ประชาธิปัตย์ยุค “พี่น้อง 3 ช.” ย้อนยุค “ผู้จัดการรัฐบาล”

ศึกชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อกสั่นขวัญแขวน-พลิกไปพลิกมา สมศักดิ์ศรีพรรคเก่าแก่ 77 ปี สถาบันคู่บ้าน-คู่เมืองไทย

เสี่ยต่อ-เฉลิมชัย ศรีอ่อน ขึ้นทำเนียบหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 9 ด้วยคะแนนท่วมท้น 88.5 คะแนน ชนะคู่แข่งขันแบบไร้คู่ต่อกร แต่ไม่ขาวสะอาด-ตระบัดสัตย์ กลืนเลือดที่ลั่นวาจาไว้ว่าจะประกาศวางมือ ไม่รับตำแหน่งทางการเมือง แสดงความรับผิดชอบจากความพ่ายแพ้การเลือกตั้ง ได้สส.ต่ำกว่าเดิม
“อภิสิทธิ์” ไขก๊อกประชาธิปัตย์
การปิดห้อง-เคลียร์ใจกับ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” สองต่อสอง-ตัวต่อตัว 10 นาที หลังถูกนายชวน หลีกภัย ปูชณียบุคคลของพรรคเก่าแก่ เสนอชื่อเป็นแคนดิเดตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ข้อสรุปจากปากนายเฉลิมชัยว่า จะไม่เป็น “พรรคอะไหล่” และจะตั้งหลักเป็น “พรรคฝ่ายค้าน” โดยสมบูรณ์

ก่อนจะจบไม่สวยด้วยการที่อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 7 และอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ของพรรคประชาธิปัตย์ “ถอนตัว” จากการเป็นแคนดิเดตหัวหน้าพรรคอีกสมัย พร้อมกับข่าวช็อกทางการเมืองด้วยการ “ลาออก” จากการเป็นสมาชิกพรรค ยุติบทบาทอย่างเป็นทางการกับประชาธิปัตย์ 31 ปี
ส่วน มาดามเดียร์-วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมืองกรุงเทพมหานคร ไปไม่ถึงฝั่งฝัน สอบตกขั้นตอน “ยกเว้นคุณสมบัติ” เป็นสมาชิกพรรคติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี และเป็นหรือเคยเป็น สส.ในนามพรรค จนต้องประกาศ “เว้นวรรค” ทางการเมืองกับพรรคประชาธิปัตย์ กลับไปคิดทบทวนอนาคตบทบาทลูกพระแม่ธรณีบีบมวยผม
เบื้องหลังสกัด “มาดามเดียร์”

เบื้องหลัง “มาดามเดียร์” โดนสกัด-บล็อกโหวตไม่ให้ผ่านเข้ารอบไป “ชิงดำ” กับเสี่ยต่อ-เฉลิมชัย ถูกเปิดโปงออกมา หลังจากมี “แชทหลุด” ในไลน์กลุ่มประธานสาขาพรรคและตัวแทนสาขาพรรคที่เป็นโหวตเตอร์ ไม่ยกมืองดเว้นคุณสมบัติให้มาดามเดียและไม่ยกมือให้งดเว้นข้อบังคับพรรค 70:30
รูปโฉมคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ยุคใหม่ ที่มี เสี่ยต่อ-เฉลิมชัย เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ ล้างไพ่ขั้วอำนาจเก่า สลับมาเป็น “กลุ่มอำนาจใหม่” โดยมี นายกชาย-เดชอิศม์ ขาวทอง เป็นเลขาธิการพรรค และ ชัยชนะ เดชเดโช เป็นรองหัวหน้าพรรคคุมภาคใต้ และมี 21 สส. “กลุ่มเพื่อนเฉลิมชัย” ที่สนิทชิดเชื้อกันยึดหัวหาดได้สำเร็จ “จุดแข็ง” ของพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อ “ไม่มีใครเป็นเจ้าของ” จึงเป็น “จุดอ่อน” ให้ถูก “ยึดพรรค” ได้ง่าย
สวนทางกับกลุ่มของนายอภิสิทธิ์ ที่ทยอยโบกมือลา-ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ เช่น หมอตี๋-สาธิต ปิตุเตชะ อดีตรองหัวหน้าพรรคภาคกลาง-อดีต สส.ระยอง หลายสมัย และที่ขอ “พิจารณาตัวเอง” เช่น มาดามเดียร์ และ “สรรเพชญ บุญญามณี” สส.สงขลา ที่ยังอยู่-ยังไม่ลาออกก็ “ไม่มีที่ยืน” รวมถึง “ผู้อาวุโส” 3 อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งนายชวน นายบัญญัติ บรรทัดฐาน รวมถึงนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ไม่มีตำแหน่งแห่งที่ในคณะผู้บริหารของพรรคชุดปัจจุบัน
3 วันก่อน ก่อนยึดประชาธิปัตย์
ย้อนไทม์ไลน์ 3 วันก่อน “เฉลิมชัย” เถลิงบัลลังก์หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 9 วันที่ 7 ธ.ค. ที่ประชุม 21 สส.มีมติเอกฉันทน์ สนับสนุนนายเฉลิมชัยเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ต่อมาวันที่ 8 ธันวาคม นายเฉลิมชัยให้สัมภาษณ์ว่า จะขอกลับไปคิดก่อน 1 คืน ว่าจะตอบรับหรือไม่และจะให้คำตอบ
วันที่ 9 ธ.ค.-วันเลือกหัวหน้าพรรค นายเฉลิมชัยให้สัมภาษณ์หลังจากที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ว่า ตัดสินใจที่จะรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เมื่อคืนของวันที่ 8 ธ.ค.ช่วงเวลา 4 ทุ่ม สอดรับกับแกนนำกลุ่ม 21 สส. – สายตรงเฉลิมชัย จนถึงวันเลือกหัวหน้าพรรคก็ยัง 50:50 ว่านายเฉลิมชัยจะตอบรับหรือปฏิเสธ
ฉากหน้าของพรรคประชาธิปัตย์ 3 เดือนนับจากนี้ เฉลิมชัย ประกาศไม่เป็นพรรคอะไหล่-ทวงคืนสิ่งที่สูญเสียไปกลับมา โดยปักธงการทำหน้าที่พรรคฝ่ายค้าน ปักหมุดไว้ 12 ธ.ค. 2566 ทันทีที่เปิดประชุมสภาสมัยสามัญ แต่ด้วยจำนวน สส.ที่มีเพียง 21 ที่นั่ง ยุทธศาสตร์-ยุทธวิธีที่จะนำไปสู่เป้าหมายยังเป็นเครื่องหมายคำถาม
ประชาธิปัตย์ยุค “พี่น้อง3ช.”
มิหนำซ้ำยังถูกกังขา การได้มาซึ่งสถานะ “หัวหน้าพรรคคนใหม่” อย่างครบถ้วนตามกฎหมาย อาจเป็น “จุดเริ่มต้น” การของเปิดดีล-ตั้งโต๊ะเจรจาอย่างเป็นทางการ เพี่อต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีใน “ครม.เศรษฐา” ที่ยังว่าง อีก 2 เก้าอี้กับพรรคเพื่อไทย-นายใหญ่ ชั้น 14 โดยใช้โวหาร-วาทะกรรมทางการเมืองสาดใส่รัฐบาลรายวัน เข้าตำรา “รบไปเจรจา-ต่อรองไป” ย้อนยุคกลับไปเหมือนยุคที่พรรคประชาธิปัตย์มี “ผู้จัดการรัฐบาล” พร้อมที่จะทำทุกวิถีทาง เพียงเพื่อหวังผลลัพธ์ทางอำนาจและการเมือง
พรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้ยุค “พี่น้อง 3 ช.” เฉลิมชัย-นายกชาย-ชัยชนะ อาจจะกลับไปสู่ “บ้านใหญ่” ที่เป็น “หัวหน้ามุ้ง” มี สส.อยู่ในสังกัด ไว้ต่อรองตำแหน่งทางการเมือง ไม่มีดาวเด่น-ดาวสภา ที่เป็นดาวฤกษ์ในพรรคที่สามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้อย่างถูกหลักเศรษฐศาสตร์-กฎหมาย-การเมือง เหมือนประชาธิปัตย์ในยุคก่อนหน้านี้ที่สร้างชื่อติดข้างฝาพรรคประชาธิปัตย์