เขาชื่อ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ นักร้องเรียน พิธา ถือหุ้นไอทีวี
ปมถือหุ้นสื่อไอทีวีของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล งวดมาทุกขณะ ถึงฝั่งฝัน หรือ ตกเก้าอี้
นายเรืองไกรยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบคุณสมบัตินายพิธา ว่า มีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) หรือไม่ เนื่องจากมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) 42,000 หุ้น
เป็นใครไปไม่ได้ที่แสงสปอตไลต์ฉายจับ เขาคือ “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” นักร้องเรียนอาชีพ ที่จรยุทธ์อยู่หน่วยงานตรวจสอบ ทั้งป.ป.ช. กกต. ศาลภาษีอากร ศาลรัฐธรรมนูญ
นายเรืองไกร เป็น นักบัญชี นักกฎหมาย นักการเมือง นักร้อง หรือเป็นอะไรกันแน่
นายเรืองไกร จบการศึกษามัธยมศึกษาจากโรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม ปริญญาตรีบริหารธุรกิจ สาขาบัญชี มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาโทบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นายเรืองไกรเริ่มได้รับการจับจ้อง เมื่อศาลภาษีอากรกลาง ตัดสินคดีหมายเลขดำที่ 183/2549 ที่นายเรืองไกร ในฐานะนักธุรกิจ เป็นโจทย์ ยื่นฟ้องกรมสรรพากร กรณีความผิดเรื่องละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจสั่งคืนเงินภาษีจากการโอนหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ต่อมาคดีดังกล่าวกลายเป็น “บรรทัดฐาน” ในการเทียบเคียงกับการขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด ( มหาชน) ของ “ตระกูลชินวัตร”
นายเรืองไกรเคยเป็นที่ปรึกษาของคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ “คตส.” ผลผลิตจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)
นับแต่นั้นเป็นต้นมานายเรืองไกรกลายเป็นนักตรวจสอบสถานภาพของนักการเมือง ส.ว.- ส.ว. รัฐมนนตรี จนถึงขั้นทำให้ตกเก้าอี้นายกรัฐมนตรีมาแล้ว 2 คน
หลังรัฐประหาร 2549 นายเรืองไกร “แจ้งเกิด” จากเป็นหนึ่งใน “ส.ว.สรรหา” ในนาม “กลุ่ม 40 ส.ว.” ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยคุณสมบัติความเป็นนายกรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช
กรณีทำกับข้าวออกรายการ “ชิมไปบ่นไป” และ “ยกโขยงหกโมงเช้า” จนถูกต้องฉายาว่า “แจ็คผู้ฆ่ายักษ์”
ในช่วงเป็น ส.ว.นายเรืองไกรกับคณะ ส.ว.16 คน เปิดศึกสายเลือดกับ ส.ว.ด้วยกันเอง โดยได้ยื่นคำร้องต่อให้ประธานวุฒิสภาส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ว.สิ้นสุดลง
จากกรณีให้คำปรึกษาทางกฎหมาย เป็นการใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์คุณหญิงจารุวรรณ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินขณะนั้น ซึ่งคือ “เจ้านายเก่า” ของนายเรืองไกรเอง
แต่สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำของนายไพบูลย์ไม่เข้าข่ายให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลง ดังนั้น นายเรืองไกรกับนายไพบูลย์จึงเหมือน “ปลาคนละน้ำ” เงาไม่เหยียบตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
นายเรืองไกร ส.ว.สรรหาขณะนั้นยังทำหนังสือถึงประธาน ป.ป.ช. ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของคุณหญิงจารุวรรณ หลังพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
นายเรืองไกรยังเคยปรากฎตัวบนเวทีการชุมนุมทั้งของเสื้อเหลือง-เสื้อแดง
จากสภาสูง เรืองไกร เข้าใกล้ศูนย์กลางอำนาจมากขึ้น ยอมลงมาคลุกฝุ่นสภาล่าง เขาลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งแรก (ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ลำดับที่ 41 ) ในนามพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557
แต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เพราะไม่สามารถจัดการเลือกตั้งให้เสร็จภายในวันเดียว
หลังการปฏิวัติ 22 พฤษภาคม 2557 – ยุคคสช.นายเรืองไกร หนึ่งในทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย และเป็นผู้ยื่นต่อกรมสรรพกรให้ยุติการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากนายทักษิณจากการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ป ฯ 1.7 หมื่นล้านบาท เนื่องจากคดีหมดอายุความ
เลือกตั้งทั่วไปวันที่ 24 มีนาคม 2562 นายเรืองไกร ลงสมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ลำดับที่ 24 พรรคไทยรักษาชาติ แต่ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติ
เนื่องจากเสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดีเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
หลังการเลือกตั้งปี 2562 นายเรืองไกร เป็นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563
ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณปี 64 นายเรืองไกล ถูก “ถอดชื่อ” ออกจากกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปี 64
นายเรืองไกรจึงตัดสินใจส่ง “จดหมายเปิดผนึก” ลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทย พร้อมกับแฉ “คุณ ภ.” คือ ยกหูโทรศัพท์มาเคลียร์และให้ไปเป็นอนุกรรมธิการ หรือ เว้นวรรค ไปเป็นกมธ.ฯในปีหน้าแทน
อย่างไรก็ดี นายเรืองไกร มีชื่อเป็นอนุกรรมาธิการงบปี 64 โควต้าของพรรคเสรีรวมไทย และเป็นคนออกมาเปิดโปง ส.ส.รีดเงิน 5 ล้านบาทกับอธิบดีกรมน้ำบาดาลเพื่อแลกกับการยกมือโหวตงบประมาณ
ทว่าในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 65 นายเรืองไกรกลับมีชื่ออยู่ใน กมธ. วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 โควตาพรรคพลังประชารัฐ
เป็นทางแยกออกจากพรรคเพื่อไทย ขณะเดียวกันก็เป็นจุดเริ่มต้นของนายเรืองไกรในการสมัครเป็นสมาชิกพรรคและเป็นผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ลำดับที่ 22 พรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง
ระหว่างทางนายเรืองไกลใกล้ชิดผู้มีอำนาจในฝ่ายนิติบัญญัติ-ฝ่ายบริหารมากที่สุด จึงได้เปิดตำรา-งัดทุกกระบวนท่าตรวจสอบทั้งในพรรคฝ่ายค้าน-พรรคฝ่ายรัฐบาล
ไม่เว้นแม้กระทั่ง การตรวจสอบทรัพย์สินของ ผู้มีอำนาจแห่งยุค 3 ป. ต่อ ป.ป.ช. ทั้งพระเครื่องห้อยคอของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แหวนแม่-นาฬิกาเพื่อนของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และการไม่ยื่นรายการรถจักรยานหรูของพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา
พฤติกรรมทุกการกระทำ รายได้ทุกบาท-ทรัพย์สินทุกชิ้น ของผู้มีอำนาจ ไม่ว่าขั้วข้างไหน นายเรืองไกรพร้อมที่จะเข้าไปส่องสแกน-ยืนอยู่ตรงข้าม