาทองคำจึงยังมีโอกาสปรับตัวได้อีกมาก ในระยะกลาง 1-2 ปีขึ้นไป เพียงแต่ในระยะสั้นราคาอาจปรับฐานได้ เพราะปรับขึ้นมารวดเร็ว จากความกังวลของสงคราม
นายศรชัย กล่าวว่า นักลงทุนควรให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยง ลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายยิ่งขึ้น มากกว่าการเน้นลงทุนในตลาดหุ้นเพียงอย่างเดียว โดยอาจจะลงทุนผ่านกองทุนรวมผสม ที่มีผู้จัดการกองทุนดูแลปรับพอร์ตลงทุนตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน หากยังมีสินทรัพย์ทางเลือก เช่น ทองคำ ในพอร์ตลงทุนอยู่น้อย อาจพิจารณาเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในทองคำ ในช่วงที่ราคาทองคำปรับลดลง โดยควรมีประมาณ 5-10% ของพอร์ตโดยรวม ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของแต่ละคนที่ยอมรับได้ การมีทองคำในพอร์ตลงทุน จะช่วยผ่อนคลายความผันผวนของพอร์ตลงทุนในช่วงที่มีเหตุการณ์ไม่ปกติได้ นอกจากนี้ ควรให้ความสำคัญเรื่องการลงทุนอย่างต่อเนื่อง (Stay Invested) สำหรับเป้าหมายการลงทุนระยะยาว มากกว่าการถือเงินสดเพื่อรอจับจังหวะเวลาเข้าลงทุนในตลาด (Market Timing) ซึ่งมีโอกาสพลาดได้มาก และการถือเงินสด ไม่สามารถสู้เงินเฟ้อได้