‘ประยุทธ์’ ทิ้งทวนงบฯ67 เพิ่มงบแสนล้าน
ส่อง 10 กระทรวงได้รับงบประมาณสูงสุด
แม้ว่าจะมีการประกาศยุบสภาฯอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา และจะเข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไปซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) ได้กำหนดให้เป็นวันที่ 14 พ.ค.2566 แต่การจัดทำร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ในขั้นตอนที่ต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณารายละเอียดสามารถทำได้ตามกำหนดระยะเวลาคือสามารถผ่านความเห็นชอบจาก ครม.ได้ตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา ทำให้เบื้องต้นมีกรอบการจัดทำงบประมาณไว้พร้อมแล้ว แม้ว่าหลังเลือกตั้งรัฐบาลใหม่จะมีการทบทวนรายละเอียดของงบประมาณรายจ่ายปี 2567 โดยเป็นการจัดทำงบประมาณในช่วงการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลซึ่งรัฐบาลใหม่ก็จะมีการทบทวนปรับเปลี่ยน ก่อนนำร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ2567 เข้าสู่ที่ประชุมสภาฯคาดว่าจะประกาศใช้ได้ในช่วงต้นปี 2567
ตั้งงบฯเพิ่มจากปีก่อน 1.65 แสนล้าน
ทั้งนี้สาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.งบประมาณที่ได้ผ่านความเห็นชอบของ ครม.มีรายละเอียดที่สำคัญคือ มีวงเงินทั้งสิ้น 3.35 ล้านล้านบาท โดยเป็นการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล 5.93 แสนล้านบาท ในกรอบของการจัดทำงบประมาณแบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 2.63 ล้านล้านบาท คิดเป็น 78.6% รายจ่ายเพื่อการลงทุน 7.17 แสนล้านบาท คิดเป็น 21.4% ของงบประมาณทั้งหมด ส่วนรายจ่ายเพื่อจ่ายชำระหนี้คืนต้นเงินกู้ 1.17 แสนล้านบาท คิดเป็น 3.5% ของวงเงินงบประมาณทั้งหมด โดยสัดส่วนทั้งหมดเป็นไปตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการการคลังของรัฐฯที่ได้กำหนดเอาไว้
เฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่าในปีนี้กรอบงบประมาณที่มีการจัดสรรเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ประมาณ 1.65 แสนล้านบาท จากเดิมที่ได้รับกรอบวงเงินในการกำหนดงบประมาณการใช้จ่ายในปี 2566 ที่ได้รับวงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท
โดยในส่วนที่มีการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้กับบางกระทรวงและหน่วยงานเพิ่มขึ้นจากปี 2566 มากกว่า 10% นั้นเพื่อรองรับค่าใช้จ่าย และภารกิจที่เพิ่มขึ้นของหน่วยงานโดยมีการพิจารณาตามความเหมาะสมและได้รับความเห็นชอบจาก ครม.แล้ว
แจงจัดสรรงบประมาณเพิ่มตามภารกิจ
โดยการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นให้กับกระทรวง และหน่วยงานรวมทั้งการปรับขึ้นค่าตอบแทนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นั้นเนื่องจากมาจากในส่วนของกรอบงบประมาณในปี 2567 เพิ่มขึ้น ซึ่งในส่วนนี้ทำให้สามารถจัดสรรงบประมาณเพิ่มในส่วนต่างๆที่มีความจำเป็นเพิ่ม โดยในส่วนแรกการปรับเพิ่มค่าตอบแทนของ อสม. และ อสส.ที่เพิ่มขึ้นปีละ 1.3 หมื่นล้านบาท รวมกับค่าตอบแทนของกำนัน – ผู้ใหญ่บ้าน และ อบต.รวมวงเงินงบประมาณที่เพิ่มขึ้นต่อปีอีกประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาทได้มีการจัดสรรไว้ในการจัดทำ พ.ร.บ.รายจ่ายงบประมาณปี 2567 ด้วย
สำหรับกระทรวงอื่นๆที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มในระดับ 10% หรือมากกว่า 10% เนื่องจากมีภารกิจและรายจ่ายเพิ่มเติมจากปีงบประมาณที่ผ่านมา เช่น กระทรวงการคลังได้รับการจัดสรรงบประมาณ 3.13 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 10.05% จากปี 2566 ที่ได้รับการจัดสรร 2.85 แสนล้านบาท เนื่องจากมีภาระการตั้งงบประมาณเบิกจ่ายการชำระหนี้ภาครัฐเพิ่มขึ้นประมาณ 1.2 แสนล้านบาท และมีภาระที่จะต้องจ่ายค่าเบิกจ่ายการรักษาพยาบาลของข้าราชการเพิ่มเติมในส่วนที่เกินกว่างบประมาณปี 2566 ได้ตั้งไว้เป็นวงเงินประมาณ 3.37 หมื่นล้านบาท
ส่วนกระทรวงแรงงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณในปี 2567 วงเงินประมาณ 6.18 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.83% จากปี 2566 ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 5.43 หมื่นล้านบาท เนื่องจากรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณในการคืนเงินที่รัฐบาลค้างอยู่กับสำนักงานประกันสังคมซึ่งรัฐบาลต้องจ่ายสมทบให้กับผู้ประกันตนซึ่งในอดีตมีบางรัฐบาลที่ไม่ได้จ่ายตามปกติซึ่งส่วนนี้รัฐบาลได้มีการจัดงบประมาณในการทยอยจ่ายให้กับสำนักงานประกันสังคมด้วย
เช่นเดียวสำนักนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการจัดงบประมาณในปี 2567 วงเงิน 3.54 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.06% จากปี 2566 ที่ได้รับการจัดสรร 3.21 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีภารกิจและกำลังคนที่จะปฏิบัติงานในส่วนที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณที่ผ่านมา
ทั้งนี้ภารกิจในงบประมาณปี 2567 ที่รัฐบาลจัดสรรเงินให้เพิ่มมีดังนี้
1.การปรับเพิ่มเงินให้กับการขึ้นเงินเดือนกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น 4,733.3 ล้านบาท
2.การปรับขึ้นค่าตอบแทน อสม. และ อสส. ใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น 13,353 ล้านบาท
3.เพิ่มเงินสำหรับกองทุนที่เป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น 14,506 ล้านบาท
4.เพิ่มเบี้ยเด็กเลิกเกิด ใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น 210 ล้านบาท
5.การเพิ่มเบี้ยผู้พิการ 3.3 ล้านคน ใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น 2.91 พันล้านบาท
6.เพิ่มงบประมาณสำหรับการสนับสนุนการเรียนฟรี 15 ปี รวม 10.7 ล้านคน ใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น 3006.6 ล้านบาท
7. การเพิ่มเบี้ยสูงอายุ 11.5 ล้านบาท วงเงิน 3,907 ล้านบาท
และ 8.เพิ่มอาหารเสริม (นม) ให้กับเด็ก 1.08 ล้านคน ใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น 31,802 ล้านบาท เพิ่มงบฯลงท้องถิ่นแตะ 29%
ขณะเดียวกันการวางกรอบงบประมาณในปี 2567 ในปี 2567 ได้เพิ่มการจัดสรรงบประมาณให้กับท้องถิ่นตามหลักการกระจายอำนาจ โดยองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศได้รับงบประมาณ 8.01 แสนล้านบาท คิดเป็น 29.06% ของรายได้สุทธิของรัฐบาล จากเป้าหมายที่มีการกำหนดไว้ที่ประมาณ 30% โดยเป็นรายได้ที่ท้องถิ่นจัดเก็บเอง 4.63 แสนล้านบาท และเป็นรายได้ที่รัฐบาลอุดหนุนประมาณ 3.37 แสนล้านบาท
สำหรับหน่วยงาน และกระทรวงฯต่างๆที่ได้งบประมาณมากที่สุดในการจัดทำงบประมาณ 2567 ที่สามารถจัดลำดับได้ 10 กระทรวงมีดังต่อไปนี้
1.กระทรวงมหาดไทย ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 351,985.3 ล้านบาท
2.กระทรวงศึกษาธิการ ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 330,512 ล้านบาท
3.กระทรวงการคลัง ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 313,822 ล้านบาท
4.กระทรวงกลาโหม ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 198,562.9 ล้านบาท
5.กระทรวงคมนาคม ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 183,950 ล้านบาท
6.กระทรวงสาธารณสุข ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 170,369.2 ล้านบาท
7.กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 127,669.8 ล้านบาท
8.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 117,142.9 ล้านบาท
9.กระทรวงแรงงาน ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 61,841.1 ล้านบาท
และ 10.สำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 35,423.3 ล้านบาท
10 กระทรวงได้รับงบประมาณเพิ่มมากที่สุดเมื่อเทียบกับปีก่อน
ทั้งนี้หากจัดลำดับกระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณมากที่สุดเมื่อเทียบกับปีก่อนโดยเรียงตามลำดับวงเงินที่ได้รับจัดสรร 10 กระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นมากที่สุดตามร่างพ.ร.บ.งบประมาณ 2567 ดังนี้
1.กระทรวงการคลัง ได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้น 2.86 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อน 10.05%
2.กระทรวงมหาดไทย ได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น 2.67 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อน 8.22%
3.กระทรวงสาธารณสุข ได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้น 1.81 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อน 5.87%
4.กระทรวงแรงงาน ได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น 7.51 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อน 13.83%
5.กระทรวงกลาโหมได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้น 4.06 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อน 2.09%
6.กระทรวงคมนาคมได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้น 3.63 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อน 2.02%
7.สำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้น 3.23 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อน 10.06%
8.กระทรวงศึกษาธิการได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้น 3.13 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อน 0.96%
9.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้น 3.11 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อน 2.5%
และ 10.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้น 1.85 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อน 27.32%
10 กระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณน้อยที่สุดในปีงบฯ67
สำหรับกระทรวงที่ได้รับการจัดสรรน้อยที่สุดในปีงบประมาณ 2567 10 อันดับเรียงตามกระทรวงที่ได้งบน้อยไปถึงกระทรวงที่ได้จัดสรรน้อยที่สุด ได้แก่
1.กระทรวงพลังงาน ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 3,026.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 326.7ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 12.1%
2.กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 4,645 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 173.1ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.87%
3.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 5,764.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 469.2 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 8.86%
4.กระทรวงพาณิชย์ ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 6,680.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น237.6 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.69%
5.กระทรวงวัฒนธรรม ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 7,004.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 269.6ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4%
6.กระทรวงการต่างประเทศ ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 7,555.9 ล้านบาท ลดลง 0.6 ล้านบาท หรือลดลง 0.01%
7.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 8,639.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1853.7 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 27.3%
8.กระทรวงวัฒนธรรม ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 7,004.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 269.6ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4%
9.กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 25,261 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 244.5 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.62%
และ10.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 31,977.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,523.5 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5%
โดยขั้นตอนจากนี้หลังจากที่มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้วสำนักงบประมาณจะนำเสนอปฏิทินการจัดทำงบประมาณให้กับ ครม.พิจารณารับทราบ เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการจัดทำร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร และกรรมาธิการวาระที่ 1 – 3 ตามขั้นตอนซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 4- 6 เดือน โดยคาดว่า พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 จะสามารถประกาศใช้ได้ในช่วงต้นปี 2567 ใกล้เคียงกับในปี 2562 ที่มีการเลือกตั้งเช่นกัน