เทียบนโยบายเปลี่ยน ส.ป.ก.เป็น โฉนดทองคำ 4 พรรค
การเปลี่ยนที่ดิน ส.ป.ก.เป็นโฉนด ไม่ใช่เรื่องใหม่ของพรรคการเมืองที่งัดออกมาหาเสียงกับความยากจนในการเลือกตั้ง 66
การเลือกตั้ง 62 พรรคพลังประชารัฐ เสนอนโยบายเปลี่ยนที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 จำนวน 34 ล้านไร่ เป็น ส.ป.ก. 4.0 หรือ “โฉนดทองคำ” โดยมี “สุชาติ ตันเจริญ” อดีตแกนนำกลุ่มบ้านริมน้ำ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐในขณะนั้น เป็น “หัวขบวน”
โดยเปลี่ยนจากใบเอกสารสิทธิ์ เป็น “ใบสลักสิทธิ์” สามารถซื้อ-ขาย เช่า-โอน “เปลี่ยนมือ” ให้แก่บุคคลอื่นได้ ไม่เฉพาะให้กับทายาทเกษตรกร
ทว่าแนวคิดของนายสุชาติ ที่ถูกชงโดย “ทีมนโยบายพลังประชารัฐ” ที่มีกลุ่มสี่กุมารเป็นแกน ถูก “ตีตก”หลังจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่สวมหมวกหัวหน้าคณะรัฐประหารกังวลกระแสสังคมตีกลับ เอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน
และขณะนั้นนโยบายสานพลังประชารัฐที่ขับเคลื่อนด้วยรัฐ-ประชาชน-เอกชน กำลังขับเคลื่อน
ในยุครัฐบาลเลือกตั้ง ช่วงที่มี “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” แกนนำคนสำคัญของพรรคพลังประชารัฐ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ “ฟื้นคืนชีพ” โฉนดทองคำ แต่เป็นเวอร์ชั่นอ่อนกว่า
ร.อ.ธรรมนัส ลงนามในคำสั่งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (คปก.) เพื่ออนุญาตให้ใช้ที่ดิน ส.ป.ก.เพื่อ “กิจการที่เป็นการสนับสนุนการปฏิรูปที่ดินอื่น” เช่น โรงงานแปรรูปสินค้าเกษตร ไม่เกิน 50 ไร่
ด้วยภาพจำในอดีตของร.อ.ธรรมนัสประกอบกันแต่ก็ถูกกระแสสังคมวิพากษ์-วิจารณ์อย่างหนักว่า “เอื้อนายทุน” ทำให้คำสั่งดั่งกล่าวเงียบหายไป
การเลือกตั้ง 66 พรรคพลังประชารัฐ โดยการนำของ บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ลั่นวาจา ว่า “เราจะทำให้ประชาชน 20 ล้านคนหายจน” โดยมีนโยบาย “เปลี่ยนที่ดิน ส.ป.ก.เป็นโฉนด” เป็นองค์ประกอบหลัก-อีกครั้ง
รวมถึงการผลักดันที่ดินคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ให้เป็นที่ดิน ส.ป.ก.
โดยการเปลี่ยน ส.ป.ก.เป็นโฉนด ให้สำนักงาน ส.ป.ก. นำที่ดิน ส.ป.ก.ไปยื่นขอหนังสือแสดงสิทธิที่ดินกับกรมที่ดิน และโอนให้กับเกษตรกรโดยไม่ต้องเช่าซื้อ กำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี
ส่วนการเปลี่ยนที่ดิน คทช. เป็น ที่ดิน ส.ป.ก. แก้กฎหมาย-กฎกระทรวง ให้สำนักงาน ส.ป.ก.-หน่วยงานเกี่ยวข้องพัฒนาแหล่งน้ำ-ถนน ปรับปรุงคุณภาพดิน พัฒนาอาชีพ จัดหาแหล่งเงินทุน โดยใช้เงินกองทุน ส.ป.ก. อนาคตที่ดิน ส.ป.ก.เป็นโฉนด ต่อไป
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ก็มีนโยบายที่ 6 ออกโฉนดที่ดิน 1 ล้านแปลง ภายใน 4 ปี ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาของพี่น้องที่ไม่มีที่ดินทำกิน อยู่ในที่รกร้างว่างเปล่า
สำหรับพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานกำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางของพรรค-ว่าที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค และยังนั่งหัวโต๊ะคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.)
มีนโยบายปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ หรือที่เรียกว่า “One map” เพื่อแก้ปัญหาที่ดินทับซ้อนยืดเยื้อ โดยเริ่มจาก 11 จังหวัดภาคกลาง และจะดำเนินการให้เสร็จภายใน 1 ปี
แก้กฎหมายเกี่ยวกับที่ดินทั้งหลาย เพื่อให้ประชาชนที่ไม่มีเอกสารสิทธิ หรือมีที่ดินทับซ้อนกับที่ดินของรัฐ ได้มีสิทธิครอบครอง มีสิทธิทำกิน
แม้จะไม่โจ๋งครึ่มเหมือนพรรคพลังประชารัฐ แต่แนบเนียน
ที่ผ่านมาภายใต้รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารคสช.และรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้ารัฐบาลจัดสรรที่ดินทำกินให้ชุมชน 9 ปีงบประมาณ (58-66) ที่ดิน 9 ประเภท 71 จังหวัด เนื้อที่ 5,888,734 ไร่ 500,000 ราย
พรรคการเมืองล่าสุด คือ พรรคก้าวไกล ที่มีรากเหง้าจากพรรคธนาธร-ปิยบุตร หรือ พรรคอนาคตใหม่เดิม ที่เป็น 1 ใน 4 เสาของนโยบายกระจายที่ดินของพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้ง 66
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงให้กับพรรคก้าวไกล ชูนโยบาย“คืนที่ดิน ให้ประชาชน 10 ล้านไร่ เปลี่ยน ส.ป.ก.นายทุน เป็นโฉนดให้เกษตรกร”เรียกเสียงฮือฮา เพราะย้อนแย้งกับภาพลักษณ์ “เอ็นจีโอตัวพ่อ”
อย่างไรก็ตามพรรคก้าวไกลคิดหลายชั้น-รัดกุม ไม่ให้หอกนายทุนย้อนกลับมาทิ่มแทงในอนาคตถึง 5ล็อก ป้องกันไม่ให้หลุดไปอยู่ในมือนายทุน
ล็อกแรก เกษตรกรผู้ครอบครองที่ดินส.ป.ก.กับชื่อต้องตรงกัน-ตรงกับวัตถุประสงค์กับที่ใช้ประโยชน์อยู่ ล็อกสอง ห้ามเกิน 50 ไร่ ล็อกสาม ที่ผ่านมาต้องทำเกษตรกรรมจริง
ล็อกที่สี่ 5 ปีแรกไม่สามารถขายได้ หากขายต้องขายให้กับธนาคารที่ดิน และล็อกที่ห้า ตรวจสอบทรัพย์สินย้อนหลังต้องมีไม่เกิน 10 ล้านบาทก่อนเปลี่ยนส.ป.ก.เป็นโฉนด ทั้งนี้ หากถือครองที่ดินครบ 10ปี ได้รับการจัดสรร
ที่ดินส.ป.ก. 10 ล้านไร่ ที่พรรคก้าวไกลจะ “ทวงคืน” คือ ที่ดินที่ตกอยู่ในมือ “นายทุน” โดยเฉพาะในภาคใต้ จากที่ดิน ส.ป.ก.ทั้งหมด 40 ล้านไร่
นอกจากทวงคืนที่ดินที่ตกอยู่ในมือนายทุน 10 ล้านไร่แล้ว พรรคก้าวไกลจะจัดสรรที่ดินป่าเสื่อมโทรม 5 ล้านไร่ ซึ่งเป็นที่ดินส.ป.ก.แล้วและอยู่ระหว่างจัดสรร รวมถึงตรวจสอบที่ดิน ส.ป.ก.ที่อยู่กับประชาชนอยู่แล้วในปัจจุบันว่าใครเป็น “เกษตรกรเก๊”
ที่ดิน ส.ป.ก.หลังเป็นโฉนดแล้ว หากต้องการขายก่อนระยะเวลา 5 ปี ต้องขายให้ธนาคารที่ดินเท่านั้น แต่โจทย์ที่พรรคก้าวไกลต้องตอบ คือ หลังจาก 5 ปี สามารถจำนองธนาคารพาณิชย์ได้ แม้แต่ขายให้กับนายทุนก็ยังได้
เป็นการยืดเวลาให้ที่ดิน ส.ป.ก.ถึงมือนายทุนช้าไป 5 ปีเท่านั้นเองหรือไม่
ต้องอย่าลืมว่าในอดีตจนถึงปัจจุบัน ที่ดิน ส.ป.ก. กลายเป็น “ที่ดินต้องห้าม” ที่ทำให้นักการเมือง-บ้านใหญ่ แม่เลี้ยง-นายหัว ต้องตกจากเก้าอี้รัฐมนตรี แม้กระทั่งยุบสภาหนีก็มีให้เห็นมาแล้ว
ยกตัวอย่างเช่น กรณีคลาสสิคระดับตำนานการเมือง อย่างนโยบายเร่งรัดการปฏิรูปที่ดิน-ออกเอกสารสิทธิให้กับคนจนปีละ 4 ล้านไร่ ของรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ที่มี “สุเทพ เทือกสุบรรณ” เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้น
การตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบพบว่าการออกเอกสารสิทธิ “สปก.4-01” ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ปรากฏชื่อเศรษฐี-นักการเมืองดังรวมอยู่ด้วย
พรรคฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจนายสุเทพฐานะรับผิดชอบโดยตรง – “นิพนธ์ พร้อมพันธุ์” รัฐมนตรีว่าการ แต่ได้ชิงลาออกก่อน ก่อนที่นายชวนจะประกาศยุบสภาในเวลาต่อมาก่อนลงมติเพียง 1 ชั่วโมง หลังจากพรรคร่วมรัฐบาลกดดัน-งดออกเสียง
ปัจจุบันที่เห็นกันครั้งล่าสุด กรณี “กนกวรรณ วิลาวัลย์” รัฐมนตรีช่วยว่าการศึกษาธิการที่ต้องกระเด็นตกจากเก้าอี้รัฐมนตรี ภายหลังจากศาลฎีกาตัดสินในคดีออกโฉนดรุกอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
นางกนกวรรณ ต้องผจญกับวิบากกรรมถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี -เพิกถอนสิทธิรับเลือกตั้ง-ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิต
หรือกรณีถือครองที่ดินในเขตปฏิรูปของ “ปารีณา ไกรคุปต์” อดีต ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้พ้นจากตำแหน่ง ส.ส.เนื่องจากฝ่าฝืน ตัดสิทธิ์เลือกตั้ง 10 ปี -เพิกถอนสิทธิรับเลือกตั้ง-ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิต