60 วัน เศรษฐา รวมศูนย์อำนาจ-ตำบลกระสุนตก
60 วันของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ผลงานยัง “ไม่ได้เนื้อได้หนัง” วนเวียนอยู่กับงานรูทีน-แก้ปัญหาปากท้อง โครงสร้างเศรษฐกิจไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถึงราก
ปรัชญาการทำงานของเศรษฐา ตั้งแต่ day one ที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรีคนที่30” คือ “อะไรทำได้ทำไปก่อน”หรือเรียกด้วยคำสวยหรูว่า “Quick-Win”
ผลงาน ควิก-วิน รูทีน 60 วันแรก
ไล่ตั้งแต่มาตรการลดค่าครองชีพ “ชั่วคราว” เช่น ลดค่าไฟฟ้า ลดราคาน้ำมันดีเซล-เบนซิน วิธีการได้แรงบันดาลใจมาจากรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ผ่านกลไกภาษีสรรพสามิตร กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและ กฟผ. แม้กระทั่งนโยบายรักษาเสถียรภาพข้าวที่ “ไปไม่สุด” เพราะเกรง “ซ้ำรอย” โครงการ “รับจำนำข้าว” ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ และ “ประกันรายได้” ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ รวมถึง “พักหนี้เกษตรกร” ที่ใช้เครื่องมือของ ธ.ก.ส.เป็น “ยาสามัญประจำบ้าน” ส่วนการกระตุ้นการท่องเที่ยว หลังจากเศรษฐาประกาศ “วีซ่าฟรี” นักท่องเที่ยวจีน ดูเหมือนจะ “ช็อต” ไม่ปัง หลังจากเกิดเหตุสะเทือนขวัญ “เด็กอายุ14” ควงปืนเข้าไปในย่านช็อปปิ้งชาวจีนอย่างห้างสยามพารากอน จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
ขณะที่การเดินสายเป็น “เซลล์แมน” ของเศรษฐาที่ “หมายมั่นปั้นมือ” ว่า การเดินทางไป “เปิดประเทศ” บนเวทีระดับโลก พบปะกับผู้นำประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา จีน รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย และซีอีโอบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่างเทสล่า จะดึงเม็ดเงินลงทุนมหาศาลมาสู่เขตเศรษฐกิของประเทศไทย โดยการป่าวประกาศโครงการแลนด์บริดจ์ ที่มีเป็นเมกะโปรเจ็กต์มูลค่าการลงทุนกว่า 1 ล้านล้าน แต่ก็ยังเป็นแผนที่ลอยอยู่บนอากาศ ไม่สามารถจับต้องได้ รวมถึงการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่ยังขาดจิ๊กซอว์ตัวสำคัญอย่างโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินที่ยังไม่เข้ารูปเข้ารอยยังแก้สัญญากันไม่สะเด็ดน้ำ
ดิจิทัลวอลเลต-ซอฟต์พาวเวอร์ ติดหล่ม
ตรงกันข้ามกับนโยบาย “Flagship”ของรัฐบาลเศรษฐา ที่นำโดยพรรคเพื่อไทยยัง “ติดหล่ม” อยู่ในช่วง “หัวเลี้ยวหัวต่อ” สุ่มเสี่ยงแท้งก่อนออกมาลืมตาดูโลก อย่าง “ดิจิทัลวอลเลต” จนทำให้รัฐนาวาเศรษฐาพังพาบทั้งองคาพยพ แม้แต่นโยบาย Soft Power ที่มี “อุ๊งอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยเป็น “หัวเรือใหญ่” ทว่านโยบายยังเหมือน “พายเรือวนอยู่ในอ่าง” หลงทิศ-ผิดทาง จนโดนกระแสดร่ามา “โหน” หนัง “สัปเหร่อ” หลังจากโกยรายได้ทะลุ 500 ล้าน
ยิ่งการแสดงท่าทีรัฐบาลเพื่อไทยก่อนกับหลังเลือกตั้งชนิด “หน้ามือเป็นหลังมือ” ทอดไมตรีต่อกองทัพ ทั้งการไม่แสดงความกล้าหาญทางการเมือง-ไม่ยุบกอ.รมน. การไม่ทุบโต๊ะล้มโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ การปฏิรูปกองทัพที่ใช้คำถนอมน้ำใจแม่ทัพนายกองว่าเป็นการ “พัฒนาร่วมกัน” แม้กระทั่งการยั้งมือ “ทุบหม้อข้าวหม้อแกง” กองทัพ นำทรัพย์สินที่อยู่ในเขตแดนทหารมาให้ประชาชนอย่างที่ดินของกรมธนารักษ์ก็ทำได้เพียง “ให้เช่า” เพียง 9,276 ไร่ รวมถึงการประนีประนอมกับ “มรดกคสช.” ที่ตกทอดมาจากรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ อย่าง สำนักงานขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือ ป.ย.ป. ที่ไม่รื้อ-ไม่โละ แต่เป็นเพียงปรับแต่งบทบาท-หางานให้ใหม่
ไม่มีมือไม้-ไม่มีทีมเศรษฐกิจ
จุดอ่อนของรัฐบาลที่เห็นได้ชัดเจนคือการไม่มีมือ-ไม่มีไม้ที่เป็น “ทีมเศรษฐกิจ” ตัวจริง-เสียงจริง คณะที่ปรึกษาที่ตั้งมาไม่มีบารมี ไม่เคยผ่านงานแก้วิกฤตเศรษฐกิจระดับชาติ ส่วนใหญ่ชักชวนกันมาจากความสัมพันธ์เก่าก่อน ทั้ง “เพื่อนซี้” ในที่ทำงานเก่าอย่างแสนสิริ เพื่อนร่วมวงการภาคเอกชนมานั่งในบอร์ดสำคัญที่ชี้เป็นชี้ตายทางเศรษฐกิจจนมีเครื่องหมายคำถามเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน-ทุจริตเชิงนโยบายที่เหลือก็เป็นคนที่เป็น “สายตรง” ของตระกูลชินวัตร ไม่มีความรู้และความสามารถเป็นที่ประจักษ์ มิหนำซ้ำยังแต่งตั้งคนที่มีบาดแผล-ชนักปักหลัง จากนโยบายรับจำนำข้าวที่เสียหายนับแสนล้าน หรือ คนที่ถือถุงขนมใบโต
ส่วนคนที่มีโปรไฟล์ดีก็ถูกเศรษฐา “ปิดปาก” กลางอากาศ ทั้งป้องและปรามให้ฟังจากปากของผู้นำรัฐบาลแต่เพียงผู้เดียว หลังออกไปพูดถึงนโยบายดิจิทัลวอลเลตบนเวทีสาธารณะ ล้ำเส้นไปถึงการทำงานของสื่อมวลชน จนต้องแก้เกมด้วยการ “สื่อสารทางเดียว” พูดทีเล่นทีจริงก่อนการแถลงข่าวใหญ่แจกเงินหมื่นบาท ไม่ให้นักข่าวจด-แจกข่าวอย่างเดียว และไม่เปิดโอกาสให้ถาม-ตอบ ก่อนจะเดินทางไปพบสื่อใหญ่ที่มีอิทธิพลทางความคิดของสังคม
ภาวะผู้นำถูกท้าทาย
ขณะที่ปัญหาเฉพาะหน้า-ไม่คาดฝันที่ทุกรัฐบาล-ทุกนายกรัฐมนตรีต้องเจอและหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างแรงงานไทยที่ติดอยู่ในเขตสงครามอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส และยังมีตัวประกันเป็นคนไทย เศรษฐาก็ได้รับบทเรียนทางทูตราคาแพง หลังจาก “ปากไว” ออกมาประณามกลุ่มฮามาส โดยไม่เข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง รวมทั้งความ “ใจร้อน” ของเศรษฐาที่มีภูมิหลังมาจากภาคธุรกิจ-ซีอีโอที่ต้องนั่งหัวโต๊ะ-ทุกโต๊ะ นำร่อง 4 จังหวัดท่องเที่ยว เปิดผับได้ถึงตี 4 ตั้งแต่ 15 ธันวาคม ทั้งที่กระทรวงมหาดไทยเสนอให้เปิดทั้ง 77 จังหวัด แต่เพรราะต้องใช้เวลานานในการรับฟังความคิดเห็นจากคนในพื้นที่ว่าเห็นด้วยหรือไม่ จนเกิดความเคลื่อนไหวคัดค้านและมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
ภาวะผู้นำของเศรษฐายังถูกท้าทาย-ล้อเลียน ไปถึงการจับผิดเรื่อง “สีถุงเท้า” หลากสีสัน จนถูกติเตียนเรื่องกาลเทศะ เลยเถิดไปถึงการหยิบยกเรื่องการ “ไหว้สวย” ที่สวนทางกับผลงานของรัฐบาล หรือถูกพรรคฝ่ายค้านว่าเป็น “หัวหน้าทัวร์ศูนย์เหรียญ” ล่าสุดก็ถูกย้อนว่า “กลืนน้ำลายตัวเอง” ด้วยคำว่า “ดีแต่กู้-กู้มาแจก” ไม่นับการออกมายืนแถลง “แจกเงินหมื่นบาท” ตามสคริปต์ทุกตัวอักษร ประหนึ่งถูกเขียนบทให้พูด แต่ถ้ามองลึกลงไปให้ถึงจิตวิญญาณคุณก็รู้ว่าใครอยู่เบื้องหลังข่าวใหญ่ที่เปรียบเป็น “นายกฯน้อย”
60 วันของเศรษฐาบนเก้าอี้นายกรัฐมนตรี สะท้อนให้เห็นการบริหารที่ยังจับต้นชนปลายไม่ถูก-รวมศูนย์อำนาจไว้ที่ตัวนายกรัฐมนตรีแต่เพียงผู้เดียวคนเดียว จนต้องแบกรับทุกปัญหา จนกลายเป็น “ตำบลกระสุนตก” ตั้งแต่ปัญหาวิกฤตระดับชาติ ไปจนถึงปัญหาโลกแตก